การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่
การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ในกลุ่มผู้บริโภค หรือชาวนามือใหม่ที่หันมาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่กันในปัจจุบัน ด้วยความรักสุขภาพ ข้าวไรซ์เบอร์รี่มีคุณปประโยชน์สูง แต่มีราคาสูงตามไปด้วย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้คนสนใจ หันมาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ไว้รับประทานกันเอง ทั้งในที่นาสำหรับคนที่มีพื้นที่ และในยางรถยนต์เก่า หรือวงบ่อซีเมนต์ สำหรับคนที่มีพื้นที่น้อย ถึงแม้ว่า ข้าวไรซ์เบอร์รี่จะเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ ไม่เป็นที่นิยมเพาะปลูกในกลุ่มเกษตรกรมากนัก เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ข้าวที่ดูแลรักษายาก ต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ ต้องปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสภาวะแวดล้อมของพื้นที่เพาะปลูกก็บีบบังคับหากที่นาข้างเคียงยังมีการใช้สารเคมีอยู่ การเกษตรแบบอินทรีย์ก็เป็นไปค่อนข้างยาก รวมไปถึงสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมในบางพื้นที่ ซึ่งลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ในระบบเกษตรอินทรีย์ คือ พื้นที่ในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการรวมกลุ่มของเกษตรกรหรือสมัครเข้าร่วมโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนการปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งจะดูแลในทุกขั้นตอนตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ไปจนถึงการตลาด
ตัวอย่าง โครงการข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ http://www.riceberryvalley.org/ เกษตรกรที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลได้จากลิ้งค์ที่ให้ หรือ ติดต่อ 084-920-8758, 085-408-0178, 086-479-5603
ก่อนศึกษาข้อมูล การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ขอแนะนำที่มาของไรซ์เบอร์รี่ซักนิด… ข้าวไรซ์เบอรี่ (ภาษาอังกฤษ: Rice Berry) เป็นข้าวสายพันธุ์ไทย จากผลงานการปรับปรุงสายพันธุ์ของ รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร และทีมนักวิจัยจาก ศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และความร่วมมือจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยเป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ ระหว่าง ข้าวเจ้าหอมนิล ซึ่งเป็นสายพันธุ์พ่อ + ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นสายพันธุ์แม่ ทำให้ได้ลักษณะที่ดีและคุณประโยชน์เด่นๆ ออกมา ซึ่งพันธุ์ข้าวนี้ได้รับการจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ ห้ามมีการนำไปขยายพันธุ์ในเชิงการค้าต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก วช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทำไมข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีสีม่วง?
สีม่วงเข้มเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ในข้าวไรซ์เบอรี่ มีส่วนประกอบของสารสี ที่เรียกว่า ‘สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin)’ ซึ่งละลายน้ำได้ดี จัดอยู่ในกลุ่มของฟลาโวนอยด์ (flavonoid) หรือสาร “ต้านอนุมูลอิสระ” ที่มีประสิทธิภาพสูง หลายๆ คน มักเข้าใจผิด คิดว่าข้าวไรซ์เบอร์รี่ คือ ข้าวกล้อง ทำความเข้าใจกันใหม่นะคะ…ข้าวกล้อง คือ ข้าวทุกพันธุ์ ที่ผ่านเพียงกรรมวิธีกระเทาะเปลือกออกเท่านั้น แต่จมูกข้าว และเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวยังคงอยู่ ข้าวกล้องจึงมีคุณประโยชน์มากกว่าข้าวขาวที่ขัดสีมาก ในข้าวกล้อง มีวิตามินบี1ในปริมาณสูง วิตามินบี2 มีวิตามินบีรวม ธาตุฟอสฟอรัส แคลเซียม เหล็ก โปรตีน ทองแดง สารไนอะซีน และกากใยที่สูงกว่าข้าวขาวถึง 3เท่า ส่วนข้าวไรซ์เบอรี่เป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ หากนำข้าวไรซ์เบอรี่มาผ่านเพียงกรรมวิธีกระเทาะเปลือกออก เราก็จะได้ ‘ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่’ มารับประทานกัน
การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่
สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี มีอายุเก็บเกี่ยว 130 วัน ให้ผลผลิตปานกลาง มีความสามารถต้านทานต่อโรคไหม้ แต่ไม่ต้านทานโรคหลาว จึงแนะนำให้เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ทุกรอบของการปลูก เกษตรกรที่สนใจปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ แนะนำให้ปลูกด้วยการโยนกล้า หรือปักดำ เนื่องจากการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นการปลูกแบบปลอดสารเคมีทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น สารเคมีกำจัดศัตรูพืช, ปุ๋ยเคมี หรือฮอร์โมนต่างๆ ซึ่งถ้าปลูกด้วยวิธีการหว่าน จะทำให้ดูแลรักษาได้ยาก ป้องกันโรคและแมลงก็ยาก ผลผลิตที่ได้ก็ไม่ดี เริ่มต้นที่…การเลือกพื้นที่ปลูก ดินมีความอุดมสมบูรณ์โดยธรรมชาติ ปราศจากสารพิษ พื้นที่ปลูกควรปราศจากมลพิษทางอากาศด้วย ปลูกพืชกันชนล้อมรอบแปลงนา และอยู่ใกล้แหล่งน้ำสะอาด การเลือกใช้พันธุ์ข้าว ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการอนุญาตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การเพาะกล้าในถาดหลุม
สิ่งที่ต้องเตรียม
- เมล็ดพันธุ์ข้าว ขึ้นอยู่กับพื้นที่และความต้องการของผู้ปลูก
มาตรฐานปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ต่อไร่ ให้ได้ผลผลิตดี มีคุณภาพ ไร่ละ 5 กิโลกรัม - ถาดหลุมเพาะกล้า
- ดินเพาะกล้า หรือดินที่ย่อยละเอียด ไม่มีวัชพืช หรือข้าววัชพืชปน
การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว
- นำเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่แช่ในสารละลายเกลือ (อัตราความเข้มข้น เกลือ 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 50 ลิตร) กวนข้าวที่อยู่ด้านล่างขึ้นมาเพื่อให้เมล็ดลีบที่อยู่ด้านล่างลอยขึ้น แช่ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที เพื่อปล่อยให้เมล็ดข้าวจมลง และตักส่วนที่ลอยน้ำทิ้ง
นำส่วนที่จมน้ำมาล้างด้วยน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง(เพื่อล้างเกลือออกจากเมล็ดเพราะเกลือจะทำให้ข้าวไม่งอก) กวนให้ทั่ว ประมาณ 10 นาที และแช่น้ำต่อประมาณ 12 ชั่วโมง
นำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผ่านการแช่น้ำแล้วมาแช่ต่อในน้ำผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มา (เชื้อสด 1 กิโลกรัม ล้างด้วยน้ำสะอาด 200 ลิตร เอาเฉพาะน้ำสปอร์สีเขียว แล้วนำกากข้าวทิ้ง) แช่เมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ประมาณ 30 นาที หรือนำเมล็ดพันธุ์แช่สารละลายจุนสี (คอปเปอร์ซัลเฟต) อัตราส่วน 1 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร 20 นาที แล้วล้างด้วยน้ำก่อนนำไปปลูก
จากนั้น บ่มและให้ความชื้นเมล็ดพันธุ์ข้าวในตะกร้าหรือ ผ้าตาข่ายสีฟ้า ประมาณ 2-3 วัน (หรือข้าวเริ่มงอก) ก่อนนำไปเพาะกล้าหรือ - แช่เมล็ดพันธุ์ข้าวในน้ำหมักจุลินทรีย์ (ติดตามได้จากบทความ สูตรน้ำหมัก ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่) 1 คืน คัดเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง ส่วนใหญ่จะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำที่ใช้หมัก น้ำขึ้นสะเด็ดน้ำ แล้วนำไปปลูก
วิธีเพาะต้นกล้า ข้าวไรซ์เบอร์รี่
- ใส่ดินปลูกลงในหลุมของถาดเพาะครึ่งหลุม หยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่แช่น้ำแล้วหลุมละ 3 ถึง 4 เมล็ด (ถ้าใช้เครื่องหยอดเมล็ด จะหยอด 1 เมล็ด ต่อ 1 หลุม)
- โรยดินปลูกทับเมล็ดให้พอดีปากหลุม รดด้วยน้ำที่เป็นฝอยละเอียด (อาจใช้ฝักบัวรดน้ำหรือหัวฉีดที่เป็นฝอยละเอียด) เมล็ดพันธุ์ข้าวจะไม่กระเด็น ใช้ผ้าฟาง, ซาแรน หรือกระสอบป่านเก่าคลุม แต่ถ้าใช้ซาแรนจะรดน้ำได้ง่ายไม่ต้องคอยเปิดปิดวัสดุคลุม
- รดน้ำทั้งเช้า และเย็น ประมาณ 5 ถึง 7 วัน ต้นข้าวเริ่มงอก ให้เก็บวัสดุคลุมถาดเพาะออก
- รดน้ำวันละ 1 ครั้ง แนะนำให้รดช่วงเช้าจะดีต่อการนำไปใช้ประโยชน์ของต้นกล้า
- ต้นกล้าอายุได้ 15 วัน นำไปโยนกล้า หรือ ปักดำ (ติดตามการทำนาโยนได้จากบทความ หมวดหมู่ เกษตรท้องนา) ***ระวังอย่างให้ต้นกล้าหัก***
ปัญหาและวิธีแก้ไขในการเพาะต้นกล้า ข้าวไรซ์เบอร์รี่
เมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ อาจดูไม่สมบูรณ์ในทางสายตา เนื่องจากไม่ได้ปลูกด้วยการใช้เคมี จึงมีลักษณะเมล็ดที่เบา
วิธีแก้ไข
ควรแช่น้ำหรือน้ำสารละลายเกลือประมาณ 20 นาทีและทำการคนข้าวที่แช่เพื่อให้เมล็ดข้าวลีบที่อยู่ด้านล่างลอยขึ้นมา เมล็ดข้าวที่มีเปอร์เซ็นต์การงอกที่ดี แต่เมล็ดมีน้ำหนักเบาจมลง จะได้เมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ในการนำไปเพาะ
การแช่และบ่มเมล็ดพันธุ์ การแช่เมล็ดพันธุ์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง อาจทำให้ข้าวไม่งอก และมีกลิ่นที่ค่อนข้างเหม็น
การบ่มข้าวในวัสดุที่ถ่ายเทน้ำและอากาศไม่สะดวก เช่น กระสอบข้าวซึ่งมีความชื้นสูงเกินไป ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น ทำให้ข้าวเกิดความร้อน เป็นสาเหตุทำให้เมล็ดพันธุ์ไม่งอก
วิธีแก้ไข
- ควรใช้ ถุงตาข่ายสีฟ้าซึ่งมีการระบายน้ำที่ดี ในการแช่และบ่มเมล็ดพันธุ์
- ควรแช่ในที่ร่ม หลีกเลี่ยงแสงแดดเพราะจะทำให้ข้าวร้อนและสุก เมล็ดข้าวจะไม่งอก
- วัสดุที่นำมาบ่มเมล็ดพันธุ์ควรมีคุณลักษณะที่ถ่ายเทน้ำ ความชื้น และอุณหภูมิ เช่น ผ้าตาข่ายฟ้า ตะกร้าที่มีช่องระบายขนาดเล็กๆ ตรวจสอบความชื้นให้เหมาะสม ไม่ให้ชื้นหรือแห้งจนเกินไป
- หากเมล็ดพันธุ์เริ่มมีกลิ่นเหม็น ควรนำมาตากแดดไว้ประมาณ 15 ถึง 20 นาที หรือจนกว่าความชื้นของเมล็ดข้าวจะอยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อไล่ความชื้นออก หากเมล็ดข้าวที่บ่มแห้งเกินไปควรเพิ่มความชื้นโดยการรดน้ำ
- บ่มข้าวในที่ร่มและมีการถ่ายเทของอากาศ น้ำ สะดวก น้ำไม่ขังในบริเวณที่ทำการบ่มข้าว
การเพาะกล้า
การปักดำด้วยเครื่อง จะพบเชื้อราเกิดขึ้นเป็นกลุ่มๆ หลังจากเพาะงอก
วิธีแก้ไข
- ไม่นำถาดเพาะกล้ามาใช้ซ้ำในทันที หรือใช้เป็นเวลานานหลังการนำต้นกล้วไปปักดำ ควรทำความสะอาดถาดเพาะกล้าก่อนจะนำไปเพาะเมล็ดพันธุ์ หรือก่อนการเก็บรักษาเพื่อป้องกันเชื้อโรค
- ไม่ใช้ขี้เถ้าแกลบในการเพาะเมล็ด เพราะมีความชื้นสูงซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดเชื้อรา
หากนำขี้เถ้าแกลบมาใช้ในการเพาะกล้า ควรฆ่าเชื้อก่อน ทำได้ 2 วิธีคือ
- ตากขี้เถ้าแกลบเป็นเวลาประมาณ 1 ถึง 2 วัน จากนั้นนำขี้เถ้าแกลบลงไปแช่น้ำที่ผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตตราส่วน 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 100 ลิตร เป็นเวลาประมาณ 20 ถึง 30 นาที และเทน้ำทิ้งแล้วจึงนำไปเพาะกล้า
- การใช้สารคอปเปอร์ซันเฟต ฉีดพ่น อัตราส่วน 19 กรัม ต่อน้ำ 18 ลิตร
ขั้นตอนต่อไป ติดตามในบทความ การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่แบบโยนกล้า และ การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่แบบปักดำ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล: http://www.brrd.in.th, www.youtube.com การทำนาด้วยวิธีโยนกล้า, www.starpluscity.com, www.phupassara.com)