การเพาะเห็ดฟางต้นทุนต่ำกับวัสดุเพาะในท้องถิ่น
การเพาะเห็ดฟางต้นทุนต่ำ กับวัสดุเพาะในท้องถิ่น
การเพาะเห็ดฟางต้นทุนต่ำ สามารถทำได้หลายวิธี แต่ที่นิยมในปัจจุบันคือ การเลือกใช้วัสดุเพาะที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งแต่ก่อนนี้มีเพียงขี้เลื่อยไม้ยางพารา แต่ในปัจจุบันมีการนำวัสดุอื่นๆ มาใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น ฝักถั่วเขียว ผักตบชวา ทะลายปาล์ม เป็นต้น วัสดุที่ยกตัวอย่างข้างต้น เป็นวัสดุที่ใช้สำหรับเพาะเห็ดฟาง ส่วนวิธีการเพาะผู้ลงทุนหรือเกษตรกรสามารถเลือกเพาะแบบกองเตี้ย กองสูง ในโรงเรือน ในตะกร้า หรืออื่นๆ ได้ตามปัจจัยด้านการลงทุน ตามความเหมาะสมของพื้นที่ และความถนัด ซึ่งวิธีเพาะเห็ดฟางมีแนะนำขั้นตอนต่างๆ ในบทความ การเพาะเห็ดฟาง สำหรับมือใหม่, การเพาะเห็ดฟาง แบบโรงเรือน หรือเชิงธุรกิจ (ซึ่งรวมไปถึง วิธีการเพาะเชื้อเห็ดฟาง และเห็ดอื่นๆ ให้ได้ศึกษาหากต้องการขยายธุรกิจจากการผลิตดอกเห็ด ควบคู่ไปกับการเพาะเชื้อเพื่อเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายก้อนเชื้อเห็ด)
การเพาะเห็ดฟางต้นทุนต่ำ ด้วยเปลือกฝักถั่วเขียว
วัสดุในการเพาะ
1. เชื้อเห็ดฟาง หมายถึง เส้นใยเห็ดฟางที่เจริญเติบโตในปุ๋ยหมักที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคอย่างดี แล้วสามารถที่จะนำไปเพาะได้เลย ควรเลือกซื้อเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพราคาไม่แพง นอกจากนี้ยังมีแผ่นไม้กดใช้สำหรับกดเปลือกถั่วเขียว เพื่อความสะดวกในการทำกองเพาะ โดยใช้ไม้แผ่นขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร และมีไม้สำหรับทำด้ามจับลักษณะคล้ายเกรียงฉาบปูน
2. เปลือกถั่วเขียว ควรเลือกเปลือกของฝักถั่วเขียวที่มีลักษณะป่นเล็กน้อยหลังจากนวดเอาเมล็ดออกแล้วและต้องแห้งไม่ถูกน้ำหรือฝนจนกว่าจะนำมาเพาะเห็ดฟาง
3. สถานที่ ควรเป็นที่ดอน ไม่มีมด ปลวก แมลงต่าง ๆ และศัตรูของเห็ดฟางชนิดอื่น ๆ สถานที่นั้นต้องไม่เป็นดินเค็ม ดินด่างจัด หรือน้ำไม่ท่วมขัง ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือสามารถหาน้ำมาใช้ได้สะดวก ต้องไม่เป็นที่ที่เคยเพาะเห็ดฟางมาก่อนอย่างน้อย 1 เดือน และที่สำคัญบริเวณนั้นต้องไม่มีพิษตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชใด ๆ ทั้งสิ้น ในฤดูแล้งควรทำการเพาะในนาข้าว เพื่อเป็นการเพิ่มปุ๋ยหมักให้แก่ข้าวด้วย ส่วนในฤดูฝนควรเลือกที่ดอนกลางแจ้งที่เหมาะสม
4. น้ำ ควรเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากคลอรีนและกลิ่นเน่าเหม็น ไม่เป็นน้ำเค็ม หรือน้ำกร่อย
5. อาหารเสริม ควรหาง่ายในท้องถิ่น มีลักษณะไม่อุ้มน้ำมากเกินไป มีอาหารที่เหมาะสมสำหรับเห็ดฟางไม่เข้มข้นมากเกินไป อาหารเสริมที่ผ่านการทดลองและได้ผลดี ได้แก่ละอองข้าวผสมขี้วัว ขี้ควาย ขี้หมู และปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว สำหรับอัตราส่วนของการผสมนั้นขึ้นกับสถานที่ด้วย เช่น ละอองข้าวกับปุ๋ยหมัก เท่ากับ 1:1 หรือ 4:3 หรือ 2:1 เป็นต้น
6. แบบไม้หรือลังไม้ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูโดยมีด้านกว้างด้านบน 25 เซนติเมตร ด้านล่าง 30 เซนติเมตร ยาว 100 เซนติเมตร และสูง 25 เซนติเมตร
7. ผ้าพลาสติก จะใช้ชนิดใสหรือสีดำก็ได้ ขึ้นกับราคาและความคงทน ถ้าหาไม่ได้ก็อาจใช้กระสอบปุ๋ยเย็บติดกันแล้วนำไปล้างให้สะอาดปราศจากความเค็มของปุ๋ย เพราะความเค็มจะทำให้ดอกเห็ดไม่เจริญเติบโต
8. โครงไม้ไผ่ หรือจะใช้โครงเหล็กก็ได้ ซึ่งจะใช้ในการขึ้นโครงเมื่อกองเพาะมีอายุได้ 3-4 วันหลังจากวันเพาะ โดยนำไปปักให้เป็นรูปครึ่งวงกลมหรือรูปฝาชีคร่อมกองเห็ดเพาะซึ่งมีส่วนสูงไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร
9. บัวรดน้ำ, จอบ หรือเสียม
10. ฟางข้าวหรือเศษหญ้าแห้ง สำหรับคลุมกองเพาะ เพื่อพรางแสงแดด อาจใช้หญ้าคาหรือแฝกก็ได้
วิธีการเพาะ
1. เตรียมวัสดุเพาะ โดยนำเปลือกถั่วเขียวไปแช่น้ำ ประมาณ 5-10 นาที แล้วจึงนำมาเทกองรวมกันคลุมด้วยผ้าพลาสติกทิ้งไว้หนึ่งคืน เพื่อให้เปลือกถั่วเขียวนิ่มและมีคุณสมบัติที่พร้อมจะเปื่อยสลายได้ ระวังอย่าให้มีเชื้อราขึ้นบนเปลือกถั่วเขียวจะเพาะเห็ดฟางไม่ได้ผล เปลือกถั่วเขียว 1 กระสอบข้าวสาร สามารถเพาะเห็ดฟางได้ 10-12 กอง (แบบไม้)
2. เตรียมสถานที่ที่จะเพาะ โดยปรับพื้นที่ให้เรียบแล้วพรวนดินแบบทำแปลงผัก ย่อยดินให้แตกร่วนเพราะการเพาะเห็ดด้วยวิธีนี้ ดอกเห็ดฟางจะเกิดบนดินและควรกำจัดวัชพืชออกด้วย จากนั้นจึงตักน้ำรดให้ชุ่มทิ้งไว้หนึ่งคืน
3. เตรียมอาหารเสริม ปริมาณขึ้นสถานที่กล่าวคือถ้าเป็นดินที่ไม่เคยทำสวนผักมาก่อน ให้ใช้ละอองข้าวผสมขี้ควายเป็นอาหารเสริม 4 ปี๊บต่อเปลือกถั่วเขียว 25 กอง แต่ถ้าเป็นดินที่เคยทำสวนผักมาก่อนมีความอุดมสมบูรณ์มาก อาจใช้ละอองข้าวอย่างเดียวประมาณ 3 ปี๊บก็เพียงพอ นำอาหารเสริมมาคลุกเคล้ากับน้ำแล้วใช้พลาสติกคลุมไว้หนึ่งคืนเช่นกัน โดยปกติควรจะเตรียมวัสดุเพาะอาหารเสริมและสถานที่ ในตอนเย็น แล้วพักทิ้งไว้หนึ่งคืน รุ่งเช้าจึงจะดำเนินการต่อไป
4. วางแบบไม้ลงบนแปลงที่เตรียมไว้ แล้วโรยอาหารเสริมไปตามขอบด้านในของแบบไม้ นำเปลือกถั่วเขียวที่เตรียมไว้เทลงในแบบไม้ ใช้ไม้กดเปลือกถั่วเขียวให้แน่นโดยมีความสูงประมาณหนึ่งฝ่ามือ (ประมาณ 12-15 เซนติเมตร)
5. ยกแบบไม้ออก แล้วทำกองต่อไปให้ห่างจากกองแรกประมาณหนึ่งฝ่ามือ ทำเหมือนกับกองแรก ควรทำ 25 กองต่อ 1 แปลง เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา ในกรณีที่ทำแปลงละ 25 กอง จะใช้เปลือกถั่วเขียว 2 กระสอบครึ่ง เชื้อเห็ดฟาง 18 ถุง (ขนาดถุงละประมาณ 2 ขีด) ส่วนอาหารเสริมแล้วแต่สภาพของดิน
6. เมื่อสร้างกองเสร็จแล้ว โรยเชื้อเห็ดฟางลงบนดินระหว่างกองและรอบ ๆ กอง แต่ไม่โรยบนกองเปลือกถั่วเขียว ใช้เชื้อเห็ดฟาง 18 ถุงต่อ 25 กอง แล้วโรยอาหารเสริมทับลงบนเชื้อเห็ดฟางอีกที โดยโรยบาง ๆ ถ้าดินอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ก็ให้โรยหนากว่าเล็กน้อย แต่อย่าให้เกิน 1 เซนติเมตร
7. รดน้ำกองเพาะให้ชุ่ม แต่อย่าให้โชกจนน้ำไหลนอง เพราะน้ำจะพาเอาเส้นใยเห็ดไหลไปที่อื่น
8. ใช้ผ้าพลาสติกคลุมกองให้มิดชิด เพื่อทำให้เกิดความร้อนซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดฟาง
9. ใช้ฟางข้าว หรือเศษหญ้าแห้งคลุมบนผ้าพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง โดยคลุมให้หนา ๆ เพื่อป้องกันแสงเข้าไปในกองเพาะและช่วยรักษาความชื้นของกองเพาะอีกด้วย
การดูแลรักษา
1. ในช่วง 1-2 วันแรก ไม่ต้องทำอะไรกับกองเพาะเลย นอกจากป้องกันไม่ให้สุนัข ไก่ หรือสัตว์อื่น ๆ ไปรบกวนกองเพาะ
2. เมื่อเริ่มวันที่ 3 หลังจากวันเพาะ ให้เปิดกองเพาะดูจะเห็นว่ามีตุ่มเห็ดโตประมาณเกือบเท่าหัวไม้ขีดเต็มไปหมด จึงทำการเปิดกองเพาะทั้งหมด โดยเอาฟางและผ้าพลาสติกออกทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้สภาพของกองเพาะเย็นลงและเป็นการไล่แก๊สที่เกิดจากการหมักเน่าของเปลือกถั่วเขียวออกไปด้วย เมื่อกองเพาะเย็นตัวลงแล้วตักน้ำรดกองเพาะพอชุ่ม จากนั้นจึงทำการยกโครงโดยใช้ไม้ไผ่ปักหัวท้าย แล้วทำให้เป็นโครงคล้ายรูปฝาชีและมีความสูงอย่างน้อย 60 เซนติเมตร แล้วคลุมด้วยผ้าพลาสติก และฟางข้าวเช่นเดิม
3. ทำการเปิดกองเพาะทุกเช้าและเย็นของวันที่ 4-5-6-7 หลังจากวันเพาะ ครั้งละประมาณ 30 นาที ช่วงนี้ให้สังเกตดูการเจริญเติบโตของดอกเห็ดด้วยว่าผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีเส้นใยขึ้นปกคลุมดอกเห็ดมาก และเกิดผิวตกกระก็ให้เปิดกองเพาะนานกว่าเดิม
4. หลังจากเปิดกองเพาะในตอนเย็นของวันที่ 7 หลังจากวันเพาะ ถ้ามีดอกเห็ดฟางที่คาดว่าจะเริ่มเก็บได้ในวันรุ่งขึ้นประมาณครึ่งหนึ่งของกองเพาะ ก็ให้ตักน้ำรดกองเพาะพอเปียกๆ เพื่อเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับดอกเห็ดและเพิ่มความชื้นให้กับกองเพาะด้วย ถ้าไม่รดน้ำจะได้เห็ดที่มีน้ำหนักน้อยกว่าการรดน้ำ
5. ในวันที่ 8 หลังจากวันเพาะก็สามารถเก็บดอกเห็ดได้เลย การเก็บควรเก็บในตอนเช้ามืด เพื่อดอกเห็ดจะได้ไม่บาน ดอกเห็ดที่เก็บควรมีลักษณะเป็นรูปไข่ปลอกยังไม่แตก และดอกยังไม่บานเพราะถ้าปล่อยให้ปลอกแตกและดอกบานแล้วค่อยเก็บจะทำให้ขายได้ราคาต่ำ
วิธีเก็บดอกเห็ด
ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้กดดอกเห็ดแล้วหมุนเล็กน้อยยกขึ้นเบา ๆ ดอกเห็ดก็จะหลุดออกมาโดยง่าย ถ้ามีดอกเห็ดขึ้นอยู่ติดกันหลายดอก ควรเก็บขึ้นมาพร้อมกันทั้งหมดทีเดียว ถ้าเก็บเฉพาะดอกเห็ดที่โตออกมาดอกที่เหลือจะไม่โตและฝ่อตายไป ***ไม่ควรใช้มีดดัดดอกเห็ด เพราะจะทำให้มีเศษเหลืออยู่ซึ่งอาจจะเน่าและลุกลามไปทั่วกองได้*** เมื่อเก็บดอกเห็ดออกมาแล้ว ต้องทำการตัดแต่งเอาดิน หรืออาหารเสริมออกให้หมด จากนั้นนำใส่ลงในภาชนะที่โปร่ง เช่น กระบุง ตะกร้า เข่ง ที่รองด้วยกระดาษ หรือใบกล้วย ห้ามพรมน้ำหรือแช่น้ำเด็ดขาด เพราะจะทำให้เห็ดอมน้ำ เก็บไว้ได้ไม่นาน เน่าเสียง่ายกว่าปกติ และจะทำให้รสชาติเสียไปด้วย สำหรับผลผลิตต่อกองเพาะนั้น ได้ประมาณ 5 ขีด จนถึง 1 กิโลกรัม โดยเก็บได้ถึง 3 ครั้ง ขึ้นกับคุณภาพของเชื้อเห็ดฟาง และการดูแลรักษาด้วย การเพาะเห็ดฟางต้นทุนต่ำ ด้วยขี้เลื่อยสดและผักตบชวา (เหมาะกับท้องถิ่นภาคใต้)
วัสดุในการเพาะ
1. ขี้เลื่อยไม้ยางพาราสดและใหม่ ไม่ต้องผึ่งลมและแดด หากแห้งไป ให้พรมน้ำจนชื้นอิ่มตัว แต่ไม่แฉะ
2. ต้นผักตบชวาที่ค่อนข้างแก่ ใบเขียวเข้ม นำมาสับ 3-5 ท่อนต่อกอง
3. ไม้แบบ และเชื้อเห็ดฟาง เหมือนกับการปลูกด้วยวัสดุอื่นๆ ข้างต้น
สถานที่เพาะ
พื้นที่ราบ น้ำไม่ขัง ไม่มีเชื้อโรค แมลง และสารเคมีปะปนอยู่ในดิน
เวลาเพาะ
ควรเป็นช่วงเช้าเพื่อจะได้เก็บสะสมความร้อนจากแสงอาทิตย์ไว้ในแปลงเพาะเพื่อให้เหมาะกับความต้องการอุณหภูมิค่อนข้างสูงของเชื้อเห็ดฟางในการเจริญระยะแรก
การวางแนวกอง
ให้หัวและท้ายของกองอยู่ในแนวทิศตะวันออก และทิศตะวันตก เพื่อให้ได้รับแสงสว่างและความร้อนสม่ำเสมอกันทั้งกอง
วิธีการเพาะ
1. ใส่ขี้เลื่อยไม้ยางพาราซึ่งอิ่มตัวด้วยน้ำลงในไม้แบบประมาณ 1.5 กิโลกรัม หนาประมาณ 3 เซนติเมตร
2. ใส่ผักตบชวาสับบนขี้เลื่อยเพียงบริเวณขอบประมาณ 1 กิโลกรัม กว้างไม่เกิน 10 เซนติเมตร แล้วโรยทับด้วยเชื้อเห็ดฟาง เป็นชั้นที่ 1
3. ใส่ขี้เลื่อยทับผักตบชวาหนาเท่าเดิมและใส่ผักตบชวา กดหรือเหยียบให้แน่น พร้อมโรยเชื้อเห็ดฟางเป็นชั้นที่ 2 ทำซ้ำจนครบ 8 ชั้น
4. ปิดทับหลังกองด้วยขี้เลื่อย ไม่ต้องใส่เชื้อเห็ดฟาง ยกไม้แบบออกไป เริ่มกองต่อไป ห่างกันประมาณ 15-30 เซนติเมตร ระหว่างกองใส่ผักตบชวาสดและขี้เลื่อยแล้วโรยเชื้อเห็ดฟาง ทำเช่นนี้ให้ได้แปลงละ 5-10 กอง
5. ถ้าเพาะในฤดูร้อน จะเกิดความร้อนสะสมมาก ไม่ควรกองเกินแปลงละ 5 กอง และเว้นระยะห่างระหว่างกองให้มากขึ้น
6. หลังจากทำกองเสร็จ รดน้ำให้ชุ่มตลอดแปลงและใช้ผ้าพลาสติกคลุมกองทั้งหมด ใช้ 2 ผืนเกยทับกันตรงกลางตามความยาว แล้วคลุมทับด้วยตับจากหรือฟางข้าวเพื่อเก็บรักษาความชื้นและอุณหภูมิไว้จะได้ไม่เปลี่ยนแปลงเร็วและมากเกินไป
การดูแลรักษา
ต้องหมั่นตรวจวัดอุณหภูมิในแปลงเพาะทุกวันหลังจากวันที่เพาะ อุณหภูมิไม่ควรให้เกิน 37-38 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในฤดูร้อนต้องหมั่นระบายอากาศและความร้อนในแปลงออก โดยเปิดผ้าพลาสติกออกให้หมด ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที ในช่วง 6 โมงเช้า และ 6 โมงเย็น ถ้าความชื้นในแปลงเพาะไม่เพียงพอให้พรมละอองน้ำลงบนพื้นดิน หรือบริเวณแปลงที่แห้ง เส้นใยเห็ดฟางจะเริ่มรวมตัวกันเป็นดอกเห็ด เห็ดฟางต้องการอากาศมาก และต้องการอุณหภูมิระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส ดังนั้น ในระยะนี้จึงจำเป็นต้องหมั่นระบายอากาศร้อนและก๊าซเสียต่างๆ ออกจากแปลงเพาะให้มากที่สุด ในขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มน้ำในแปลงเพาะให้มีความชื้นเพียงพอ
การเพาะเห็ดฟางต้นทุนต่ำ ด้วยทะลายปาล์ม
วัสดุในการเพาะ
1. ทะลายปาล์ม
2. เชื้อเห็ดฟาง หรือเห็ดอื่น ๆ ที่ต้องการ
3. ผ้าพลาสติกความยาว ม้วนละ 70 เมตร
4. ไม้ไผ่ สำหรับขึงผ้าพลาสติก
5. พื้นที่ ที่ใช้เพาะเห็ด
วิธีการเพาะ
1. นำทะลายปาล์มมากองรวม ล้อมกันเป็นวงกลม โดยจะฉีดน้ำ 2 วันต่อหนึ่งครั้ง คลุมด้วยผ้าพลาสติก รอประมาณ 3-7 วัน (เพื่อให้ทะลายปาล์มชุ่มน้ำ) นำเอามาใช้ได้
2. เตรียมพื้นที่โดยการถางหญ้ารอบ ๆ สวนยางออก จะใช้พื้นที่ระหว่างต้นยางในการเพาะเห็ด ซึ่งการเพาะเห็ดจะต้องใช้พื้นที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก หากปลูกในพื้นที่โล่งมาก แดดส่องจ้า ต้องมีการกรองแสงด้วย
3. นำทะลายปาล์มมาวางเป็นร่อง ความยาวประมาณ 5 เมตร ฉีดน้ำลงบนทะลายปาล์ม เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก
4. โรยเชื้อเห็ด ลงบนร่องที่เตรียมไว้ โดย 1 ร่อง ใช้เชื้อ 3 ก้อน โรยเชื้อก้อนละ 1 เมตร
5. รอประมาณ 3 วัน ขึ้นโคลงไม้ไผ่ เป็นแนวไว้สำหรับขึงผ้าพลาสติก ประมาณ 4-5 โคลง โค้งเป็นแนวยาว
6. คลุมผ้าพลาสติกตามแนวโคลงไม้ไผ่ 1 ร่อง ใช้ผ้าพลาสติกประมาณ 7 เมตร
7. รอประมาณ 7 – 9 วัน เห็ดก็จะงอก สามารถเก็บไปขายได้
การดูแลรักษา
การระบายความร้อน หลังจากเพาะเห็ดแล้ว 4-5 วัน ให้เปิดชายผ้าพลาสติกออกบ้างเพื่อระบายความร้อนออกจากกองเห็ดบ้าง เพราะถ้าอากาศร้อนเกินไปเส้นใยเห็ดจะไม่รวมตัวเป็นดอก นอกจากช่วยระบายความร้อนแล้วยังเป็นการเพิ่มอากาศให้กับเห็ดอีกด้วย การให้น้ำ พยายามให้ความชื้นแก่กองเห็ดอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง พยายามพ่นน้ำให้เป็นฝอยลงบนกองเห็ดพอชุ่มชื้น
เมื่อดอกเห็ดโตพอได้ขนาดที่ตลาดต้องการจึงเริ่มเก็บ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้ดอกบานเพราะจะทำให้ราคาเสียได้ การเก็บดอกเห็ด จะเก็บได้หลังจากเพาะเห็ดแล้ว 7 วัน ขึ้นอยู่กับความร้อนและฤดูกาล ในฤดูร้อนและฤดูฝนจะเก็บเห็ดได้เร็ว แต่ถ้าเป็นฤดูหนาวจะเก็บได้ช้า เห็ดจะออกดีในช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม และควรเลือกเก็บเฉพาะดอกเห็ดที่ตูม จะทำให้ได้เห็ดที่มีคุณภาพดี
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(ดัดแปลงข้อมูลจาก http://mushroomfarn.blogspot.com)