การปลูกพริก

การปลูกพริก

การปลูกพริก มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และเทคนิคของแต่ละบุคคล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีการในขั้นต้นก็มีพื้นฐานเดียวกัน ในบทความนี้ ได้นำเสนอ วิธีการขั้นพื้นฐานให้กับท่านผู้อ่าน ส่วนเทคนิคและเคล็ดลับที่จำแนกตามสายพันธุ์นั้น ติดตามได้ในบทความ “เทคนิคการปลูกพริกแต่ละสายพันธุ์”


ก่อนลงมือปลูก เราต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ก่อนนะคะ…

สภาพที่เหมาะสมต่อการปลูกพริก

  1. อุณหภูมิ พริกเกือบทุกสายพันธุ์ ทนต่ออากาศร้อนได้ดี แต่ไม่ทนต่ออากาศหนาว สำหรับการให้ผลผลิต พริกจะเจริญเติบโต ผลิดอกออกผลได้ดีในช่วงอุณหภูมิที่ 20 ถึง 30 องศาเซลเซียส ยกเว้นพริกหวาน อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับพริกหวานต้องอยู่ประมาณ 18 ถึง 27 องศาเซลเซียส หากอากาศแปรปรวน อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในฤดูร้อน อาจทำให้ดอกหรือผลอ่อนร่วง
  2. แสง การปลูกพริกในประเทศไทย ไม่มีปัญหาเรื่องแสง เพราะพริกจะได้รับแสงเกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน เกือบตลอดทั้งปี ซึ่งเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพริก
  3. ดิน
  • ดินร่วนโปร่ง เป็นดินที่พริกชอบ เพราะระบายน้ำได้ดี มีความชุ่มชื้น เพื่อการเจริญเติบโตที่ดี ถ้ามีน้ำท่วมขัง พริกจะเหี่ยวตายได้ง่าย ส่วนการขาดน้ำ จะทำให้ดอกและผลร่วง
  • ดินร่วนปนทราย บนพื้นที่ดอน เหมาะกับการปลูกพริกในฤดูฝน หรือการปลูกแบบยกแปลงให้สูงๆ เพื่อการระบายน้ำที่ดี
  • ดินที่เหมาะสมในการปลูกพริกนั้น นอกจากมีความร่วนซุยแล้ว ควรมีอินทรียวัตถุ รวมถึงธาตุอาหารที่เพียงพอ โดยเฉพาะธาตุอาหารหลักอย่าง ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ควรให้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยคอก อย่างน้อย 800 ถึง 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ดินและความร่วนโปร่ง เป็นการให้อาหารกับจุลินทรีย์ในดิน และช่วยให้ต้นพริกมีความแข็งแรง ต้านทานโรคต่างๆ ได้ดี
  • ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน สภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดิน หรือค่า pH ของดิน ควรอยู่ประมาณ 6 ถึง 7 มีความเป็นกรดเล็กน้อย จึงจะเหมาะสมต่อการปลูกพริก แต่ถ้าดินมีความเป็นกรดมากเกินไป ควรใช้ปูนขาวในการปรับสภาพดินทุกครั้งในการปลูก ส่วนดินเค็มนั้น พริกทนต่อสภาพดินเค็มได้

การเลือกเมล็ดพันธุ์พริก

  1. เมล็ดพันธุ์ลูกผสม—มีจำหน่ายตามร้านวัสดุอุปกรณ์การเกษตรทั่วไป เมื่อนำมาปลูกแล้ว ไม่ควรเก็บพันธุ์ไว้ปลูกต่อ เพราะจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างพริก ไม่สามารถจำหน่ายได้ ซึ่งสายพันธุ์ที่ได้รับการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ที่ผู้เขียนอยากแนะนำคือ พันธุ์อัคนีพิโรธ ที่ให้ความเผ็ดสูง ให้ผลผลิตสูง มีคุณประโยชน์ทางยาหลายอย่าง และมีความต้านทานโรคแอนแทรกโนสได้ดี รองลงมาคือ พันธุ์ยอดสนเข็ม 80 ให้ผลผลิตสูงและเหมาะแก่การผลิตพริกแห้ง
  2. เมล็ดพันธุ์ผสมปล่อย—ส่วนใหญ่เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากท้องถิ่นที่เก็บพันธุ์ปลูกต่อกันมานาน มีความแปรปรวนของสายพันธุ์ เช่น ทรงต้น ลักษณะผล และปริมาณผลผลิตที่ต่ำกว่าพันธุ์ลูกผสม ควรเลือกเมล็ดพันธุ์จากต้นพันธุ์ที่มีผลผลิตสูง ขนาดผลใหญ่ ต้นตั้งตรง แข็งแรง และเก็บเมล็ดแยกต้น
    ***เมล็ดพันธุ์พริกที่เราเก็บเมล็ดพันธุ์เองนั้น ควรแกะเมล็ดออกจากผลที่สุกแดงแล้วโดยเร็ว ไม่ควรปล่อยให้ผลแห้งเกิน 30 วัน เพราะจะทำให้การงอกเสื่อมลง เมื่อแกะเมล็ดออกแล้วให้ผึ่งเมล็ดไว้ในที่ร่ม หรือตากแดดในช่วงเช้า ประมาณ 3 ถึง 4 วัน เมื่อเมล็ดพันธุ์แห้งดีแล้วให้เก็บใส่ภาชนะที่มีฝาปิดที่แน่นสนิท เก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา ซึ่งจะอยู่ได้นานกว่า 1 ปี***

ลำดับการเจริญเติบโตของพริก หลังหยอดเมล็ด

 

อายุ3 ถึง 6 วัน—เมล็ดเริ่มงอก
อายุ25 วัน—มีใบจริง 4 ถึง 5 ใบ
อายุ50 ถึง 60 วัน—พริกใหญ่เริ่มออกดอก
อายุ70 ถึง 80 วัน—พริกเล็กเริ่มออกดอก
อายุ90 ถึง 140 วัน—พริกใหญ่เริ่มมีผลสุก และเก็บเกี่ยว
อายุ110 ถึง 180 วัน—พริกเล็กเริ่มมีผลสุกและเก็บเกี่ยว

 

 

ขั้นตอนการปลูกพริก
พริก เริ่มต้นขั้นตอนการปลูกด้วยการเพาะเมล็ด หรือเพาะกล้า อันดับแรกเลย ต้องเตรียมพื้นที่เพาะกล้า โดยทำเป็นแปลงเพาะ หรือจะเพาะในถาดเพาะกล้า ก็สามารถทำได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ปลูก แต่ปัจจุบัน เกษตรกรและผู้ปลูกส่วนใหญ่นิยมเพาะกล้าในถาดเพาะกล้า เพราะนอกจากจะดูแลง่ายและสะดวกในการย้ายกล้าแล้ว ยังประหยัดพื้นที่ในการเพาะอีกด้วยนะคะ

การเพาะกล้า

  1. การเพาะกล้าในแปลง
    มีขั้นตอนดังนี้
    -เลือกพื้นที่ทำแปลงเพาะกล้าที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน ไม่มีน้ำท่วมขัง
    -ขุดดินยกแปลงกว้าง 1 เมตร ปรับสภาพดินให้ร่วนซุย และมีความโปร่ง โดยการเติมปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยคอก, ถ่านแกลบ หรือแกลบ อัตรา 2 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร
    -ปรับผิวหน้าดินให้เสมอกัน แล้วใช้กิ่งไม้ขีดบนผิวหน้าแปลงให้เป็นร่องตื้นๆ ประมาณ 0.5 ถึง 1 เซนติเมตร แต่ละรอยห่างกัน 10 เซนติเมตร
    -หยอดเมล็ดพริกลงในรอยห่างกัน 2 ถึง 3 เซนติเมตร ใช้ถ่านแกลบผสมปุ๋ยหมัก กลบเมล็ดบางๆ
    -นำไม้ไผ่มาโค้งเป็นโครงคลุมด้วยตาข่ายไนล่อนเพื่อช่วยป้องกันฝนและแสงแดด ไม่ให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดที่จัดเกินไปในระยะที่ยังเป็นต้นกล้าอ่อน
  2. การเพาะกล้าในถาดเพาะกล้า
    -ผสมดินร่วนที่ย่อยละเอียดดีแล้ว 1 ส่วน กับวัสดุเพาะที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ที่ร่วน โปร่ง น้ำหนักเบาและอุ้มน้ำได้ดี 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน และพรมน้ำให้ความชุ่มชื้นแก่วัสดุปลูกเล็กน้อย เพื่อให้น้ำซึมได้ทั่วถึงเมื่อรดน้ำหลังจากที่หยอดเมล็ดแล้ว
    -แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส (น้ำต้มจนเดือด 1 แก้วเล็ก ผสมกับน้ำเย็น 1 แก้วใหญ่ ควรแช่ในกระติกน้ำเพื่อรักษาอุณหภูมิให้คงที่ได้นาน) แช่ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที
    -ผึ่งเมล็ดให้แห้ง คลุกยากันเชื้อรา เช่น เบนเลท แล้วนำไปหยอดลงในแปลงเพาะกล้า หรือถาดเพาะกล้าหลุมละ 1 เมล็ด
    -ใช้ดินปลูกหรือวัสดุปลูกกลบเมล็ดบางๆ ไม่หนาเกินกว่า 1 เซนติเมตร
    -รดน้ำพอชุ่ม จากนั้นรดน้ำที่ผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาในอัตราส่วน น้ำ 20 ลิตร ผสมกับเชื้อราไตรโคเดอร์มา 100 ซีซี เพื่อป้องกันเชื้อราจากวัสดุปลูก แล้ววางถาดเพาะกล้าในที่ร่ม และอากาศถ่ายเทได้สะดวก หรือใช้วัสดุพรางแสงขึงบังแดดไว้เหนือถาดเพาะกล้า
    -ในระยะ 7 วัน หลังการหยอดเมล็ด ต้องรดน้ำน้อย แต่รดบ่อยครั้ง ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในถาดเพาะกล้าให้สม่ำเสมอ โดยใช้พลาสติก, ฟางข้าว หรือหญ้าแห้ง คลุมถาดเพาะไว้ เพื่อไม่ให้วัสดุเพาะแห้ง ซึ่งจะทำให้เมล็ดพันธุ์จะชะงักการเจริญเติบโต
    -เมื่อเมล็ดงอกพ้นดิน ให้เปิดวัสดุคลุมต้นกล้าออก และปล่อยให้ต้นกล้าเจริญเติบโตในแปลงเพาะหรือถาดเพาะกล้า
    -ให้ปุ๋ยคอกที่ย่อยละเอียดแก่ต้นกล้าครั้งแรก เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ 15 วัน และให้ครั้งที่สอง เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ 20 วัน รดน้ำเบาๆ หลังการให้ปุ๋ยทุกครั้ง เพื่อล้างปุ๋ยออกจากใบ
    -เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ 23 วัน หรือ 1 สัปดาห์ก่อนย้ายต้นกล้าลงปลูก ควรเตรียมต้นกล้าให้มีความแข็งแรงด้วยการเปิดวัสดุพรางแสงออก หรือนำถาดเพาะกล้าไปวางไว้ในที่ที่แสงแดดส่องถึง หรือลดปริมาณการให้น้ำลง เมื่อสังเกตเห็นต้นกล้าเหี่ยวจึงรดน้ำใหม่ ทำเช่นนี้ 2 ครั้ง ช่วยกระตุ้นให้ต้นกล้าสะสมอาหารไว้ในต้นมากขึ้นกว่าปรกติ เพื่อใช้ในการงอกรากใหม่ ช่วยให้ลำต้นแข็งแรง ไม่อวบน้ำ หรือฉีดพ่นสารละลายของน้ำตาลเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ คือ ใช้น้ำตาลทราย 10 ส่วน ผสมน้ำ 90 ส่วน ฉีดทุกๆ 3 วัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนย้ายกล้าลงปลูกในแปลง วิธีการฉีดสารละลายเข้มข้นให้ได้ผลดี คือ ฉีดพรมใบพริกด้วยน้ำให้ทั่วเพื่อช่วยให้ใบสามารถดูดซึมน้ำตาลได้ปริมาณมาก
    -เมื่อต้นกล้ามีอายุครบ 30 วัน สามารถทำการย้ายปลูกได้คำแนะนำ
    หากไม่สามารถทำการย้ายปลูกตามกำหนดได้และปล่อยให้ต้นกล้าอยู่ในถาดเพาะเป็นเวลานาน 50 ถึง 60 วัน รากของต้นกล้าจะขดเป็นวง ก่อนย้ายต้นกล้าไปปลูกควรตัดรากด้วยมีด หรือใช้กรรไกรตัดรากตามแนวเดียวกันกับลำต้น 1 ถึง 2 รอย เพื่อช่วยให้เกิดรากใหม่ได้ง่ายขึ้น

การเตรียมดิน สำหรับแปลงปลูก

  • ไถพรวนดิน และตากดินทิ้งไว้ 7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค
  • เมื่อครบกำหนด หว่านปูนโดโลไมท์ประมาณ 100 ถึง 200 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินแล้วไถพรวนอีก 1 ครั้ง
  • ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักให้ทั่วแปลงในอัตรา 800 ถึง 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยหว่านให้ทั่วพื้นที่ปลูก แล้วพรวนดินให้เข้ากันกับปุ๋ย หากดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี สามารถลดปริมาณปุ๋ยลง แต่ไม่ควรต่ำกว่า 50 กิโลกรัม ต่อไร่

การทำแปลงปลูก
สามารถทำได้ 3 แบบ ขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ ดังนี้

  1. แบบไม่ยกแปลง เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีการระบายน้ำดี อาจจะปลูกเป็นแถวเดียว โดยมีระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 60 ถึง 70 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร หรือปลูกเป็นแถวคู่ ระยะระหว่างแถวคู่ 1 เมตร และระยะระหว่างแถว 50 เซนติเมตร ระยะระหว่าต้น 50 เซนติเมตร
  2. แบบยกแปลง เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง ระบายน้ำได้ไม่ดี ขนาดแปลงควรมีความกว้าง 1.50 เมตร ร่องน้ำระหว่างแปลงกว้าง 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร ปลูก 2 แถว บนแปลง มีระยะห่างระหว่างแถวตั้งแต่ 75 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร หรือปลูกเป็นแถวคู่ 1 เมตร ระยะห่างระหว่างแถว 50 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างต้น 50 เซนติเมตร
  3. แบบคลุมแปลงปลูก เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง โดยยกแปลงปลูกสูงประมาณ 25 ถึง 30 เซนติเมตร แปลงมีความกว้างตั้งแต่ 100 ถึง 120 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของพลาสติกที่ใช้คลุมแปลง ระยะห่างระหว่างแปลงประมาณ 50 ถึง 80 เซนติเมตร

(พริกผลใหญ่ จำนวนต้นต่อไร่ประมาณ 5,000 ถึง 6,000 ต้น ต่อไร่ ส่วนพริกผลเล็ก จำนวนต้นต่อไร่ประมาณ 4,000 ต้น ต่อไร่)

วัสดุที่ใช้คลุมแปลง
ฟางข้าว เปลือกฝักข้าวโพด ใบหญ้าคา หรือพลาสติก
***อุณหภูมิในแปลงปลูกที่ใช้ฟางข้าว หรือเศษพืชคลุมแปลงปลูก จะต่ำกว่าการใช้พลาสติกในช่วงฤดูร้อน***

คำแนะนำการปลูกแบบคลุมแปลงปลูก
เพื่อให้ต้นพริกให้ผลผลิตที่มีขนาดมาตรฐาน ได้ผลผลิตสูง ป้องกันและกำจัดโรคได้ดี ต้นพริกและแปลงปลูกควรมีระยะห่างที่เหมาะสม ซึ่งระยะห่างที่ดีนั้น หมายถึง ระยะห่างที่ทำให้อากาศในแปลงปลูกถ่ายเทได้สะดวก ต้นพริกได้รับน้ำและแสงแดดพอเพียงทั่วทั้งแปลงปลูก เกษตรกรหรือผู้ปลูกมือใหม่ ควรปฏิบัติดังนี้ค่ะ

  1. แปลงปลูกกว้าง 100 เซนติเมตร คลุมแปลงปลูกด้วยพลาสติกหน้ากว้าง 100 เซนติเมตร ปลูกพริก 2 แถว ต่อ 1 แปลงปลูก ระยะห่างระหว่างต้น 40 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแปลง 50 เซนติเมตร
  2. แปลงปลูกกว้าง 120 เซนติเมตร คลุมแปลงปลูกด้วยพลาสติกหน้ากว้าง 120 เซนติเมตร ปลูกพริก 3 แถว ต่อ 1 แปลงปลูก ระยะห่างระหว่างต้น 40 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแปลง 80 เซนติเมตร

ข้อดีของการปลูกพริกแบบคลุมแปลงปลูก

  • ช่วยลดปัญหาหน้าดินแน่นหลังฝนตก
  • ช่วยรักษาความชื้นในดิน เนื่องจากดินไม่ได้กระทบกับแสงแดดโดยตรง อุณหภูมิดินจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนกระทบกับการเจริญเติบโตของรากพริก
  • ช่วยป้องกันวัชพืช

วิธีการปลูกต้นกล้า
***การย้ายกล้าต้องใช้ความระมัดระวัง และพยายามให้รากติดต้นมากที่สุด***

  • ก่อนย้ายต้นกล้า ให้รดน้ำแปลงเพาะ หรือถาดเพาะกล้าให้ชุ่ม ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง แล้วใช้ไม้แหลมหรือปลายมีดค่อยๆ แซะต้นกล้าขึ้นจากหลุมปลูก (ควรปลูกต้นกล้าในทันที)
  • รดน้ำแปลงปลูกพอชุ่ม ขุดหลุมปลูกให้ลึกกว่าโคนต้นกล้าเล็กน้อย เพื่อช่วยไม่ให้ลำต้นล้ม
  • นำต้นกล้าลงปลูก กลบดินให้แน่นรอบโคนต้น อย่าให้รากลอย
  • หากไม่ได้ปลูกแบบคลุมแปลงปลูก ควรคลุมต้นกล้าด้วยฟางข้าว หรือเศษหญ้าแห้ง เพื่อช่วยบังแสงแดดและรักษาความชุ่มชื้นให้ต้นกล้า
  • รดน้ำให้ชุ่ม

ปลูกพริกแล้ว เราก็ต้องดูแลต้นพริกให้ออกผลผลิตที่คุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะฉะนั้น ไม่ควรพลาดติดตามบทความ “การดูแลพริก หลังการปลูก กันนะคะ)

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : หนังสือ วางแผน…การปลูกสารพัดพริกช่วงแพง สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสะอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *