ตะไคร้
ตะไคร้ เป็นหนึ่งในผักสวนครัวที่อยู่ปลูกอยู่ในบริเวณบ้าน มีชื่อเรียกตามภาษาถิ่นหลายชื่อ ปัจจุบัน ตะไคร้เป็นพืชทำเงิน สร้างรายได้ที่งดงามให้เกษตรกร…ปลูกแล้วรวย บ้างก็ปลูกตามคันนา ร่องสวน หรือปลูกผสมกันพืชชนิดอื่น หรือปลูกตะไคร้เพียงอย่างเดียวได้ทั้งพื้นที่ สำหรับตะไคร้แล้ว ไม่มีพื้นที่มาก ก็สามารถปลูกได้ แต่หลายคนคง ที่ไม่เคยปลูกตะไคร้ หรือเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ อาจจะไม่เคยรู้มาก่อน ว่าตะไคร้มีกี่ประเภท มีประโยชน์อย่างไร และมีโทษหรือไม่
ประเภทของ ตะไคร้
แบ่งให้จำได้ง่ายๆ คือ ตะไคร้กิน ( หรือแกง ) และตะไคร้หอม
ความแตกต่างของตะไคร้กิน และ ตะไคร้หอม
ตะไคร้กิน (Lemon Grass)
หรือ ตะไคร้บ้าน ตะไคร้แกง คาหอม จะไคร เชิดเกรย เหรอะเกรย และไคร
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ของตะไคร้กิน
- ต้น เป็นไม้ล้มลุกจะขึ้นเป็นกอใหญ่ สูงประมาณ 1เมตร ลำต้นตั้งตรง แข็ง เกลี้ยง และตามปล้อง (กาบของโคนต้น) มักมีไขปกคลุมอยู่ ความสูงวัดจากโคนถึงกาบใบ ประมาณ 30 เซนติเมตร
- ใบ ใบเดี่ยว แตกออกเป็นกอ รูปขอบขนาน ปลายใบแหลมยาว 30 ถึง 60 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 ถึง 2 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนระคายมือเล็กน้อย ส่วนด้านล่างจะเรียบ ขอบใบเรียบ
สรรพคุณ
- ทั้งต้น ใช้เป็นยารักษาโรคหืด แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ และแก้อหิวาตกโรค และยังใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่น รักษาโรคได้ เช่น บำรุงธาตุ เจริญอาหาร และขับเหงื่อ
- ใบ ใบสด ๆ ช่วยลดความดัน โลหิตสูง แก้ไข้
- ราก ใช้เป็นยาแก้ไขปวดท้องและท้องเสีย
- ต้น ใช้เป็นยาขับลม แก้เบื่ออาหาร แก้โรคทางเดินปัสสาวะ นิ่ว เป็นยาบำรุงธาตุไฟให้เจริญ และนอกจากนี้ยังใช้ดับกลิ่นคาวด้วย
- น้ำมัน มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา และมีกลิ่นไล่สุนัขและแมว
ตำรายาไทย : ต้น รสหอมปร่า ขับลม ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด แก้อาการเกร็ง ขับเหงื่อ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้อาการขัดเบา แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ทำให้เจริญอาหาร ลดความดันโลหิต เหง้า แก้เบื่ออาหาร บำรุงไฟธาตุ แก้กระษัย ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ปัสสาวะขัด แก้ปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว เป็นยารักษาเกลื้อน แก้ไข้หวัด ขับประจำเดือน ขับระดูขาว ใช้ภายนอกทาแก้อาการปวดบวมตามข้อ
ตำรายาพื้นบ้านนครราชสีมา : ใช้ทั้งต้น ลดไข้ โดยนำมาต้มจนเดือดประมาณ 10 นาที ยกลงดื่มครั้งละครึ่งแก้วสามเวลา ใช้ภายนอกรักษาโรคผิวหนังโดยต้มกับน้ำและนำมาอาบ
ตำรับยาสมุนไพรล้านนา : ใช้รักษาอาการบวมในเด็ก วัยกลางคน และคนชรา โดยในตำรับประกอบด้วยตะไคร้ และสมุนไพรอื่นอีก 13 ชนิด นำไปต้มอาบ
วิธีการนำตะไคร้มาทำยารักษาโรคเบาหวาน
วิธีที่ 1 นำลำต้นตะไคร้มาจำนวน 1 ถึง 2 ต้น มาต้ม โดยผสมน้ำ ประมาณ 1 ลิตร ต้มให้เดือด ดื่มวันละ 3 เวลา ก่อนรับประทานอาหาร 5 นาที ดื่มครั้งละ 1 แก้ว
วิธีที่ 2 นำใบตะไคร้ ประมาณ 9 ถึง 10 ใบ มาต้ม โดยผสมน้ำ ประมาณ 1 ลิตร ต้มให้เดือด ดื่มวันละ 3 เวลา ก่อนรับประทานอาหาร 5 นาที ดื่มครั้งละ 1 แก้ว
คำแนะนำ : ควรทำอย่างต่อเนื่อง และควบคุมอาหารควบคู่ไปด้วย แล้วโรคเบาหวานจะทุเลาเบาบางลง
ตะไคร้หอม (Citronella Grass)
หรือ ตะไคร้แดง ตะไคร้มะขูด จะไคร มะขูด
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ของตะไคร้หอม
ต้น เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรง แต่แตกเป็นกอสูงประมาณ 2 เมตร ที่โคนมีกาบเป็นชั้น ๆ เหมือนตะไคร้บ้าน แต่ไม่มีไขปกคลุม ความสูงวัดจากโคนต้น ถึงกาบใบประมาณ 60 ถึง 75 เซนติเมตร ลำต้นจะหยาบหรือเหนียวและแข็งกระด้างกว่าตะไคร้กิน ใบ ยาวและกว้างกว่าตะไคร้บ้าน ยาวประมาณ 1เมตร กว้าง 2 ถึง 2.5 เซนติเมตร เส้นกลางใบแข็ง ขอบใบมีขนขึ้นเล็กน้อย เมื่อส่องดูในที่มีแสงสว่างจะเห็นว่าขอบใบไม่เรียบ และผิวใบจะสากมือทั้งสองด้าน กาบใบจะมีสีขาวอมแดงหรืออมม่วง(ยิ่งแก่ยิ่งเห็นชัด)
สรรพคุณ
- ทั้งต้น ใช้เป็นยาแก้ปากแตกระแหง แก้ริดสีดวงในปาก ขับลมในลำไส้ แก้แน่น ขับโลหิตระดู มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบบีบตัว ผู้ที่มีครรภ์รับประทานเข้าไปอาจทำให้แท้งได้
- ใบ ใช้เป็นยาคุมกำเนิด ชำระล้างลำไส้ ไม่ให้เกิดซาง
- ราก แก้ลมจิตรวาด หัวใจ กระวนกระวาย ฟุ้งซ่าน
- ต้น แก้ลมพานไส้ แก้ธาตุ แก้เลือดลมไม่ปกติ
- น้ำมัน ใช้ทาป้องกันยุง มีฤทธิ์ไล่แมลงและใช้รักษาโรคเห็บสุนัข
ตำรายาไทย : ใช้ เหง้า เป็นยาบีบมดลูก ทำให้แท้งบุตรได้ คนมีครรภ์ห้ามรับประทาน ขับประจำเดือน ขับปัสสาวะ ขับระดูขาว ขับลมในลำไส้ แก้แน่น แก้แผลในปาก แก้ตานซางในลิ้นและปาก บำรุงไฟธาตุ แก้ไข้ แก้อาเจียน แก้ริดสีดวงตา แก้ธาตุ แก้เลือดลมไม่ปกติ เหง้า ใบ และกาบ นำมากลั่นได้น้ำมันหอมระเหย ใช้เป็นเครื่องหอม เช่น สบู่ หรือพ่นทาผิวหนังกันยุง แมลง ทั้งต้น มีรสปร่า ร้อนขม แก้ริดสีดวงในปาก
ข้อควรระวัง : ตะไคร้หอมมีฤทธิ์ที่จะช่วยขับโลหิต ทำให้มดลูกบีบตัว ห้ามใช้กับหญิงตั้งครรภ์เพราะอาจจะทำให้แท้งได้
ประโยชน์จากน้ำมันหอมระเหยของตะไคร้
- น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้บ้าน ช่วยกระตุ้นให้ตื่นตัว มีชีวิตชีวา ทำให้กระปรี้กระเปร่า คลายเครียด
- แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร ช่วยเจริญอาหาร
- บรรเทาอาการปวดโรคข้ออักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดข้อได้
- ช่วยต่อต้านเชื้อราบนผิวหนังได้เป็นอย่างดี
- ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ได้
ข้อควรระวัง :
- การใช้นำมันหอมระเหยตะไคร้ต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง น้ำมันจากตะไคร้บ้านใช้ผสมน้ำมันนวดตัวเพื่อต่อต้านเชื้อราบนผิวหนังได้ แต่น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอมจะใช้สำหรับไล่ยุงและใช้รักษาโรคเห็บสุนัขเป็นส่วนใหญ่
- ห้ามใช้น้ำมันหอมระเหยโดยตรงกับผิวเด็ดขาด
คุณค่าทางโภชนาการของตะไคร้
วิตามิน และแร่ธาตุ ตะไคร้ใช่ว่ามีประโยชน์แค่ใช้ปรุงอาหารเท่านั้น เพราะตะไคร้อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากมาย ทั้งวิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินบี นอกจากนี้ยังมีโฟเลต แมกนีเซียม สังกะสี ทองแดง ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมงกานีส
ตะไคร้ช่วยล้างสารพิษ
ตะไคร้ มีคุณสมบัติในการล้างสารพิษในร่างกายด้วยการทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากสารเคมีที่อยู่ในตะไคร้จะช่วยทำความสะอาดระบบย่อยอาหาร อย่างเช่น ตับ ตับอ่อน ไต และกระเพาะปัสสาวะ ขับสารพิษและกรดยูริกออกจากร่างกาย ทำให้ระบบย่อยอาหารสะอาดขึ้น และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตะไคร้กับความงาม
ตะไคร้เป็นสมุนไพรที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถช่วยบำรุงผิว ทำให้ผิวเปล่งประกายความมีสุขภาพดีออกมา ช่วยให้ผิวดูอ่อนเยาว์ และช่วยลดสิวต่าง ๆ
ตะไคร้เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
ปัจจุบันมีการนำตะไคร้มาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มกึ่งสำเร็จรูปสำหรับคนรักสุขภาพ ในรูปแบบ ตะไคร้ผง หรือตะไคร้อบแห้ง
ได้รู้จักกับตะไคร้กันแล้ว ไปศึกษาวิธีการปลูกตะไคร้ ในบทความ การปลูกตะไคร้ให้รวย กันนะคะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.pobpad.com, www.kapook.com, สมุนไพรไทยรักษาเบาหวาน blogspot.com, facebook: khajeespa & massage, หนังสือผักสมุนไพรใกล้ตัว)