การปลูกไพล
รวยง่ายๆ ด้วย การปลูกไพล เพราะ การปลูกไพล ลงทุนน้อย ปลูกง่าย ดูแลง่าย จำหน่ายได้กำไรงาม ที่สำคัญ ประหยัดต้นทุนการใช้สารเคมี และแรงงานด้วยนะคะ ถ้าเรามีพื้นที่ไม่มาก ก็สามารถปลูกใส่กระถางหรือภาชนะที่มีช่องระบายน้ำ หรือปลูกแซมระหว่างแปลงพืชผลหลักในพื้นที่ของเรา โดยไม่ต้องกังวลเรื่องตลาด ในแต่ละท้องถิ่นของไทย ไพล มีต่าง ๆ กันไป เช่น ภาคเหนือเรียก “ปูเลย”, ภาคกลางเรียก “ไพล” หรือ “ว่านไฟ”, แม่ฮ่องสอนเรียก “มิ้นสะล่าง”, ภาคอีสานเรียก “ไพล” หรือ “ว่านปอบ”
ลักษณะโดยทั่วไป
- ไพล เป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน เจริญงอกงามในทุกฤดูฝน ต้นโทรมในทุกฤดูหนาว
- หัว ลงหัวในดินเป็นแง่งติดกันเป็นพืดเหมือนว่านหรือขิง สูงประมาณ 1 ถึง 1.5 เมตร
- เหง้า มีขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน เนื้อในเหง้าสีเหลือง มีกลิ่นหอมร้อนเฉพาะตัว
- ใบ รูปร่างเรียวยาว ปลายใบแหลม
- ดอก เป็นช่อ ลักษณะเป็นแท่งกลมยาวปลายแหลมออกจากเหง้าใต้ดิน ดอกเป็นเกล็ดซ้อนทับกันเป็นปุ่มคล้าย ลูกตุ้มถ่วงนาฬิกา โตกลม ปลายแหลม คล้ายลูกมะกอก มีดอกเล็กๆ แซมออกตามเกล็ด ดอกมีความสวยงามเช่นเดียวกับดอกขิง หรือดอกกะทือ กลีบดอกสีนวลใบประดับสีม่วง
การขยายพันธุ์
ไพลสามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด หรือ ใช้แง่งหรือเหง้าซึ่งเป็นส่วนของลำต้นใต้ดิน โดยทั่วๆ ไปจะใช้ส่วนของเหง้าเป็นท่อนพันธุ์ในการปลูก
ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง ใน การปลูกไพล
สภาพพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูก
- น้ำไม่ท่วมขัง
- ไม่อยู่ใกล้แหล่งสารพิษ
สภาพดิน
ดินร่วนซุย หรือดินที่มีการระบายน้ำไม่ดี หากมีน้ำท่วมขัง ไพลจะเน่าเสีย โดยเฉพาะดินที่มีสภาพเป็นกรด เมื่อมีฝนชุกหรือความชื้นในดินสูง จะทำให้เกิดโรคแง่งเน่า
สภาพอากาศ
ไพลควรได้รับแสงแดดพอสมควร
ขั้นตอน การปลูกไพล
การปลูก สามารถทำได้ 3 วิธี คือ
- ปลูกโดยใช้เหง้า ตัดเป็นท่อน ๆ ชุบด้วยสารป้องกันเชื้อรา ทิ้งไว้สักครู่ แล้วทำการปลูกลงในแปลงที่เตรียมไว้
- ปลูกโดยใช้เหง้าเพาะให้งอกก่อน โดยทำการเพาะเหง้าที่ตัดเป็นท่อน ๆ ในกระบะทราย ให้แทงยอด แตกใบประมาณ 2 ถึง 3 ใบ จึงย้ายลงปลูกในแปลงปลูก
- แยกกอแล้วนำไปปลูก
การเตรียมดิน
- ผสมดินร่วน แกลบดิบ ทรายหยาบ ให้เข้ากัน ทรายหยาบจะทำให้ดินร่วนระบายน้ำได้ดี และเมื่อถึงเวลาขุดจะทำให้ขุดง่ายและ ล้างดินออกได้ง่าย ใส่ลงในภาชนะ และนำท่อนพันธุ์ หรือกอที่แยกมาลงปลูก กลบดินแล้วรดน้ำพอชุ่ม
- ถ้าทำแปลง ยกร่อง ให้ไถพรวนดิน กำจัดวัชพืช และผสมแกลบดิบ ทรายหยาบ ลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน และทำการปลูก
การให้น้ำ
- หลังปลูกในระยะแรก รดน้ำพอชุ่มวันละ 1 ครั้งในตอนเช้า
- เมื่อต้นโต เว้นระยะการรดน้ำ แต่ควรสังเกตสภาพอากาศ และสภาพดิน หากอากาศร้อนจัด ฝนทิ้งช่วง หรือดินแห้งไป ควรรดน้ำเพิ่ม
การให้ปุ๋ย
ควรใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก แต่ถ้าดินเป็นดินร่วนซุย หรือมีความอุดมสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย
การกำจัดวัชพืช
เมื่อมีวัชพืชขึ้น ควรรีบกำจัด หากปล่อยทิ้งไว้จะกำจัดยาก
***ห้ามใช้ปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีกำจัดวัชพืช เนื่องจาก ไพล ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางยา***
การป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช
โดยปกติแล้ว ไพล ไม่ค่อยจะมีโรคหรือแมลงศัตรูมาทำความเสียหาย แต่ควรระวังเรื่องการระบายน้ำ อย่าให้ท่วมขัง ป้องกันโรคแง่งเน่า ซึ่งหากเกิดปัญหานี้ ให้รีบแก้ไขเรื่องการระบายน้ำในทันที
การเก็บเกี่ยว
- ระยะเก็บเกี่ยว ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงวันที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไพล จะใช้ระยะเวลานาน 2 ถึง 3 ปี เป็นระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะจะทำให้ได้น้ำมัน ไพล ที่มีปริมาณและคุณภาพสูง
- วิธีการเก็บเกี่ยว ใช้ เสียมขุดเหง้าไพลขึ้นมาจากดิน ระวังไม่ให้เกิดแผลหรือรอยช้ำกับเหง้า เขย่าดินออก ตัดรากแล้วนำไปผึ่งลมให้แห้ง
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
- หัวไพลที่ตัดราก และผึ่งลมให้แห้งแล้ว เก็บบรรจุกระสอบพร้อมที่จะนำไปสกัดน้ำมัน โดยเครื่องกลั่นไอน้ำ
- สำหรับไพลที่จะนำไปผลิตเป็นลูกประคบแห้ง ให้คัดเลือกส่วนที่สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลง มาล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง จากนั้น นำสมุนไพรมาทำให้แห้ง โดยหั่นเหง้าไพลเป็นชิ้นบาง ๆ วางบนถาดหรือกระด้ง เกลี่ยให้บาง คลุมด้วยผ้าขาวบางเพื่อป้องกันฝุ่นละออง และป้องกันการปลิวนำไปตากแดดให้แห้ง หมั่นกลับบ่อย ๆ หรือโดยการอที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส สำหรับ 8 ชั่วโมงแรก แล้วลดอุณหภูมิลงเป็น 40 ถึง 45 องศาเซลเซียส หมั่นกลับบ่อยๆ จนแห้ง
ประโยชน์ของไพลด้านอื่นๆ
ไพลกับความงาม
หัวไพลไพลขัดผิว เหง้าสามารถนำมาใช้ทำเป็นแป้งไว้สำหรับขัดผิวได้ โดยจะช่วยทำให้ผิวดูผุดผ่อง ช่วยปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระ ช่วยลดเลือนริ้วรอย จุดด่างดำและไม่ทำให้เกิดสิว
วิธีการทำไพลขัดผิว
- นำเหง้าไพลมาหั่นแบบหยาบ ๆ ประมาณ 4 ช้อนโต๊ะ ใส่ลงในโถปั่น
- นำดินสอพอง 3 ถ้วยตวง มาทุบให้พอแตก แล้วใส่ลงไปในเครื่องปั่นและปั่นจนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน
- เติมน้ำต้มสุก 1 ถ้วยตวง และปั่นให้เข้ากันอีกครั้ง เมื่อได้ครีมเป็นเนื้อเดียวกัน
- นำมาปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ แล้วนำไปตากแดดให้แห้งสนิทเก็บไว้ใส่ขวด ก็จะได้แป้งไพลที่สามารถนำมาใช้ขัดผิวได้
วิธีใช้
นำมาผสมกับน้ำเย็น แล้วพอกผิวทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีแล้วค่อยล้างออก
ไพลทาหน้าหรือการพอกหน้าด้วยไพล
- ใช้แป้งไพลจำนวน 2-3 ก้อนนำมาผสมกับน้ำเย็น
- พอกหน้าก่อนเข้านอน ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีแล้วล้างออก จะช่วยทำให้ผิวหน้าดูอ่อนนุ่ม
***สามารถเติมนมสดหรือโยเกิร์ตประมาณ 2 ช้อนชาลงไปด้วยได้***
การใช้ไพล ป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราสาเหตุโรคพืช
- บดไพลแห้งให้ละเอียด แล้วละลายในแอลกอฮอล์ในอัตราส่วนร้อยละ 15 โดยน้ำหนัก
- นำไปฉีดพ่น หรือนำไปใช้หมักเช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรขมิ้น
การใช้ไพล ทำยากันยุง
- ใช้น้ำมันไพล ซึ่งจะต่างกับน้ำมันหอมระเหยอื่น ๆ ตรงที่เมื่อถูกกับผิวหนัง แล้วจะไม่ รู้สึกร้อน เมื่อทาผิวหนังจะป้องกันยุงได้ หรือ
- ใช้ผงเหง้าไพลแช่ในแอลกอฮอล์ 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 12 ถึง 48 ชั่วโมง
กรอง แล้วนำน้ำไปทำให้ เข้มข้นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ทาตามแขนขา ป้องกันยุงกัดได้นานถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง หรือใช้ขี้ผึ้งไพล ความเข้มข้น 30 เปอร์เซ็นต์ จะป้องกันยุงกัดได้นานถึง 3 ชั่วโมง
ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.everysale.thaicentralgarden.com, www.hort.ezathai.org, www.halsat.com)