ไผ่
ไผ่ พันธุ์ไม้ที่มีประโยชน์มากมายมาแต่โบราณ จากการใช้ประโยชน์ในครัวเรือน จนกระทั่งได้รับการพัฒนามาใช้ในการปศุสัตว์ ใช้เลี้ยงสัตว์ได้ผลเป็นอย่างดีในยุคนี้ เด็กๆ รุ่นใหม่ในสังคมเมือง อาจจะได้รู้จักต้นไผ่กันผิวเผิน ผู้เขียนขอนำเสนอข้อมูลเชิงลึกของไผ่เพิ่มขึ้น ว่ามีประโยชน์อะไรบ้าง? ในบทความนี้ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย มองไปทางไหนก็มักจะพบต้นไผ่ และต้นกล้วยปลูกตามเรือกสวน ไร่ คันนา และรั้วบ้าน แต่งแต้มสีเขียวให้ความสวยงาม และให้ประโยชน์ ไผ่มีหลากชนิดทั้งลำใหญ่และลำเล็ก แต่ละชนิดมีประโยชน์ใช้สอยหลากหลาย เป็นวัตถุดิบที่หาง่าย และต้นทุนต่ำในภาคอุตสาหกรรม ที่สำคัญคือ ไผ่ ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน
ประโยชน์ของไผ่
ด้านอาหาร
- เด็กๆ อาจจะงง ว่าต้นไผ่ลำเขียวๆ ที่พบเห็น รับประทานได้ด้วยหรือ? คนไทยนิยมรับประทานหน่อไผ่ หรือหน่อไม้กันทั่วทุกภาคค่ะ เมนูอร่อยของหน่อไม้ เช่น ซุปหน่อไม้ ผัดหน่อไม้ แกงเผ็ดใส่หน่อไม้ ต้มจืดหน่อไม้ใส่กระดูกหมูหรือน่องไก่ เป็นต้น ซึ่งจะใช้หน่อไม้สด หรือนำไปดองก่อนใช้ในการประกอบอาหารก็อร่อยไม่แพ้กัน
- นอกจากความอร่อยของหน่อไม้แล้ว ใบไผ่ก็เป็นเมนูแสนอร่อยของแพนด้าด้วยนะคะ ใช้ห่อขนมจ้าง ขนมบ๊ะจ่าง และทำชาใบไผ่
- ต้นไผ่ ใช้ทำกระบอก บรรจุข้าวหลาม ใช้ทำไม้เสียบอาหาร ใช้ทำตะเกียบคีบอาหาร และเมื่อรับประทานอาหารอร่อยแล้ว มีเศษอาหารติดฟัน ก็ต้องใช้ไม้จิ้มฟันที่ทำจากต้นไผ่อีกเช่นกันค่ะ
ด้านที่อยู่อาศัย
- บ้านตามวัฒนธรรมไทยในชนบท นิยมใช้วัสดุจากธรรมชาติ ได้แก่ ไม้ไผ่ ไม้ยืนต้นต่างๆ เช่น ไม้สัก ไม้แดง ไม้เต็ง แต่ไม้ไผ่นั้นหาง่าย ใช้เงินน้อย เมื่อนำมาสร้างบ้านเรือน เรียกว่า ‘เรือนเครื่องผูก’ เพื่อทำโครงบ้าน โครงหลังคา เสา คาน ประตู หน้าต่าง บันได รั้วพื้น ส่วนใหญ่ใช้ไผ่ชนิดเนื้อหนาซึ่งมีความคงทนต่อดินฟ้าอากาศ ทนแดด ทนฝน บ้านเรือนที่ใช้ไม้ไผ่เป็นองค์ประกอบจะให้ความเย็นสบาย เพราะอากาศถ่ายเทได้ดี
- เมื่อใช้สร้างบ้านเสร็จแล้ว ก็ใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องแต่งบ้าน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน แคร่นั่งพักผ่อนหรือรับแขก มู่ลี่บังแสง กรอบรูป สานเป็นเสื่อรองนั่ง เป็นต้น
ด้านชีวิตประจำวัน
- ใช้เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ตะเกียง โดยใช้ข้อปล้องบรรจุน้ำมัน วางไส้เทียนไว้ตรงกลาง จุดไฟให้แสงสว่างได้นาน
- ทำเครื่องจักสาน เช่น กล่องข้าว กระติบข้าว กระเชอ หวดนึ่งข้าว กระบุง ตะกร้า กระเป๋าถือสตรี กระจาด กระชอน หีบหรือกล่องไม้ใส่ของ แจกัน ถ้วย พัด โครงหมวก รองเท้าสาน
จักเป็นตอกใช้รัดมัดของ เช่น มัดข้าวต้มผัด มักกำดอกไม้ กำผัก เป็นต้น
ด้านการประกอบอาชีพ
- เครื่องมือประกอบอาชีพ เช่น เครื่องมือจับปลา จับสัตว์น้ำ ข้อง กระชัง ไซ ตุ้ม อีจู้ ลอบ สุ่ม เข่งปลาทู ใช้ปักหอย
- เครื่องมือก่อสร้าง กระบุง บุ้งกี้ คราด ครุ ไม้คาน
- เครื่องใช้ในการเพาะปลูก ค้างต้นไม้ ไม้ค้ำยันต้นไม้ เสาหลักสำหรับไม้เลื้อยเกาะ ไม้สอยผลไม้ พะองปีนต้นไม้ ไม้พาดข้ามท้องร่อง หรือค้ำยันเวลาเดินข้ามท้องร่อง ใช้เป็นไม้ค้ำถ่อเรือ
ด้านเกษตรกรรม
- ใช้ทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากผงไผ่ หรือใบไผ่
- ใช้ทำปุ๋ยหมัก จากใบไผ่
- ใช้ทำดินขุยไผ่ ช่วยป้องกันโรครากเน่า/โคนเน่าให้กับพืชชนิดต่างๆ
ด้านปศุสัตว์
- การใช้ผงไผ่หมักเป็นอาหารสัตว์เศรษฐกิจ
โดยเลือกใช้ต้นไผ่ที่มีอายุไม่เกิน 2 ปี ทำผงไผ่หมัก ผลิตโดยใช้เครื่องปั่นไผ่ผง ในการปั่นไผ่ให้เป็นผงขนาดไม่เกิน 500 ไมครอน บรรจุในถุงอลูมินั่มฟลอยด์เคลือบฟิล์มแบบสุญญากาศถุงละ 1 กิโลกรัม ในการจัดจำหน่าย
ข้อดีของการใช้ผงไผ่หมักเป็นอาหารสัตว์
- ไก่ไข่—เปลือกไข่หนาขึ้น ขนาดไข่ฟองใหญ่ขึ้น และไข่แดงมีสีแดงเข้มขึ้น
- ไก่เนื้อ—ลดปริมาณ ครอสตริเดียว เพอร์ฟริงเจนส์ และซาลโมเนลลา ซึ่งเป็นแบคทีเรียก่อโรคในไส้ติ่งไก่เนื้อลงอย่างเห็นได้ชัด ไก่มีสุขภาพดีขึ้นและเนื้อไก่มีรสชาติดีขึ้น
- สุกร—มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ให้จำนวนลูกสุกรเพิ่มขึ้น เนื่องจากจุลินทรีย์และกรดอินทรีย์ในผงไผ่หมักมีฤทธิ์การต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต่อต้านความเครียดต่างๆ ปริมาณไขมันลดลง กลิ่นมูลลดลง
*การใช้ผงไผ่หมักผสมในอาหารสัตว์กระเพาะเดี่ยว–ใช้เป็นอาหารเสริมประมาณ 1 ถึง 3 เปอร์เซ็นต์*
ด้านดนตรี
- เครื่องดนตรีในหลายเชื้อชาติโดยเฉพาะในเอเชียทำด้วย ไผ่ เช่น ขลุ่ยญี่ปุ่น ขลุ่ยจีน ขลุ่ยไทย อังกะลุงของอินโดนีเซีย แคนของภาคอีสานของไทย และเครื่องดนตรี ‘แบมบูลิน’ ซึ่งมีผู้ประดิษฐ์จากไม้ไผ่ ลักษณะคล้ายไวโอลิน (แบมบูลินนี้–เครื่องดนตรีที่ชนะการประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ที่สภาวิจัยแห่งชาติ)
ด้านการแพทย์แผนโบราณ
- รากและใบ นำไปตากแห้ง โดยเฉพาะส่วนยอดอ่อนปลายสุดของใบที่กำลังม้วนอยู่ ถ้ารับประทานสด จะมีรสหวาน แต่ถ้านำไปตากแห้งแล้วชงแบบชาดื่มทุกวันจะทำให้ร่างกายแข็งแรง รักษาโรคไต
- ชาวกัมพูชาเชื่อว่า น้ำมันจากลำต้นไผ่สามารถรักษาโรคหอบหืดได้ ส่วนที่เป็นหน่อรักษาโรคหนองใน โรคไต และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ชาวบ้านฟิลิปปินส์เชื่อว่า ไผ่เหลืองรักษาโรคดีซ่าน และรากไผ่รักษาโรคไต
***สิ่งที่ควรระวัง คือ ขนที่ติดมาตามกาบที่ห่อหุ้มลำต้นไผ่มีพิษให้เกิดอาการระคายเคือง***
ด้านความเชื่อ
- สำหรับเด็กแรกเกิด โดยเหลาไม้ไผ่และเกลาให้คม ใช้เป็นมีดตัดสายสะดือ
- สำหรับพิธีกรรมทางศาสนา ใช้ทำก้านธูป ทำดอกไม้ไฟ กระบอกพลุ ตะไล ไฟพะเนียง เป็นกระบองบรรจุน้ำมันเป็นตะเกียงตามไฟ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เจดีย์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เรียกว่า ตามประทีป ใช้สานเป็นโครงสร้างของโคมไฟห้อยบูชา
ด้านความงาม
- ประโยชน์ใช้ทำเครื่องประดับ เช่น กำไลข้อมือ ปิ่นปักผม
ด้านการสื่อสารในสมัยโบราณ
- ใช้กระบอกไม้ไผ่บรรจุพระราชสาสน์ สาสน์ และบรรจุม้วนแผ่นหนัง หรือม้วนกระดาษส่งข่าวถึงกัน
- ชาวจีนใช้ไม้ไผ่จารึกตัวอักษรคัมภีร์การยุทธ์ หรือตำราต่างๆ ด้วยต้นไผ่ที่มีอายุ ๓ ปีขึ้นไป และต้องตัดในฤดูกาลเหมาะสมขณะที่ไผ่หยุดเจริญเติบโต คือในฤดูร้อน หรือฤดูหนาว เมื่อตัดมาแล้ว ควรเก็บรักษาไว้ในที่แห้ง อากาศถ่ายเทได้เพื่อป้องกันเชื้อรา
ด้านอาวุธตั้งแต่สมัยโบราณ
- ใช้ไผ่เล็ก ทำขวาก โดยตัดปลายทแยงข้างหนึ่ง หรือเสี้ยมทุกด้านให้ปลายแหลม ใช้สำหรับต่อสู้แทงสกัดกั้นศัตรูหรือสัตว์ที่รุกล้ำเข้ามา นำขวากหรือไผ่ปลายแหลมไปปักไว้ในบ่อดักศัตรูหรือดักสัตว์
- ใช้ไม้ไผ่ชนิดเนื้อเหนียวมีแรงดีดคืนตัว ทำคันธนู คันยิงกระสุน ทำลูกธนู ลูกดอก
- ใช้ทำเป็นไม้ตะบด ไม้พลอง สำหรับการต่อสู้
ด้านการค้า
- จำหน่ายลำไผ่รวกเป็นท่อนๆ เพื่อใช้งาน เช่น การจักสาน การทำด้ามไม้กวาด
ด้านนวัตกรรมใหม่
- ถ่านกัมมันต์ จากการเผาไม้ไผ่ด้วยเตาเผาแบบญี่ปุ่น ถ่านกัมมันต์มีคุณสมบัติดูดซับสารพิษ และสามารถนำมาแช่ในน้ำดื่ม
- ผงชาร์โคล-น้ำส้มควันไม้เพื่อกิจการปศุสัตว์ เป็นวัตถุดิบในอาหารเสริมสำหรับสัตว์ มีคุณสมบัติช่วยปรับระดับแบคทีเรียในลำไส้และการดูดซึมสารอาหาร ทำให้เนื้อสัตว์มีคุณภาพดีขึ้น
- ผงชาร์โคล-น้ำส้มควันไม้เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและเครื่องสำอาง เช่น ใช้น้ำส้มควันไม้ซึ่งเป็นสารที่ให้กลิ่นควันไฟนำมาใช้แต่งกลิ่นให้กับผลิตภัณฑ์ไส้กรอกและแฮม
- ชาร์โคลนำมาบดผสมน้ำแช่ผักและผลไม้เพื่อล้างสารเคมี หากนำไปบดละเอียดสามารถผสมในอาหารเพื่อให้สีแทนการใช้ผงหมึก ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในขนมต่างๆ อาทิ ไอศกรีมสีดำจากชาร์โคล
- ใช้เป็นส่วนผสมผลิตเครื่องสำอาง เช่น สบู่ ผงมาสก์หน้า
จากประโยชน์ของไผ่ที่กล่าวมาทั้งหมด พอจะชี้ให้เห็นแนวทางการเกษตรที่ยั่งยืน เราไม่จำเป็นต้องปลูกไผ่เต็มพื้นที่ เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราส่วนใหญ่ นิยมปลูกไผ่ไว้กันลมรอบพื้นที่ส่วนยางพารา ชาวนาปลูกไผ่ไว้ตามคันนา หรือทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสมแบ่งพื้นที่ไว้ปลูกไผ่เพื่อความยั่งยืนในการทำเกษตรก็ดีไม่น้อยนะคะ
น่าสนใจใช่มั๊ยคะ…เราไปศึกษาข้อมูลวิธีการปลูกไผ่ในบทความ การปลูกไผ่ กันต่อเลยค่ะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.thongthailand.com, www.bangkokbiznews.com, www.doh.go.th, www.thairath.co.th, www.matichon.co.th, www.kk.ru.ac.th, www.foodnetworksolution.com)