การดูแลมันม่วงหรือมันเทศญี่ปุ่นสีม่วงหลังการปลูก
การดูแลมันม่วง หรือมันเทศญี่ปุ่นสีม่วง หลังการปลูก มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ว่าจะเป็น การให้น้ำ การให้ปุ๋ย การกำจัดวัชพืช แต่สิ่งที่ต้องดูแลเป็นพิเศษคือ โรคและแมลงศัตรูมันเทศนั่นเอง
ขั้นตอน การดูแลมันม่วง
การให้น้ำ
การปลูกมันม่วงในฤดูฝน ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ การปลูกในฤดูแล้ง ในระยะแรกของการปลูกมันม่วง 20 ถึง 30 วัน หลังการปลูก ควรให้น้ำสม่ำเสมอ จนกว่ามันม่วงจะเลื้อยคลุมแปลง จากนั้นให้น้ำอีกเดือนละ 1 ถึง 2 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ใช้ปลูก สาเหตที่จำเป็นต้องให้น้ำมันม่วงอยู่เสมอ เพราะ มันม่วงจะแสดงอาการเผือใบไม่ค่อยลงหัว
การให้ปุ๋ย
ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ตอนเตรียมดินในแปลงปลูก
***ไม่ควรใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เช่น ปุ๋ยยูเรีย ในแปลงมันม่วง เพราะมันม่วงจะเจริญทางยอดมากกว่าทางรากมีการลงหัวน้อย*** ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี จะไม่ใส่ปุ๋ยก็ได้ ถ้าดินไม่อุดมสมบูรณ์ควรใส่ปุ๋ย อัตรา 50 ถึง 80 กิโลกรัมต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง โดยรองก้นหลุมและใส่หลังปลูก 45 วัน เป็นครั้งที่ 2 ไม่ควรหว่าน แต่ควรใช้ไม้ปลายแหลมเจาะดินหลังแปลง ให้เป็นหลุม ระหว่างระยะปลูกมันม่วงแต่ละต้น เป็นหลุมเล็กๆ แล้วหยอดปุ๋ย
การกำจัดวัชพืช
พยายามกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ เพื่อง่ายต่อการกำจัด และลดหรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ทั้งยังช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืช และโรคของมันม่วงได้
การตลบเถามันเทศ
การปลูกมันม่วงฤดูฝน ควรตลบเถาขึ้นบนหลังแปลง เพื่อป้องกันไม่ให้เถามันม่วงแตกรากใหม่ที่ข้อ จะเกิดเป็นหัวมันม่วงเล็กๆ มีผลกระทบต่อหัวมันม่วงที่อยู่โคนต้น จะลงหัวได้น้อยลง ควรตลบเถามันม่วงทุกๆ เดือน การปลูกในฤดูหนาว หรือฤดูร้อนมีความชื้นน้อย ไม่ควรตลบเถามันม่วงขึ้นหลังแปลง เพราะมันม่วงะชะงักการเจริญเติบโต ดินในแปลงมันม่วงจะแห้งเร็ว และลงหัวน้อย
การดูแลยอดเครือ ของมันม่วง ระหว่างรอผลผลิต
มันม่วง หรือมันเทศญี่ปุ่นสีม่วง ที่ปลูกไปแล้วกว่า 2 เดือนจะเริ่มยืดยาวเลื้อยลงล่างแปลงปลูกและเริ่มหยั่งรากลงดิน ให้ถอนเครือที่เลื้อยลงแปลงออก แต่ต้องระวังไม่ให้ต้นหรือรากขาด ต้นที่เลื้อยออกหลังจากหยั่งรากใหม่ จะกลายเป็นหัวมัน
การผลิตมันม่วง ปลอดสารพิษ
- ควรมีการสำรวจศัตรูพืชทั้งด้านโรคพืช และแมลงศัตรู ที่ทำให้เกิดความเสียหายกับผลผลิตในแปลง โดยทำการสำรวจทุก 2 สัปดาห์ เมื่อพบอาการโรคหรือแมลงศัตรู ควรกำจัดโรคและแมลงศัตรูมันมันม่วงในทันที
- ควรป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน
- ถ้ามีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ให้เลือกใช้ชนิดของสาร อัตรา และระยะเวลาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ต้องไม่ใช้สารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายที่ห้ามใช้ทางการเกษตรตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
- ต้องหยุดใช้สารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยวตามเวลาที่ระบุในคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- จดบันทึกการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง
การป้องกัน และกำจัด โรค และแมลงศัตรู ในมันม่วง
โรคมันม่วง
โรคหัวมันเน่า เกิดจากเชื้อราเข้าทำลายมันม่วงทางบาดแผล อาจเกิดจากการกระแทกของอุปกรณ์การเกษตร หรือหนู หรือแมลงในดินทำลาย แผลจะมีสีน้ำตาลอ่อนจนถึงดำ ผิวเมื่อแก่จะแข็งกระด้าง
วิธีการป้องกันกำจัด
- ระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผลขณะขุดหรือการขนส่ง
- เก็บรักษามันม่วงในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรกองสุมกัน ถ้าเป็นโรคควรคัดหัวเน่าทิ้ง
โรคใบจุด
ใบมันม่วงจะเป็นจุดสีน้ำตาล แลรูปร่างไม่แน่นอน ใบแก่จะร่วงก่อนกำหนด ลำต้นอ่อนแอ มันม่วงจะลงหัวได้น้อย
วิธีการป้องกันกำจัด
ใช้สารเคมี เช่น แมนโคเซบ ตามอัตราคำแนะนำของฉลาก พ่นเป็นครั้งคราว เมื่อพบว่ามีโรคใบจุดระบาด
โรครากปม
เกิดจากไส้เดือนฝอยเข้าทำลาย ทำให้รากบวมโตเป็นปม มันม่วงจะลงหัวน้อยมีลักษณะหัวผิดปกติ
วิธีการป้องกันกำจัด
- ใช้นีมาเคอร์ เฟนามิฟอส 10 เปอร์เซนต์ จี อัตรา 6 กิโลกรัม ต่อไร่
- ปลูกพืชตระกูลถั่วสลับกับปลูกมันม่วง
แมลงศัตรูมันม่วง
ด้วงงวงมันเทศ
ด้วงงวงมันเทศ เป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก ปีกน้ำเงินปนดำคอสีน้ำตาลแดง มีงวง ตัวหนอนจะอยู่ในเถาและหัวมันเทศ จะชะงักการเจริญเติบโต เมื่อมีหนอนอยู่ในหัวมันเทศ ทำให้หัวมันมีกลิ่นเหม็น รสขม ทำให้หัวมันเทศเน่าได้
วิธีการป้องกันกำจัด
- ไม่ควรปลูกมันม่วงซ้ำที่เดิม หรือปล่อยน้ำเข้าขังในร่องแปลงก่อนปลูกนาน 20 ถึง 30 วัน ต่อครั้ง จะทำลายไข่ ตัวอ่อน และตัวแก่ของด้วงงวงมันเทศได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี
- การปลูกในฤดูแล้ง ไม่ควรปล่อยให้ดินแตกระแหงเป็นช่องว่าง ทำให้ด้วงงวงมันเทศเข้าทำลายมันม่วงได้ ควรรดน้ำไม่ให้ดินแตกระแหง
- หลังจากขุดเก็บเกี่ยวมันม่วงแล้ว ควรไถแปลงมันม่วงทันที ไม่ควรปล่อยให้มีเศษของเถาหรือหัวมันม่วงอยู่ในแปลง เพราะจะเป็นแหล่งสะสมด้วงงวงมันเทศ
- การใช้สารเคมี คาร์โบซัลแฟน อัตรา 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร จุ่มเถามันม่วง 5 นาที ก่อนนำไปปลูก หรือเมื่อมันม่วงอายุ 15 ถึง 20วัน ต่อครั้ง
- งดการใช้สารเคมีทุกชนิด อย่างน้อย 3 สัปดาห์ ก่อนการเก็บเกี่ยว
หนอนเจาะเถามันเทศ
เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืน วางไข่ตามก้านใบและเถามันเทศ เถาที่ถูกหนอนเจาะมีลักษณะบวม ปุ่มปมใบจะเหี่ยว และตายทั้งเถามีผลทำให้เถามันเทศลงหัวน้อย
วิธีการป้องกันกำจัด
ใช้สารคาร์โบซัลแฟน อัตรา 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นบริเวณโคนเถามันม่วงเมื่อมีหนอนระบาด
ผลิตภัณฑ์ จากการแปรรูปมันม่วง
ในปัจจุบัน มีการนำมันม่วง มาเป็นส่วนประกอบของอาหาร นำมาทำขนมหวาน ทั้งไทย และเทศ นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูป ในกลุ่มของอุตสาหกรรมอาหาร เป็น แป้งมันม่วง หรือ มันม่วงผง มันม่วงได้กลายเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ทั้งในกลุ่มผู้ที่รักสุขภาพ และผู้ที่รักการบริโภคอาหารอร่อย
ตลาดมันม่วง
ผู้ที่สนใจปลูกมันม่วง ไม่ต้องกังวลถึงเรื่องการตลาด เนื่องจากทั้งตลาดในประเทศ และตลาดโลก มันม่วงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในปริมาณมาก และยังคงมีราคาจำหน่ายที่สูง
ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.thaigreenagro.com, www.ecitepage.com)