หม่อน

หม่อน

หม่อน มีถิ่นกำเนิดแถบเทือกเขาหิมาลัยและทางตอนใต้ของประเทศจีน ในประเทศไทยสมัยก่อน ปลูกหม่อนกันมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมปลูกตามหมู่บ้านเพื่อใช้ใบเป็นอาหารเลี้ยงตัวไหม หรือที่เคยได้ยินกันว่า ‘ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม’ นั่นเองค่ะ เป็นพืชตระกูลเดียวกัน แต่บางสายพันธุ์เหมาะกับการใช้ใบเลี้ยงไหม ใช้เป็นอาหารสัตว์ปีกและสุกร ใช้ใบทำชา หรือรับประทานผลสด ปัจจุบัน คนไทยเริ่มนิยมรับประทานผลหม่อนสด โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพ ซึ่งผลสุกของหม่อนนั้นสามารถนำมารับประทานสดได้ มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว จึงทำให้การปลูกหม่อนมีเพิ่มขึ้นมากตามมา แต่หลายต่อหลายคน มักบ่นให้ได้ยินอยู่เสมอนะคะ ว่าหม่อนที่ปลูกไว้ไม่ค่อยออกลูก บ้างก็มีคำถามตามมาว่า…หรือเป็นที่อากาศ?… สำหรับท่านที่ยังไม่เคยปลูก หรือปลูกแล้วมีปัญหาดังกล่าว บทความนี้มีคำตอบให้ค่ะ อันที่จริง หม่อน เป็นพืชที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย อายุยืนยาวได้ 80 ถึง 100 ปี ถ้าดูแลให้ดี การดูแลหม่อนให้ดี ก็ง่ายไม่ยุ่งยากเช่นกันค่ะ เพียงแค่ดูแลอย่างถูกวิธี ท่านก็จะมีหม่อนไว้รับประทานกันอย่างเต็มที่ แค่ปลูกไว้ 4 ต้น เป็นอย่างน้อย ก็จะมีรายได้เสริมเป็นกำลังใจได้ดี แต่ผู้เขียนอยากจะบอกไว้ก่อนว่า ไม่ว่าจะปลูกอะไร หรือทำอะไร เราควรทำความรู้จัก เรียนรู้ และทำความเข้าใจกับสิ่งนั้นให้ดีเสียก่อน แล้วเริ่มทดลองทำแต่น้อย เมื่อสำเร็จแล้วจึงขยายขนาด หรือเพิ่มปริมาณเพื่อไม่ให้การลงทุนสูญเปล่า

เกริ่นมาเยอะแล้วค่ะ…..หม่อนอยากแนะนำตัวแล้ว…..
คนไทยในภาคอีสานเรียกหม่อนว่า ‘มอน’ ส่วนภาษาจีนแต้จิ๋วเรียก ‘ซิวเอียะ’ ส่วนภาษาอังกฤษ หม่อนมีชื่อเรียกว่า ‘มัลเบอร์รี’ (Mulberry) ถูกนำมาใช้เป็นพืชอาหารตามธรรมชาติชนิดเดียวของหนอนไหม และเป็นหัวใจสำคัญของการประกอบอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สามารถเจริญเติบโตได้ดีตั้งแต่เขตอบอุ่นถึงเขตร้อน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
หม่อนเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีอายุยาวนานได้หลายสิบปี

  • ลำต้น เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลแดง ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านไม่มากนัก
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่ หรือรูปหัวใจ ขอบเรียบหรือหยักเว้าเป็นพู ใบมีความกว้างประมาณ 8 ถึง 14 เซนติเมตร ยาว 12 ถึง 16 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ผิวใบสากคาย ปลายเรียวแหลมยาว
  • ดอก หม่อนออกเป็นดอกช่อตามซอกใบและปลายยอด รูปร่างทรงกระบอก
  • ผล เป็นผลรวม รูปทรงกระบอก มีสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงเข้ม เกือบดำ ฉ่ำน้ำ มีรสหวานอมเปรี้ยว

ประโยชน์และสรรพคุณทางยาของหม่อน

 

 

 

 

 

 

 

ใบสด

  • นิยมนำมาต้มดื่มเป็นชาบางท้องถิ่นนำมารับประทานสด หรือนำมาปรุงอาหารในเมนูจำพวกต้ม ช่วยเพิ่มรสชาติให้อร่อยมากขึ้น ในบางท้องถิ่น เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือ เป็นต้น

ใบตากแห้ง

  • นิยมนำชงดื่มเป็นน้ำชาใบหม่อน กลิ่นหอมมีเอกลักษณ์ และรสชาติเหมือนชา แต่เจือรสหวาน
  • ช่วยในการผ่อนคลาย
  • แก้ร้อนใน กระหายน้ำ
  • ช่วยลดไข้หวัด และอาการปวดหัว
  • ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ
  • แก้ไอ แก้เจ็บคอ แก้คอแห้ง
  • ต้านอนุมูลอิสระ ลดการเสื่อมสภาพของเซลล์
  • ช่วยลดน้ำตาลในเลือด และบรรเทาอาการจากโรคเบาหวาน
  • ลดคลอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยลดความดันเลือด
  • ป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือด
  • ช่วยต่อต้านแบคทีเรีย แก้อาการท้องเสีย

ผลสด

  • มีฤทธิ์ต่อต้านอาการขาดเลือดในสมอง ต่อต้านอนุมูลอิสระ ด้วยสารในกลุ่มแอนโทไซยานิน (anthocyanin) ที่มีอยู่ในผลหม่อน
  • ช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟัน เพราะมีวิตามิน ซี ในปริมาณสูง
  • แก้อาการกระหายน้ำ
  • ช่วยป้องกันมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
  • นำมาผลิตน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ
  • นำมาผลิตไวน์เพื่อเป็นรายได้

กิ่ง และลำต้น

  • บรรเทาอาการปวดข้อ กล้ามเนื้อ
  • ลด อาการมือเท้าเป็นตะคริว
  • ใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง ทำให้ผิวขาวเนียน ด้วยสารที่มีฤทธิ์ต่อต้านการสร้างเมลานินที่ทำหน้าที่เป็นสารสร้างเม็ดสีให้กับผิว

ข้อแนะนำ การใช้ประโยชน์จากหม่อน

  1. ใบหม่อนที่นำไปทำยา ควรเลือกใบเขียวสด ดูอวบทั่วทั้งใบ และไม่มีรอยกัดกินของแมลง
  2. นำใบหม่อนมาตากแห้ง แล้วบดอัดใส่แคปซูลรับประทาน หรือการนำใบแห้งมาต้มดื่มเป็นชาใบหม่อน
  3. ไม่ควรใช้อย่างต่อเนื่อง และในปริมาณที่มากในทางยา เพราะอาจได้รับสารแทนนินที่มีผลต่อระบบการย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดท้องอืด อาหารไม่ย่อยได้
  4. หากพบมีอาการแพ้หรือมีผลผิดปกติในร่างกาย ให้หยุดการใช้ทันที

สรรพคุณทางยาพื้นบ้าน
ใบ รสจืดเย็น

  • เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ แก้ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  • นำมาต้มใช้อมแก้เจ็บคอ และทำให้เนื้อเยื่อชุ่มชื้น แก้ไอ ระงับประสาท
  • นำมาต้ม แล้วนำน้ำมาใช้ล้างตา แก้ตาแดง ตาแฉะ ตาฝ้าฟาง
  • นำใบแก่มาตากแห้งมวนสูบเหมือนบุหรี่ แก้ริดสีดวงจมูก
  • นำใบไปอังไฟและทาด้วยน้ำมันมะพร้าวใช้วางบนแผล หรือตำใช้ทาแก้แมลงกัด
  • นำใบมาผสมกับหอมหัวใหญ่เป็นยาพอก รักษาแผลจากการนอนกดทับ

ผล

  • รสเปรี้ยวหวาน นำมาต้มน้ำหรือเชื่อมรับประทานเป็นยาเย็น ยาระบายอ่อนๆ แก้ธาตุไม่ปกติ บรรเทาอาการกระหายน้ำ แก้โรคปวดข้อ

ราก

  • ตากแห้งต้มผสมน้ำผึ้ง ยานี้จะมีรสหวานเย็น ใช้มากในโรคทางเดินหายใจ และการมีน้ำสะสมในร่างกายผิดปกติ ใช้แก้โรคความดันโลหิตสูง แขนขาหมดความรู้สึก ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ และเป็นยาสมาน

การใช้ประโยชน์ทางยาจากหม่อน ในประเทศจีน

  • ใช้เปลือกราก กิ่งอ่อน ใบ ผล เป็นยาบำรุง แก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก ขับปัสสาวะแก้ไอ หืด วัณโรคปอด การสะสมน้ำในร่างกายผิดปกติ โรคปวดข้อ เปลือกต้น เป็นยาระบาย และยาถ่ายพยาธิ

คุณค่าทางโภชนาการ ที่มีในผลหม่อน
โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เส้นใย แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี6 กรดโฟลิก

การใช้ประโยชน์จากหม่อน ลดต้นทุนการเกษตร
โดยใช้ใบและกิ่งเขียวของหม่อนหมักรวมกัน เป็นอาหารสัตว์ปีก และสุกร สามารถช่วยลดต้นทุนได้ดังนี้
ไก่ไข่ ต้นทุนการผลิตไข่ลดลง 0.30 บาท ต่อฟอง
เป็ดไข่ ต้นทุนการผลิตไข่ลดลง 0.12 บาท ต่อฟอง
สุกร ต้นทุนการผลิตลดลง 600 บาท ต่อตัว

ข้อดีของการใช้ใบหม่อน

  • สัตว์ปีก มีอัตราการเจริญเติบโตและสุขภาพดี อัตราการตายต่ำ ผลผลิตและคุณภาพไข่สูง สีไข่แดงเข้มขึ้น มีเบตา-แคโรทีน และวิตามินอีในไข่แดงสูง
  • สุกร มีสุขภาพแข็งแรง โตเร็ว ระบบภูมิคุ้มกันดี และเปอร์เซ็นต์เนื้อแดงสูง

การทำใบหม่อนหมัก

  1. สับใบหม่อนพร้อมกิ่งเขียวให้มีขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว (น้อยกว่า 5 ซม.)
  2. นำใบหม่อนสับหมักร่วมกับรำละเอียด อัตราส่วน 100 : 5 บรรจุในถังหมักปิดผาให้สนิท หมักไว้ 21 วัน
  3. นำไปผสมอาหารเลี้ยงสัตว์ปีกและสุกร ตามสูตร ดังนี้ (1 ส่วน = 1 เปอร์เซ็นต์)
  • ไก่ไข่ ผสมอาหารสำเร็จรูปไก่ไข่ 80 ส่วน และใบหม่อนหมัก 20 ส่วน
  • เป็ดไข่ ผสมอาหารสำเร็จรูปเป็ดไข่ 80 ส่วน ใบหม่อนหมัก 20 ส่วน และหัวมันสำปะหลังหมักยีสต์ 20 ส่วน
  • สุกรขุนสูตร1 ผสมอาหารสำเร็จรูปสุกร 80 ส่วน และใบหม่อนหมัก 20 ส่วน
  • สุกรขุนสูตร2 ผสมอาหารสำเร็จรูปสุกร 30 ส่วน ใบหม่อนหมัก 30 ส่วน หัวมันสำปะหลังหมักยีสต์ 30 ส่วน ปลายข้าว 8 ส่วน น้ำมันปาล์ม 2 ส่วน
    ที่มา / กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์

หม่อนแนะนำตัว คุณประโยชน์ และสรรพคุณทางยาให้รู้จักกันแล้ว ในบทความต่อไป พบกับสายพันธุ์หม่อน วิธีปลูก และการดูแลหลังการปลูก ในบทความ การปลูกหม่อน กันต่อนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : wwwphargarden.com, www.puechkaset.com.www.pasusart.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *