โรคและแมลงศัตรูข้าวโพดหวานญี่ปุ่น

โรคและแมลงศัตรูข้าวโพดหวานญี่ปุ่น

โรคและแมลงศัตรูข้าวโพดหวานญี่ปุ่น หากไม่ป้องกันไว้ก่อนที่จะเกิดการระบาด จะทำให้เกิดความเสียหายได้ทั้งพื้นที่ เนื่องจากเป็นโรคที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก ซึ่งการป้องกันและกำจัด โรคและแมลงศัตรูข้าวโพดหวานญี่ปุ่น เป็นขั้นตอนที่ต้องเอาใจใส่ดูแลเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ จำหน่ายได้ราคาดี สิ่งสำคัญ พยายามดูแล สำรวจและป้องกัน โรคและแมลงศัตรูข้าวโพดหวานญี่ปุ่น ก่อนที่จะเกิดการระบาด เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและตัวเกษตรกรผู้ปลูกเองด้วยนะคะ
โรคข้าวโพดหวานญี่ปุ่น
โรคราน้ำค้าง หรือโรคใบลาย
โรคราน้ำค้างของข้าวโพด หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าโรคใบลาย เกิดจากเชื้อรา เป็นโรคที่ทำความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงให้แก่แหล่งที่ปลูกข้าวโพดไม่สามารถควบคุมโรคโดยใช้สารเมตาแลคซิลที่เคยใช้ได้ผลในอดีตที่ผ่านมา ความรุนแรงของโรคทำให้ผลผลิตข้าวโพดลดลง 30 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ในแหล่งที่โรคระบาดรุนแรงและพันธุ์ข้าวโพดที่อ่อนแอจะทำความเสียหายถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดพันธุ์พื้นเมือง เช่น ข้าวโพดเทียนและข้าวโพดข้าวเหนียว เป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคมาก
อาการของโรค มี 3 ลักษณะ ดังนี้

  1. Infection site หรือบางครั้งเรียกว่า infection point อาการติดเชื้อ มีลักษณะเป็นจุดเล็กๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ถึง 2 มิลลิเมตร จุดมีสีเขียวฉ่ำน้ำ มักเกิดและเห็นได้ชัดกับข้าวโพดที่ระยะกล้าอายุประมาณไม่เกิน 1 สัปดาห์
  2. Local symptom อาการเฉพาะแห่ง เกิดต่อมาจากอาการแบบที่1 พบเป็นทางยาวสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อนสลับกับเขียวแก่ แผลจะขยายลามลงมาทางโคนใบ เมื่อข้าวโพดอายุมากเข้ารอยสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายใบไหม้และแห้งตายในที่สุด
  3. Systemic symptom อาการกระจายทั่วต้น ใบมีสีเหลืองซีดโดยเฉพาะในบริเวณยอด ต้นแคระแกรน เตี้ย ข้อถี่ ไม่มีฝักหรือมีฝักขนาดเล็ก ก้านฝักมีความยาวมากหรือมีจำนวนฝักมากกว่าปกติ แต่จะไม่สมบูรณ์ เช่น มีเมล็ดจำนวนน้อยหรือไม่มีเมล็ดเลย บางครั้งใบยอดมีลักษณะอาการใบลายเป็นทางสีเขียวอ่อนสลับกับเขียวแก่ หลังจากใบแรกที่แสดงอาการแบบนี้แล้ว ใบที่เจริญต่อมาจะแสดงอาการแบบ systemic หมด ถ้าความชื้นสูงเชื้อทำให้เกิดอาการยอดแตกฝอยเป็นพุ่ม เกสรตัวผู้กลายเป็นเกสรตัวเมียสร้างเมล็ดและต้นอ่อน

สภาพที่เอื้ออำนวยต่อการระบาดของโรค

  1. ความชื้นของอากาศที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะบริเวณที่มีน้ำค้าง อากาศเย็น และฝนตกชุก ดินเก็บน้ำไว้ ทำให้มีความชื้นสูง
  2. อุณหภูมิ เชื้อโรคนี้จะเจริญได้ดีในที่อุณหภูมิประมาณ 20 ถึง 26 องศาเซลเซียส

การแพร่ระบาด
เริ่มระบาดต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคมไปจนสิ้นฤดูฝน เมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาล อุณหภูมิ 20 ถึง 26 องศาเซลเซียส และความชื้นสูง เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อราชนิดนี้มาก จะพบเชื้อโรคสร้างสปอร์ เป็นผงสีขาวๆ บนผิวใบที่ลายของข้าวโพดในเวลาเช้ามืดของคืนที่มีฝนตกและอากาศค่อนข้างเย็น เมื่อสปอร์แก่จะแพร่ระบาดไปโดยลมเข้าทำลายต้นอื่นๆ ต่อไป นอกจากนี้เชื้อที่ติดไปกับเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่แห้งดี เชื้อโรคที่ตกอยู่ในดิน หรือที่เกิดบนพืชอาศัยอื่น พอสรุปได้ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโรคมาจากแหล่งต่างๆ ดังนี้

  • ใบข้าวโพดที่เป็นโรค
  • เมล็ดข้าวโพดจากต้นที่เป็นโรค
  • พืชอาศัยบางชนิด เช่น ข้าวฟ่าง หญ้าพงหรือแขม หรืออ้อยเลา หรือหญ้าคาหรือหญ้าหลวง
  • ดิน อาจจะตกค้างในดินในรูปของสปอร์ที่มีผนังหนา

การป้องกันและกำจัด

  1. หลีกเลี่ยงการปลูกก่อนฝนตกชุกหรือปลูกก่อนฤดูฝน เนื่องจากข้าวโพดที่มีอายุประมาณ 1-3 สัปดาห์ จะอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรค ต้นข้าวโพดมีอายุมากกว่า 1 เดือน พบว่ามีอัตราการเกิดโรคน้อย
  2. การกำจัดพืชอาศัย ลดการอยู่ข้ามฤดูของเชื้อสาเหตุได้
  3. หลีกเลี่ยงการใช้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่มีโรคระบาดมาทำพันธุ์
  4. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ตากแห้งสนิท ความชื้นประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ มาทำพันธุ์ เพื่อป้องกันเชื้อที่ติดมากับเมล็ด
  5. ใช้พันธุ์ต้านทานโรคราน้ำค้างได้ดีและให้ผลผลิตสูง
  6. การใช้สารเคมีเมตาแลกซิล (Apron 35 SD) ในอัตรา 7 กรัม ต่อน้ำหนักเมล็ด1 กิโลกรัม คลุกเมล็ดก่อนปลูก สามารถป้องกันกำจัดโรคนี้ได้ แต่ในท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี และอุทัยธานี ไม่สามารถใช้สารนี้ป้องกันกำจัดโรคได้

โรคใบไหม้แผลเล็ก
ปัจจุบัน โรคนี้มีความรุนแรงกับข้าวโพดสายพันธุ์แท้ บางสายพันธุ์ เช่น ข้าวโพดหวานข้าวโพดเทียน และข้าวโพดข้าวเหนียว

อาการของโรค
เกิดจากเชื้อรา เริ่มจากการเกิดจุดเล็กๆ สีเขียวอ่อนฉ่ำน้ำ จุดขยายออกตามความยาวของใบ โดยจำกัดด้านกว้างของแผลขนานไปตามเส้นใบ ตรงกลางแผลจะมีสีเทาขอบแผลมีสีเทาน้ำตาล ขนาดของแผลไม่แน่นอนแผลที่ขยายใหญ่เต็มที่มีขนาดกว้างประมาณ 6 ถึง12 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 6 ถึง 27 มิลลิเมตร
ในขั้นรุนแรง แผลจะขยายตัวรวมกันเป็นแผลใหญ่และทำให้ใบแห้งตาย อาการของโรคเมื่อเกิดในต้นระยะกล้าจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทุกใบอาจจะเหี่ยวและแห้งตายภายใน 3 ถึง 4 สัปดาห์ หลังปลูก แต่ถ้าเกิดกับต้นแก่อาการจะเกิดบนใบล่างก่อน นอกจากจะเกิดบนใบแล้วยังเกิดกับต้นกาบใบ ฝักและเมล็ด

การแพร่ระบาด
ติดไปกับเมล็ดที่เป็นโรคและโดยทางลมหรือฝนนำสปอร์ปลิวไปเมื่อเข้าทำลายพืชเป็นแผลบนใบจากต้นหนึ่งไปสู่อีกต้นหนึ่งหรือจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง สามารถเข้าทำลายข้าวโพดได้หลายครั้งในแต่ละฤดูจากสปอร์ใหม่ที่เกิดขึ้นแพร่กระจายไปกับลมและฝน แล้วเข้าทำลายข้าวโพดอีกหลายรอบ เชื้อราสามารถมีชีวิตได้ในใบข้าวโพดนานถึง 8 เดือนและมีชีวิตในเมล็ดข้าวโพดได้นานกว่า 1 ปี และอาศัยอยู่ในหญ้าเดือย

การป้องกันและกำจัด

  1. ใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นที่สมบูรณ์ปราศจากโรค
  2. หมั่นสำรวจ ตั้งแต่ระยะกล้าเมื่อพบโรคเริ่มระบาดให้ถอนแล้วเผาทำลาย จากนั้นใช้สารเคมีไตรโฟรีน20 (ซาพรอล) อัตรา 60 ซีซี ต่อน้ำ 20ลิตร ฉีดพ่นสามารถป้องกันกำจัดโรคได้
  3. ทำลายพืชอาศัยของโรค เช่น หญ้าเดือย
  4. ทำลายเศษซากของข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยว เพราะเชื้อราสามารถอยู่ข้ามฤดูบนเศษซากของข้าวโพดได้

โรคใบไหม้แผลใหญ่
ปัจจุบันมีการระบาดของโรค ในข้าวโพดสายพันธุ์แท้บางพันธุ์ และลูกผสมที่อ่อนแอต่อโรคนี้ การปลูกข้าวโพดแซมในไม้ยืนต้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคทางใบระบาดมาก

อาการของโรค
เกิดจากเชื้อรา พบได้ทุกส่วนของลำต้นข้าวโพดโดยเฉพาะบนใบ เป็นแผลมีขนาดใหญ่สีเทาหรือสีน้ำตาลแผลมีลักษณะยาวตามใบ หัวท้ายเรียวคล้ายรูปกระสวย แผลมีขนาดระหว่าง 2.5 ถึง 20 เซนติเมตร แผลที่เกิดบนใบอาจเกิดเดี่ยวๆ หรือหลายแผลซ้อนกัน ขยายขนาดใหญ่ขึ้น ถ้าแผลขยายรวมกันมากๆจะทำให้ใบแห้งตายได้ ถ้าเข้าทำลายพืชก่อนออกดอกทำให้ผลผลิตสูญเสียมาก แต่ถ้าเข้าทำลาย 6 ถึง 8 สัปดาห์ หลังจากข้าวโพดออกดอกแล้วไม่มีผลกระทบต่อผลผลิต

การแพร่ระบาด
แพร่ไปโดยลม หรือฝน ถ้าโรคเข้าทำลายก่อนออกไหมทำให้ผลผลิตลดได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเข้าทำลายหลังออกไหมแล้ว 6 สัปดาห์ มีผลกระทบต่อผลผลิตน้อย เชื้อราสามารถอยู่ข้ามฤดูได้ในเศษซากพืช

การป้องกันและกำจัด
ปฏิบัติเช่นเดียวกับโรคใบไหม้แผลเล็ก

  1. การปลูกพืชหมุนเวียน เผาทำลายเศษซากพืชเป็นโรค
  2. การทำเขตกรรมที่เหมาะสม ไม่ปลูกพืชหนาแน่นและใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวโพดแซมไม้ยืนต้น เช่น มะม่วง ยางพารา มะละกอ เพราะความร่มเงาของไม้ยืนต้นทำให้เกิดโรคระบาดได้

โรคราสนิม
ระบาดปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ในขณะที่มีความชื้นในอากาศสูง 95 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ และมีอุณหภูมิค่อนข้างเย็น ประมาณ 24 ถึง 28 องศาเซลเซียส สภาพแวดล้อมเช่นนี้ มีความเหมาะสมต่อการเกิดโรคราสนิมมาก

อาการของโรค
เกิดจากเชื้อรา อาการของโรคจะเกิดได้แทบทุกส่วนของต้นข้าวโพด เกิดเป็นจุดนูนเล็กๆ สีน้ำตาลแดง ขนาดของแผลประมาณ 0.2 ถึง 2.0 ม.ม. แผลจะเกิดด้านบนใบมากกว่าด้านล่างของใบ ต่อมาแผลจะแตกออกมองเห็นเป็นผงสีสนิมเหล็ก ในขั้นรุนแรงจะทำให้ใบแห้งตายในที่สุด

การแพร่ระบาด
แพร่ออกไปจากแผลที่ใบ แผลที่กาบใบ และเปลือกหุ้มฝัก เมื่อเชื้อปลิวไปตกมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับเชื้อโรคจะทำให้ข้าวโพดเป็นโรคได้ แต่ถ้าสภาพแวดล้อมนั้นเหมาะสมแต่ไม่มีต้นข้าวโพดในแปลงหรือในไร่ เชื้อโรคเข้าทำลายอาศัยพืชอื่นซึ่งเป็นพืชอาศัยของเชื้อโรคอยู่ข้ามฤดู และเมื่อมีการปลูกข้าวโพดขึ้นมาเชื้อจะปลิวจากพืชอาศัยกลับมาที่ข้าวโพดได้อีก

การป้องกันและกำจัด

  1. กำจัดวัชพืชและทำลายต้นพืชที่เป็นโรค โดยการเผาทำลาย
  2. หมั่นสำรวจตรวจพื้นที่อยู่เสมอ ตั้งแต่ระยะกล้า เมื่อเริ่มพบโรคระบาดมีจุดสนิม 3 ถึง 4 จุดต่อใบให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีไดฟิโนโคนาโซล (สกอร์) 250 อีซี หรือ ในอัตรา 20 ซีซี หรือ แมนโคเซบ 80 เปอร์เซ็นต์ WP อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วัน จำนวน 2 ถึง 4 ครั้ง ตามความรุนแรงของโรค
  3. ฤดูหนาวในแหล่งที่โรคระบาด ควรปลูกพันธุ์ต้านทานโรคหรือปลูกพืชอื่นแทนข้าวโพด

โรคกาบและใบไหม้
อาการของโรค
เกิดจากเชื้อรา พบได้กับส่วนต่างๆ ของข้าวโพดเช่น ลำต้น ใบ กาบใบ กาบฝัก และฝัก ในระยะกล้าทำให้ต้นกล้าเน่าหักพับล้มลงทั้งที่ส่วนยอดยังเขียวอยู่ โคนต้นระดับคอดินมีรอยฉ่ำน้ำสีเขียวอมเทา อาจพบเส้นใยสีขาวเจริญปกคลุมที่รากถ้าในพันธุ์ที่ค่อนข้างอ่อนแอมักพบโรค ในสภาพไร่ในระยะอายุ 40-50 วัน คือก่อนออกดอก ถ้าโรคเกิดกับพืชอายุน้อยเนื่องจากเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอมากอาการไหม้รุนแรงมาก เพราะเนื้อเยื่ออ่อนอวบน้ำและมีการตายของส่วนยอดเจริญด้วย

การแพร่ระบาด
เชื้อสาเหตุซึ่งอยู่ในดินและซากหญ้า ที่เป็นพืชอาศัยที่ขึ้นอยู่บริเวณใกล้เคียงข้าวโพด การระบาดโดยการสัมผัสของใบที่เป็นโรคกับส่วนต่างๆ ของต้นปกติ เมื่ออุณหภูมิเหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อสาเหตุอยู่ที่ประมาณ 25 ถึง 30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์หรือพบการเกิดโรคน้อย

การป้องกันและกำจัด

  1. ใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นที่สมบูรณ์และปราศจากโรค
  2. หมั่นสำรวจอยู่เสมอ ในระยะต้นข้าวโพดอายุได้ 40-50 วัน เมื่อพบโรคระบาดให้ถอนและเผาทำลายในระยะออกฝัก หากพบฝักเป็นโรคมีเมล็ดเชื้อราสาเหตุลักษณะคล้ายเม็ดผักกาด เมื่อเก็บไปทำลายและพยายามอย่าให้เม็ดเชื้อราร่วงหล่นในแปลงแพร่โรคต่อไป
  3. ทำลายเศษเหลือของต้นข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวแล้ว และก่อนปลูกฤดูต่อไปให้ไถพลิกดินขึ้นมาตากแดดหลายๆ ครั้ง เติมอินทรียวัตถุในแปลงปลูก เตรียมดินให้มีการระบายน้ำดี
  4. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชหนาแน่น ลดการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง ปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัยโรค พืชอาศัยของโรคนี้ได้แก่ ข้าว, ถั่วเหลือง, ถั่วลิสง, ถั่วต่างๆ และอ้อย
  5. การใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคมีรายงานว่า carbendazim, benodanil, validamycin, Topsin M และ Rhizolex สามารถควบคุมโรคได้ การใช้สารปฏิชีวนะจิงกัง มัยซิน ในประเทศจีนก็มีรายงานว่าให้ผลดี
  6. เพิ่มอินทรียวัตถุในแปลงปลูก และเพิ่มเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ เช่น Trichoderma harzianum, T.viride หรือ Bacillus subtilis จุลินทรีย์เหล่า นี้สามารถเจริญแข่งขันและย่อยสลายเส้นใยของเชื้อรา R. solani f. sp. sasakii สาเหตุโรคนี้ได้

โรคใบจุด
เป็นโรคที่มีความสำคัญโรคหนึ่ง
อาการของโรค
เกิดจากเชื้อรา ส่วนใหญ่จะพบเห็นบนใบ แต่บางครั้งอาจพบบนกาบใบและฝักด้วยระยะแรกเกิดเป็นจุดเล็ก ๆ ขนาด 1 ถึง 2 มิลลิเมตร ต่อมาตรงกลางจุดจะแห้งมีสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน ขอบแผลสีน้ำตาลแดง ในที่สุดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลไหม้ ขนาด 1 เซนติเมตร มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง พบเมื่ออากาศร้อนชื้น

การแพร่ระบาด
เชื้อราสามารถแพร่ระบาดได้โดยลม ฝน หรือติดไปกับเมล็ด

การป้องกันและกำจัด

  1. ใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นที่ปลอดจากโรค
  2. หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง และปลูกพืชหนาแน่น

แมลงศัตรูข้าวโพดหวานญี่ปุ่น
มอดดินหรือมอดช้าง
มอดดินเป็นด้วงงวงขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในดิน กัดกินใบและต้นข้าวโพดที่เพิ่งงอกจนกระทั่งอายุ 2 สัปดาห์ให้เสียหายได้ พบมากที่สุดในเดือนสิงหาคม

การป้องกันและกำจัด

  1. การ ใช้สารเคมีกำจัดแมลงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพราะมอดดินระบาดเข้าทำลายข้าวโพดตั้งแต่งอกถึงประมาณ 10 วันเท่านั้น การทำลายจะรุนแรงเนื่องจากต้นพืชยังเล็ก
  2. ควรคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเคมีกำจัดแมลง ได้แก่ ฟูราไทโอคาร์บ  ในอัตรา 10-15 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม หรือคาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% เอสที) อัตรา 20 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม ก่อนปลูก

หนอนกระทู้หอมหรือหนอนหลอดหอม
เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก หนอนกระทู้หอมทำลายกล้าข้าวโพด ทำให้ข้าวโพดในระยะต้นกล้าเสียหายอยู่เสมอ โดยหนอนจะกัดกินตั้งแต่ข้าวโพดงอกได้ประมาณ 3 ถึง 5 วัน จนถึงอายุ 3 สัปดาห์ ทำให้ข้าวโพดที่ถูกกัดกินตายในที่สุด

การป้องกันกำจัด

  1. ใช้เชื้อไวรัสเอ็นพีวี อัตรา 12 มิลลิลิตร ฉีดพ่น 3 ครั้ง ตอนเย็น แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน
  2. ใช้สารเคมีกำจัดแมลงไตรฟูมูรอน (อัสซิสติน 25เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี) ในอัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไซเปอร์เมทริน
    (5 เปอร์เซ็นต์ อีซี) ผสมโมโนโครฟอส (20 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวเอสซี) อัตรา 40 มิลลิเมตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น จะให้ผลในการป้องกันกำจัดได้ดีในช่วง 2 สัปดาห์

หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด
เป็นแมลงศัตรูข้าวโพดฝักอ่อนชนิดหนึ่ง จะเข้าทำลายตั้งแต่ข้าวโพดอายุ 20 วันเป็นต้นไป โดยปกติแล้วหนอนชนิดนี้จะเป็นศัตรูสำคัญของข้าวโพดไร่ เพราะมีระบาดอยู่เป็นประจำ และจะทำให้ผลผลิตลดลง 10 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในข้าวโพดฝักอ่อนนั้นจะทำให้คุณภาพของฝักเสียไป ถึงแม้ว่าหนอนจะชอบเข้าทำลายลำต้นมากกว่าฝักก็ตามแต่เมื่อมีการระบาดมากหนอนจะเข้าทำลายฝักด้วย

การป้องกันและกำจัด

  • ใช้สารเคมีกำจัดแมลงคาร์โบฟูแรน (ฟูราดาน 3 เปอร์เซ็นต์ จี) หยอดที่ยอดอัตรา 8 กิโลกรัมต่อไร่ จำนวน 2 ครั้ง ในช่วงที่ข้าวโพดมีอายุ 30 และ 45 วัน
  • ส่วนข้าวโพดในระยะออกดอกออกไหม ควรใช้ไตรฟูมูรอน (อัลซิสติน 25%ดับบลิวพี) อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่น

หนอนเจาะฝักข้าวโพด
กินไหมและเจาะปลายฝัก ทำให้ข้าวโพดหวานเสียหาย ถ้าระบาดในระยะฝักได้รับการผสมเกสรแล้วจะไม่มีผลกระทบต่อผลผลิตเพราะหนอนกัดกินที่ปลายฝักเท่านั้น

การป้องกันและกำจัด

  • ใช้เมโธมิล (แลนเนท 90% ดับบลิวพี) และโมโนโครโตฟอส (อโซดริน 56 % อีซี) ฉีดพ่นเฉพาะที่ฝัก

ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : www.baanjomyut.com, zen-hydroponics.blogspot.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *