การเลี้ยงกุ้งก้ามแดง
การเลี้ยงกุ้งก้ามแดง ก่อนหน้านี้ไม่นานการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง หรือกุ้งเครย์ฟิช ถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย เป็นประเด็นที่ถกกันทั้งในโลกโซเชียล และในกลุ่มผู้สนใจการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง ซึ่งจริงๆ แล้ว หากมีการให้ข้อมูลอย่างชัดเจนและส่งเสริม การเลี้ยงกุ้งก้ามแดง ให้แพร่หลายมากขึ้น เกษตรกรและประชาชนทั่วไปสามารถทำเป็นอาชีพเสริมจากเกษตรทางเลือกแขนงนี้ หรืออาจทำเป็นอาชีพหลักกันเพิ่มขึ้น ด้วยความที่เลี้ยงดูง่าย โตเร็ว และด้วยราคากุ้งก้ามแดงในท้องตลาดยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรที่ทำนาข้าวแบบอินทรีย์ หรือทำนาข้าวไรซ์เบอร์รี่ ก็มีการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงกันในนาข้าวกันหลายราย ซึ่งเป็นผลดีต่อระบบนิเวศและรายได้ของเกษตรกร แต่กุ้งก้ามแดง เป็นสัตว์ควบคุมพิเศษตามกฎหมายของกรมประมง ถ้าจะเลี้ยงเพื่อการค้าหรือเพื่อจำหน่ายให้ถูกกฎหมาย ต้องไปขอขึ้นทะเบียนก่อน ไม่ว่าจะเลี้ยงด้วยวิธีไหนก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับที่อยู่ในอัตราสูง เพราะกุ้งก้ามแดงเดินทางมาจากต่างบ้านต่างเมือง จึงได้ชื่อว่าเป็น ‘เอเลี่ยนสปีชี่ส์’ ที่อาจสร้างความเสียหายต่อพืชหรือสัตว์น้ำในประเทศ
งงมั๊ยคะ? ว่าทำไมเกษตรกรไทยนำไปเลี้ยงในนาข้าวได้ ข้าวก็พืชไทย มิหนำซ้ำ ระบบนิเวศในนาข้าวกลับดี และไม่ถูกทำลาย แต่ถ้าสนใจจะเลี้ยงแล้ว เก็บความงุนงงสงสัยไว้แล้วไปขอขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมายดีกว่า ข้อยกเว้น สำหรับการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงเพื่อความสวยงาม (เลี้ยงไว้ดูเล่น) หรือ เลี้ยงไว้เป็นอาหารในครัวเรือนนั้นไม่ต้องขอจดทะเบียนเลี้ยงกุ้งก้ามแดง
การจดทะเบียนกุ้งก้ามแดง
เอกสารในการขอจดทะเบียนเลี้ยงกุ้งก้ามแดง ที่ต้องเตรียมไป
- สำเนาบัตรประชาชน 1 ใบ
- สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ใบ
- รูปแผนที่บ้านที่ทำการเพาะเลี้ยงกุ้ง
- ไปที่ หน่วยงานกรมประมงของพื้นที่ที่ใช้เลี้ยงกุ้งก้ามแดง เพื่อขอจดทะเบียน
- ให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่ตามความเป็นจริง เช่น รูปแบบการเลี้ยง, จำนวน, วัน-เวลาที่เริ่มเลี้ยงและปฏิบัติตามขั้นตอน, ข้อกำหนด และคำแนะนำ ของเจ้าหน้าที่กรมประมง
วัสดุ-อุปกรณ์ ที่ต้องเตรียม
- บ่อเลี้ยง หรือ ภาชนะที่ใช้เลี้ยงกุ้งก้ามแดง ซึ่งต้องขอบสูงจากระดับน้ำพอไม่ให้กุ้งก้ามแดงปีนป่ายออกจากบ่อได้
***วงบ่อซีเมนต์ แบบที่ใช้สำหรับเลี้ยงปลา คือมีพื้นบ่อสำเร็จรูปมาแล้ว ให้ทาสีน้ำมันสีฟ้าป้องกันการรั่วซึม จากนั้นตั้งทิ้งไว้ให้กลิ่นสีระเหยไปให้หมดก่อนนำมาเลี้ยงกุ้ง*** - ตู้ปลา ถ้าเลี้ยงเพื่อความสวยงาม และใส่รวมกันหลายตัว แนะนำให้ใช้ตู้ขนาด 24 นิ้ว
- พลาสติกปูบ่อสำหรับบ่อก่ออิฐประสาน และจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบ่อที่เป็นพื้นปูน เพื่อป้องกันการเสียดสีของหางกุ้งกับพื้นบ่อ ทำให้เกิดโรคหางพองได้ เลือกพลาสติกปูบ่อ หรือผ้าปูบ่อชนิดหนา 150ไมครอน (150MC) สีดำ
- ตาข่ายล้อมขอบบ่อ (บ่อดิน) ป้องกันศัตรูกุ้ง ในกรณีที่เลี้ยงในนาข้าว หรือบ่อดิน โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ติดกับแหล่งน้ำธรรมชาติ
- ตาข่ายกรองแสง หรือสแลนที่มีอัตราการกรองแสงหรือความถี่สูง 70 ถึง 80 เปอร์เซนต์ช่วยกรองแสงแดด, ใช้ทำวัสดุหลบซ่อนในบ่อ และใช้กันลมในฤดูหนาว
- ชุดอุปกรณ์ให้อ๊อกซิเจน
- ชุดอุปกรณ์กรองน้ำ ในกรณีที่เลี้ยงจำนวนมาก และ/หรือ สภาพน้ำมีปัญหา
- วัสดุให้กุ้งก้ามแดงหลบภัย หรือหลบในช่วงลอกคราบ เช่น ขวดน้ำพลาสติก (ตัดคอขวดที่แคบออกเพื่อให้กุ้งเข้า-ออกได้), ท่อพีวีซี (ตัดเป็นท่อนประมาณ 1 ฟุต) ใส่ในบ่อให้พอดีหรือมากกว่าจำนวนกุ้ง ถ้ากุ้งขนาดเล็ก ใช้ท่อขนาดเล็ก กุ้งขนาดใหญ่ ใช้ท่อขนาดใหญ่ แต่ที่สำคัญขนาดท่อต้องใหญ่กว่าตัวกุ้ง
- ผ้าใบคลุมบ่อ หรือวัสดุพรางแสง เช่น ซาแรน (กุ้งไม่ชอบแสง การพรางแสงยังช่วยกระตุ้นให้กุ้งเจริญอาหาร กินได้ทั้งวัน)
- บ่ออนุบาล และอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับบ่ออนุบาล
- ปลาหางนกยูง เพื่อช่วยเก็บกินปรสิตในบ่อเลี้ยง ไม่ให้น้ำเน่าเสียง่าย หรือเกิดโรคกับกุ้งก้ามแดง และปลาหางนกยูงเป็นปลาที่เคลื่อนไหวได้เร็ว ไม่เสี่ยงต่อการเป็นอาหารของกุ้งก้ามแดงได้ง่าย
- สาหร่าย หรือจอก
การเตรียมน้ำ
น้ำบาดาล
ต้องเติมเกลือแกง อัตราน้ำ 1000 ลิตร ต่อ 1 กิโลกรัม ทิ้งไว้ก่อนปล่อยกุ้งลงบ่อ เพื่อปรับสภาพน้ำ (ลดอัตราส่วนเกลือ ตามปริมาณน้ำ)
น้ำประปา
ต้องผ่านการกรองแล้วพักไว้ในถังพัก 10 วัน และให้อ๊อกซิเจนกับน้ำในบ่อพักเพื่อขจัดคลอรีน
น้ำสะอาดจากแหล่งน้ำธรรมชาติ
น้ำต้องไม่เน่าเสีย ไม่มีสารเคมีหรือสารพิษปนเปื้อน
***ระดับน้ำในบ่อ หรือภาชนะเลี้ยงกุ้งก้ามแดง ประมาณ 20 ถึง 30 เซนติเมตร***
***บ่อเลี้ยงพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ระดับน้ำลึกเพียง 20 เซนติเมตร***
***น้ำทุกชนิด นอกจากเติมเกลือแกง แล้ว ควรเติมแคลเซียมผงเพื่อช่วยให้เปลือกกุ้งแข็งเร็วเวลาลอกคราบ***
***การเตรียมน้ำ หากมีเครื่องวัดค่า pH หรือวัดความเป็นกรดด่างของน้ำ ค่า pH ของน้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งควรอยู่ที่ 7 ถึง 8.5***
อุณหภูมิ
ปรับอุณหภูมิการเลี้ยงไว้ที่ 20-29 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงไป ใช้พัดลมช่วยลดอุณหภูมิได้ ถ้าอุณหภูมิต่ำไป ใช้หลอดไฟที่กำลังวัตต์ไม่สูงเกินไป หรือเพิ่มระดับให้สูงขึ้น ช่วยเพิ่มอุณหภูมิ ***อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส กุ้งจะไม่กินอาหาร หลบอยู่ในวัสดุหลบภัย และทำให้เกิดคราบสนิมที่ก้าม***
การเตรียมตู้ปลา (เลี้ยงไว้ดูเล่น)
- เตรียมอุปกรณ์ และเตรียมน้ำให้พร้อม
- ใส่วัสดุหลบภัย
- ใส่หินกรวดสำหรับรองพื้นตู้ปลาให้สูง 5 เซนติเมตรขึ้นไป ให้กุ้งขุดคุ้ยกรวด ใช้เป็นที่กำบัง ไม่ควรใช้ทรายรองพื้นตู้ปลา เพราะจะทำให้กุ้งหายใจไม่ออกหากมุดหลบเข้าไปใต้ทราย
การเตรียมบ่อดิน
- กำจัดศัตรูของกุ้งออกจากบ่อเลี้ยง เป็นอันดับแรก เช่น ปลา ปู หอย ฯลฯ
- ปูขอบบ่อด้วยพลาสติกปูบ่อกันน้ำกัดเซาะ
- ล้อมขอบบ่อด้วยตาข่ายเพื่อป้องกันการปีนป่ายหนีออกจากบ่อของกุ้ง
- ใส่วัสดุหลบซ่อน
- ปล่อยน้ำเข้าบ่อและพักน้ำไว้ 2 วัน
การเตรียมบ่อปูน
***ปูนมีฤทธิ์เป็นด้างแก่ ไม่เหมาะสมกับการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงมากนัก แต่กลับเป็นที่นิยม ด้วยความแข็งแรงทนทาน***
***บ่อปูนที่ก่อขึ้นเอง ความสูงประมาณ 3 ก้อนอิฐบล็อค หรือเลือกใช้วงบ่อซีเมนต์สำเร็จรูป เส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ขึ้นไป***
- ล้างทำความสะอาดบ่อปูน และใส่น้ำให้เต็มขอบบ่อ ใส่น้ำส้มสายชู 0.5 ลิตร ลงในบ่อ แช่ทิ้งไว้ 7 วันระบายน้ำออก ล้างให้สะอาด
- ใส่น้ำให้เต็มขอบบ่อ แช่ทิ้งไว้อีก 7 วัน เมื่อครบกำหนด ระบายน้ำและล้างทำความสะอาดบ่อใส่น้ำ(ที่เตรียมไว้ในบ่อพัก) ประมาณ 10 ถึง 20 เซนติเมตร
- เติมเกลือแกงและแคลเซียมผง พักน้ำไว้ในบ่อเลี้ยงประมาณ 3 ถึง 4 ชั่วโมงตรวจเช็ค ความสะอาดของน้ำ หากน้ำสะอาดใสให้เตรียมปล่อยกุ้งลงบ่อ
- ใส่วัสดุหลบซ่อน, สาหร่ายหางกระรอก และปลาหางนกยูง
การปล่อยกุ้งลงบ่อ
- แช่ถุงบรรจุกุ้งในน้ำที่เตรียมไว้ในบ่อก่อนเพื่อปรับอุณหภูมิน้ำในถุงให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิน้ำในบ่อ และให้กุ้งค่อยๆ ปรับตัว ไม่ให้กุ้งน๊อคน้ำ
- ตัดถุง ค่อยๆ เทน้ำจากถุงลงในบ่อ เหลือน้ำพอท่วมกุ้ง
- เทกุ้งออกจากถุง โดยใช้วัสดุที่ลอยน้ำได้รองกุ้งที่เหลือก้นถุง
- รอให้กุ้งปรับสภาพสักครู่ จากนั้นเทกุ้งลงในบ่อ และเปิดเครื่องให้อ๊อกซิเจน
จำนวนกุ้ง ต่อ 1 บ่อเลี้ยง
- กุ้งขนาด 4 ถึง 5 นิ้ว หรือกุ้งที่ใช้เป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์
ตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมีย 3 ตัว ต่อ 1 บ่อ ขนาด 1 ตารางเมตร - กุ้งขนาด 2 นิ้ว
กุ้ง 25 ถึง 30 ตัว ต่อ 1 บ่อ ขนาด 1 ตารางเมตร
กุ้งขนาด 1 นิ้ว
กุ้ง 50 ตัว ต่อ 1 บ่อ ขนาด 1 ตารางเมตร
อาหารกุ้ง
- ให้วันละ 1 ครั้ง ตอนเย็น เพราะกุ้งเป็นสัตว์หากินกลางคืน ส่วนจะเลือกให้อาหารชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้เลี้ยง
- อาหารเม็ดสำเร็จรูป แบบจม (กุ้งกินอาหารที่พื้น) กุ้ง 50 ตัว ในบ่อเลี้ยงขนาด 1 ถึง 2 ตารางเมตร ให้อาหารเพียง 1 กำมือ โดยหว่านให้กระจายทั่วบ่อ หรือ ถ้าเป็นกุ้งขนาดพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ให้ 1 ตัว ต่อ 5 เม็ด
- อาหารเม็ด 1 กำมือ ผสมกับกล้วยสุก (เหลืองทั้งลูก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขับถ่ายของกุ้ง) คลุกให้เข้ากัน หย่อนให้กุ้งกิน เมื่อกล้วยอิ่มน้ำจะลอยขึ้นมาในตอนเช้า ให้ช้อนออกช่วยป้องกันอาหารตกค้างทำให้น้ำเน่าเสียเร็ว
- อาหารวุ้นไข่ (สูตร อ.ประทีป มายิ้ม)
ใช้เลี้ยงกุ้งก้ามแดงได้ทุกขนาด
วิธีทำ - นำไข่แดงต้มสุกครึ่งฟอง บดผสมกับผงวุ้นครึ่งซองให้เข้ากัน
- จากนั้นต้มน้ำให้เดือด นำส่วนผสมที่บดเข้ากันดีแล้วใส่ลงไป คนให้ทั่วสักพัก
- เทส่วนผสมลงในพิมพ์ รอให้แข็งตัว หั่นเป็นชิ้นให้กุ้งกิน ส่วนที่เหลือเก็บไว้ในตู้เย็น (ช่องแช่แข็ง) สำหรับมื้อต่อไป
***กุ้งตัวผู้ กินเก่งกว่าตัวเมีย***
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
***ข้อควรระวัง การให้อาหาร การถ่ายน้ำ หรือการสัมผัสกุ้ง ควรล้างมือให้สะอาด หากมือเปื้อนครีมทามือ, โลชั่น, น้ำหอม, น้ำมันเครื่อง หรือสารเคมีอื่นๆ จะทำให้กุ้งตายได้***
ติดตามบทความ การดูแลกุ้งก้ามแดง ด้วยนะคะ จะได้มีผลผลิตกุ้งก้ามแดงเนื้ออร่อย ตัวโตๆ
(แหล่งข้อมูล: www.baannoi.com, www.youtube.com Foodwork กุ้งก้ามแดง 19/มิ.ย./59, วิธีล้างบ่อปูนใหม่ เพื่อปล่อยกุ้งก้ามแดงลงเลี้ยง, หนังสือ หลากวิธีการเลี้ยง กุ้งก้ามแดง ชีววิถี ต้นทุนต่ำ สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ สุธิพงศ์ ถิ่นเขาน้อย)