เทคนิคการเพาะเห็ด ( เห็ดถุงชนิดต่างๆ )
เทคนิคการเพาะ เห็ดถุงชนิดต่าง ๆ
1. เทคนิคการเพาะ เห็ดนางฟ้า
เป็นเห็ดในสกุลเดียวกันกับเห็ดนางรม และเห็ดเป๋าฮื้อ แต่เห็ดนางฟ้ามีหมวกดอกหนา เนื้อแน่นกว่าเห็ดนางรม ในปัจจุบันมีการผสมและปรับปรุงเพื่อให้ได้พันธุ์ดีอยู่ตลอดเวลา เห็ดภูฐานที่นำมาจากประเทศภูฐาน และประเทศอินเดีย เป็นพันธุ์ที่มีข้อดีหลายประการดังนี้
- เส้นใยเห็ดเจริญเติบโตได้ดีในอาหารวุ้น พี.ดี.เอ โดยเฉพาะอาหารวุ้นที่ผสมถั่วเหลืองหรือถั่วเขียว และสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วในเมล็ดธัญพืชที่ทำหัวเชื้อ
- เห็ดนางฟ้าภูฐานเป็นพันธุ์ที่ออกดอกเร็ว หลังจากเขี่ยหัวเชื้อลงปุ๋ยหมักแล้ว จะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก็เจริญเต็มถุงก้อนเชื้อ และสามารถเปิดถุงให้ออกดอกได้ นอกจากนี้ ช่วงห่างในการเก็บผลผลิตจะสั้น กล่าวคือ หลังจากเก็บผลผลิตแล้ว เห็ดจะฟักตัว 5-7 วันเท่านั้น ก็จะออกดอกและเก็บผลผลิตรุ่นต่อไปได้
- เห็นนางฟ้าภูฐานมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนอาหารที่อยู่ในวัสดุเพาะมาใช้ในการเจริญเติบโตได้สูงมาก นอกจากนี้ ยังมีความต้านทานต่อราเขียว ราดำได้ดี จึงทำให้ก้อนเชื้อมีโอกาสเสียน้อยลง
- ให้ผลผลิตสูงกว่าเห็ดที่อยู่ในสกุลเดียวกับเห็ดนางรมพันธุ์อื่นๆ และสามารถเพาะได้ทุกฤดูกาลในวัสดุชนิดต่างๆได้เป็นอย่างดี
- เห็ดนางฟ้าภูฐานเป็นเห็ดที่มีรสชาติอร่อย มีกลิ่นหอม รสหวาน และมีความกรอบ สามารถเก็บเอาไว้ได้นานกว่าเห็ดนางรม โดยเฉพาะถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นจะเก็บไว้ได้นาน 3-4วัน
เห็ดนางฟ้ามีปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต ดังนี้
1.อุณหภูมิ ระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเป็นดอกของเห็ดนางฟ้าจะประมาณ 25 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส เห็ดนางฟ้าจะไม่ออกดอก และการทำให้ก้อนเชื้อได้รัอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ในระยะเวลาสั้นๆ หรือได้รับอุณหภูมิต่ำในช่วงเวลากลางคืน ก็จะช่วยชักนำให้การออกดอกของเห็ดดีขึ้น
2.ความชื้น เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดที่ต้องการสภาพความชื้นของอากาศค่อนข้างสูง สภาพของโรงเรือนที่เหมาะสม ควรมีความชื้นไม่ต่ำกว่า 80-85 เปอร์เซ็นต์
3.ปริมาณธาตุอาหารในวัสดุเพาะ นับว่ามีความสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตเห็ดนางฟ้าเป็นอย่างมากพบว่า หากเพิ่มอาหารเสริมพวกแอมโมเนียไนเตรท จะทำให้ผลผลิตเห็ดนางฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์
2. เทคนิคการเพาะ เห็ดนางรม
พันธุ์ เห็ดนางรมสามารถแบ่งตามสภาพอุณหภูมิที่เจริญเติบโตได้เป็น 2 พันธุ์ คือ
1.เห็ดนางรมสีขาว หมวกดอกสีขาว เจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่มีอุณหภูมิสูง เหมาะที่จะนำมาเพาะในช่วงฤดูร้อน ที่อุณหภูมิสูงกว่า 20 องศาเซลเซียส
2.เห็ดนางรมสีเทา หมวกดอกหนาและมีดอกใหญ่ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่มีอุณหภูมิต่ำ เหมาะที่จะนำมาเพาะในช่วงฤดูหนาวที่อุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส
เห็ดนางรมมีปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต ดังนี้
1.แสงสว่าง มีผลต่อการพัฒนาและการเจริญเติบโตของดอกเห็ดมาก เนื่องจากแสงสว่างจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวของเส้นใย และพัฒนากลายเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์ โดยเห็ดนางรมควรจะได้รับแสงสว่างอย่างน้อยประมาณ 15 นาทีต่อวัน หากได้รับแสงสว่างน้อยไป หมวกดอกจะมีขนาดเล็กลง ในขณะที่ก้านดอกยาวขึ้น
2.ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในระยะที่เห็ดพัฒนาเป็นดอก หากโรงเรือนมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์อยู่สูงก็จะทำให้ดอกเห็ดมีลักษณะผิดปกติได้ ดังนั้น โรงเรือนที่เพาะเห็ดนางรมควรดูแลให้มีอากาศถ่ายเทบ้าง ซึ่งจะช่วยให้ดอกเห็ดเจริญไปเป็นดอกที่สมบูรณ์ต่อไปได้
3.ความชื้นของอากาศ มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเห็ดนางรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในระยะเปิดก้อนเชื้อ เห็ดนางรมต้องการความชื้นค่อนข้างสูง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเปิดก้อนเชื้อภายในโรงเรือนที่เก็บความชื้นได้ ควรมีการฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชื้นภายในโรงเรือน 2-3 ครั้งต่อวัน และรักษาระดับความชื้นในอากาศให้อยู่ในระดับ 70-80 เปอร์เซ็นต์
4.อุณหภูมิ มีผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของเห็ดนางรมมาก พบว่าเห็ดนางรมจะให้ผลผลิตสูงในช่วงอุณหภูมิ 24-33.5 องศาเซลเซียส ระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม ส่วนเดือนมิถุนายน – ธันวาคม จะให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ สาเหตุที่ทำให้ผลผลิตสูงในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม อาจเนื่องมาจากก้อนเชื้อได้รับอุณหภูมิต่ำก่อนที่จะมีการเปิดออก แล้วได้รับอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งมีผลทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี
การผลิตดอกของเห็ดนางรม
หลังเส้นใยเห็ดนางรมเจริญเต็มก้อนเชื้อแล้ว ควรปล่อยให้เส้นใยเห็ดรัดตัวและสะสมอาหารเพิ่มมากขึ้นเป็นเวลาประมาณ 5-7 วัน สังเกตเส้นใยในระยะนี้ จะสานกันอย่างหนาแน่นพร้อมที่จะเจริญออกมาเป็นดอก การเปิดถุงก้อนเชื้อเห็ดนางรม อาจทำได้ 4 วิธี ดังนี้
1.เปิดปากถุงโดยการม้วนปากถุงลง วิธีนี้ให้ดึงคอขวดออกพร้อมกับม้วนปากถุงลงไปจนถึงก้อนเชื้อแล้วนำไปวางบนชั้นภายในโรงเรือนเพาะเห็ด ข้อเสียของการเปิดปากถุงแบบนี้ คือ โอกาสที่น้ำจะขังภายในถุงและทำให้ก้อนเชื้อเสียมีมาก
2.เปิดปากถุงโดยใช้มีดปาดปากถุงบริเวณคอขวดออก จากนั้นนำไปวางบนชั้นเพาะเห็ด วิธีนี้มีข้อเสียคล้ายกับวิธีแรก
3.กรีดข้างถุงในลักษณะเฉียงประมาณ 4-5 รอย วิธีนี้นิยมใช้มาก เพราะน้ำไม่ขังในก้อนเชื้อเห็ด แต่มีข้อเสีย คือ ต้องตั้งถุงไว้ห่างๆ กัน ทำให้สิ้นเปลืองพื้นที่
4.เปิดปากถุง โดยใช้มีดปาดตรงคอขวดออก หรือดึงจุกสำลีออกแล้วนำก้อนเชื้อมาวางเรียงซ้อนกันภายในโรงเรือน ปล่อยให้เห็ดเจริญออกมาทางปากถุงทางเดียว จัดเป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากวิธีหนึ่ง เพราะประหยัดพื้นที่ภายในโรงเรือนและน้ำไม่ขังในก้อนเชื้อเห็ด
การเก็บผลผลิตเห็ดนางรม
ควรเก็บดอกเห็ดในขณะที่บานเต็มที่ แต่ขอบหมวกยังไม่บานย้อย และเก็บดอกเห็ดในช่อเดียวกันให้หมด ไม่ให้มีเศษเหลือติดค้างอยู่กับก้อนเชื้อ เนื่องจากจะทำให้เน่า เชื้อโรคและแมลงอาจเข้าทำลายได้ง่าย เกษตรกรมักนิยมเก็บดอกเห็ดในช่วงเวลาเช้ามืดก่อนรดน้ำ เมื่อเก็บดอกเห็ดแล้วให้นำไปวางในภาชนะโปร่ง คลุมทับด้วยกระดาษ ฟาง หรือผ้าชื้นๆ จากนั้นบรรจุลงพลาสติกขนาดใหญ่ ทำให้พองลม ป้องกันการกระทบให้ดอกเห็ดช้ำ จัดวางในที่ร่ม หรือในห้องเย็นไม่ให้โดนแสงแดดหรือลมโกรก ในขณะที่รอการขนส่งไปจำหน่ายต่อไป
3. เทคนิคการเพาะ เห็ดเป๋าฮื้อ
พันธุ์ เป็นเห็ดในสกุลเห็ดนางรม มีรูปร่างหนา เนื้อแน่นกว่าเห็ดนางรม สีหมวกด้านบน เมื่อเล็กๆ จะมีสีดำเข้ม เมื่ออายุมากขึ้นดอกขยายใหญ่ จะมีสีจางลงเป็นสีน้ำตาล เส้นใยโตช้ากว่าเห็ดนางรมและพิถีพิถันในการเจริญเติบโตบนอาหารที่เตรียมไว้ค่อนข้างดี เห็ดเป๋าฮื้อส่วนมากนำพันธุ์มาจากประเทศไต้หวัน เพราะพันธุ์ที่มีในประเทศไทยเป็นพันธุ์พื้นเมือง ให้ผลผลิตต่ำ และคุณภาพไม่เหมาะแก่การแปรรูปบรรจุกระป๋อง
การผลิตถุงเชื้อเห็ดเป๋าฮื้อ ทำได้ดีทั้งฟางหมัก ขี้เลื่อย ไม้ยางพารา และขี้เลื่อยทั่วไปที่หมักประมาณ 3 เดือน ในฟางหมักเส้นใยจะเจริญและเกิดดอกเห็ดได้เร็วกว่า แต่ในขี้เลื่อยนั้นเส้นใยจะเจริญเต็มถุงช้ากว่า แต่การเกิดดอกเห็ดที่ได้จะทนกว่า ในการผลิตดอกเห็ดควรใช้ถุงที่เส้นใยเดินเต็มที่แล้ว เพราะหากเส้นใยเดินไม่เต็มถุง ผลผลิตที่ได้มักจะต่ำ การผลิตดอกเห็ดเป๋าฮื้อ ในรุ่นแรกนิยมให้เกิดดอกเห็ดที่ปากถุง โดยถอดจุกออกให้เหลือปากถุงขนาดเล็ก การเกิดดอกจะเกิดน้อย และดอกมีขนาดใหญ่ ส่วนในรุ่นหลังมักจะพับปากถุงให้เสมอขอบถุง ให้ดอกเห็ดเกิดในจุดที่ห่างออกไปบ้าง ในภาคเหนือ บางแห่งจะผลิตดอกเห็ดรุ่นหลังๆ โดยนำถุงมาคลุมผิวด้วยดินร่วน หรือนำก้อนเชื้อเปลือยรวมกัน แล้วคลุมด้วยดินร่วนเป็นแปลงเดียวกัน ซึ่งจะได้ดอกเห็ดขนาดใหญ่หรือกลุ่มใหญ่เหมาะกับการส่งจำหน่ายยังตลาดสด แต่ไม่เหมาะที่จะนำมาแปรรูปบรรจุกระป๋อง
การเก็บรักษาผลผลิตเห็ดเป๋าฮื้อ
- การบรรจุกระป๋อง ให้คัดเอาเฉพาะดอกขนาดกลาง ถ้ามีก้านดอกใหญ่อวบแน่นจะดีกว่าก้านเล็กหมวกใหญ่ นำมาต้มในน้ำเกลือเจือจาง 2 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับผักอื่นๆ หรือตามความต้องการของผู้ซื้อ โดยทั่วไปประเทศไทยจะผลิตเห็ดเป๋าฮื้อบรรจุกระป๋องไม่มากนัก เนื่องจากในโรงงานรับซื้อในราคาต่ำ ผู้ปลูกนำไปขายยังตลาดสด จะได้ราคาดีกว่าหรือปลูกเห็ดชนิดอื่นแทนที่ แม้ราคาต่ำกว่าแต่ผลิตได้เร็ว ผลผลิตรวมได้มากกว่า
- เห็ดเป๋าฮื้อแห้ง สามารถทำได้ง่ายโดยการแต่งดอกเห็ดให้สะอาด แล้วนำไปตากแดดให้แห้งภายใน 3-4 วัน แต่ในด้านการตลาดนั้น ยังไม่มีตลาดรองรับเห็ดเป๋าฮื้อแห้ง เพราะส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะนิยมใช้เห็ดหอมมากกว่า
4. เทคนิคการเพาะ เห็ดหูหนู
พันธุ์ เห็ดหูหนูเป็นเห็ดอีกชนิดหนึ่งที่นิยมบริโภคกันทั่วไป เพราะมีรสชาติดี กลิ่นหอม สามารถรักษาสภาพความกรอบได้อยู่เสมอเมื่อนำมาปรุงอาหาร นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณทางยา คือ บำรุงกระดูก รักษาโรคเจ็บคอ และแก้อาการร้อนในได้ เห็ดหูหนูที่เพาะในประเทศไทยสามารถแบ่งตามลักษณะเห็ดได้ชนิดต่างๆ ดังนี้
1.เห็ดหูหนูพันธุ์บาง เป็นเห็ดที่เกิดได้ตามธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศ ลักษณะดอกบาง มีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีดำคล้ายเยลลี่ การออกดอกส่วนมากเป็นดอกเดี่ยว ผิวเรียบไม่มีขนทั้งด้านบนและด้านล่างของดอก
2.เห็ดหูหนูพันธุ์หนา จะมีความหนามากกว่าเห็ดชนิดแรกมาก เมื่อตัดขอบดอกออกก็จะสามารถลอกดอกเห็ดออกเป็น 2 ชั้นได้โดยง่าย โดยผิวด้านบนของหมวกดอกมีลักษณะเรียบ ส่วนผิวด้านล่างของหมวกดอกเป็นริ้วมีขนละเอียด มีสรรพคุณทางยาและคุณค่าทางอาหารสูงกว่าพันธุ์บาง
3.เห็ดหูหนูเผือก เป็นเห็ดที่กลายพันธุ์มาจากเห็ดหูหนูพันธุ์หนา ลักษณะดอกมีสีขาว รสชาติอร่อยไม่แพ้เห็ดหูหนู พันธุ์หนา
นอกจากนี้ ยังมีเห็ดที่คนมักคิดว่าเป็นเห็ดชนิดเดียวกันกับเห็ดหูหนู ได้แก่ เห็ดหูหนูขาว ที่มีดอกสีขาวคล้ายปะการัง หรือกัลปังหา ขอบดอกหยัก เห็ดชนิดนี้อยู่คนละตระกูลกัน นิยมนำมาประกอบอาหาร การผลิตถุงเชื้อ เห็ดหูหนูเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินฟ้าอากาศของประเทศไทย สามารถเพาะได้ทั้งในก้อนขี้เลื่อย และในท่อนไม้ ไม้ที่นิยมใช้เพาะเห็ดหูหนู ได้แก่ ไม้แค ไม้มะม่วงหรือไม้เนื้ออ่อน เปลือกหนา ไม่มียางที่เป็นพิษต่อเห็ด โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12-15 เซนติเมตร แต่คุณภาพดอกเห็ดที่ได้จากการเพาะในท่อนไม้นี้จะไม่ดีเท่าการเพาะจากถุง เนื่องจากดอกจะมีขนยาว ดอกกระด้างและสีไม่สวย
การผลิตดอกเห็ดหูหนู เมื่อเส้นใยเดินเต็มถุงและรัดตัวแล้ว การเปิดก้อนเชื้อเห็ดหูหนูจะใช้วิธีกรีดถุงผลิตดอกเห็ด โดยกรีดข้างถุงเป็นแถว 5-6 แถว วางไว้ในที่ร่มและไม่รดน้ำเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นจึงค่อยรดน้ำ ถ้ากรีดแล้วรดน้ำทันที เห็ดจะสร้างดอกได้ไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อเก็บดอกเห็ดแล้ว 3-4 รุ่น หากกรีดถุงหรือเจาะถุงในแนวใหม่ที่ว่างอยู่ก็จะเกิดดอกเห็ดได้ดีอีก การเก็บผลผลิตเห็ดหูหนู เห็ดหูหนูเมื่อเจริญโผล่ออกมาเป็นตุ่มเล็กๆ แล้ว หากมีสภาพแวดล้อมที่ดี จะเจริญเติบโตเต็มที่ภายใน 7-10 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด เห็ดหูหนูเมื่อยังเล็กขอบดอกจะโค้ง เรียบ คว่ำลง เมื่อโตเต็มวัย ขอบดอกเริ่มย่นและอาจจะงอนขึ้น มีสปอร์คล้ายฝุ่นสีขาว ด้านล่างของดอก การเก็บดอกเห็ดให้เลือกเก็บเฉพาะดอกที่โตเต็มวัย ซึ่งจะดึงหลุดได้ง่าย (ดอกเล็กนั้นจะเหนียว ถ้าดึงแรงๆ จะหลุดออกมาทั้งกลุ่มและมีขี้เลื่อยติดมาด้วย) จากนั้นนำดอกเห็ดมาล้างทำความสะอาด ตัดโคนเห็ดที่มีเศษสกปรกออก รอการจำหน่ายต่อไป
การเก็บรักษาผลผลิตเห็ดหูหนู นิยมนำมาแปรรูปเป็นเห็ดหูหนูแห้ง โดยนำเห็ดสดที่ล้างสะอาดแล้วมาตากแห้งบนแผงไม้ไผ่ มุ้งไนล่อน หรือกระด้งก็ได้ ใช้เวลาในการตากประมาณ 3-4 วัน โดยในวันแรกควรวางเห็ดชั้นเดียวให้ได้รับความร้อนจากแสงแดดอย่างทั่วถึงจนเห็ดเริ่มเหี่ยว จากนั้นในวันต่อๆ มา จึงนำเห็ดหลายๆ ชนิดมาตากรวมกันในถาดเดียว เห็ดหูหนูพันธุ์หนาจะสูญเสียน้ำหนักประมาณ 7-10 เท่า ส่วนเห็ดหูหนูพันธุ์บางจะเสียน้ำหนักไป 10-14 เท่า ซึ่งโดยเฉลี่ยเห็ดสด 10 กิโลกรัม จะทำเป็นเห็ดหูหนูแห้งได้ประมาณ 1 กิโลกรัม ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือน โดยไม่ถูกทำลายจากเชื้อรา แมลง และหนู
5. เทคนิคการเพาะ เห็ดขอนขาว (เห็ดมะม่วง) การเตรียมการเพาะเห็ดขอนขาว เห็ดขอนขาวเป็นเห็ดที่ชอบอากาศร้อนชื้น ซึ่งในปัจจุบันมีวงจรการผลิตอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มิถุนายน ดังนี้
- เดือนพฤษภาคม – ธันวาคม ผลิตหัวเชื้อวุ้น
- เดือนมกราคม – มีนาคม ผลิตหัวเชื้อข้าวฟ่าง
- เดือนมีนาคม – เมษายน ผลิตก้อนเชื้อเห็ด
- เดือนกุมภาพันธ์ – มิถุนายน เปิดถุงเก็บดอก
>การผลิตถุงเชื้อเห็ดขอนขาว ประกอบด้วยส่วนผสมดังนี้
>ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม รำละเอียด 3-5 กิโลกรัม
>น้ำตาลทรายละเอียด 3 กิโลกรัม ปูนขาว 1 กิโลกรัม
>ดีเกลือ 200 กรัม
นำส่วนผสมมาคลุกเคล้าผสมให้เข้ากันดี ปรับความชื้นให้อยู่ประมาณ 60-65 เปอร์เซ็นต์ บรรจุลงในถุงพลาสติกจำนวน 8-10 ขีดต่อถุง ใส่คอขวดจีบพับพลาสติกส่วนที่เหลือให้สม่ำเสมอรัดด้วยหนังยาง ปิดสำลีใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มสำลี ไว้อีกชั้นหนึ่ง จากนั้นนำไปนึ่งฆ่าเชื้อทันทีไม่ควรทิ้งไว้เกิน 24 ชั่วโมง เพราะจะทำให้อาหารบูดเชื้อเห็ดเจริญได้ไม่ดี การนึ่งฆ่าเชื้อควรใช้อุณหภูมิประมาณ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง สำหรับหม้อนึ่งลูกทุ่งที่เจาะรู 1 หุน ที่ฝาปิด วิธีการนึ่งให้ใส่น้ำสูงจาก้นถังประมาณ 20 เซนติเมตรวางตะแรงโลหะหรือไม้ให้อยู่เหนือระดับน้ำเล็กน้อยแล้ววางเรียงก้อน วัสดุเพาะเห็ดลงไปให้ถุงตั้งขึ้นประมาณ 60-70 ถุง ปิดฝารัดด้วยเข็มขัดจานั้นต้มน้ำให้เดือด สังเกตไอน้ำจะพุ่งตรงขึ้นมาจาก รูเจาะที่ฝาจับเวลาเป็นเวลา 2 ชั่วโมงแล้วจึงดับไฟตั้งทิ้งไว้ให้เย็น ส่วนหม้อนึ่งความดันไอน้ำให้ใช้ความดันระหว่าง 15-20 ปอนด์ต่อตารางนิ้วเป็นเวลา 30 นาทีจึงดับไฟแล้วตั้งทิ้งไว้ให้เย็น จานั้นนำไปใส่เชื้อข้าวฟ่างถุงละประมาณ 10-15 เมล็ด แล้วนำไปพักบ่ในโรงเรือนที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวกเป็นเวลาประมาณ 28-38 วัน
การผลิตดอกเห็ดขอนขาว เมื่อเส้นใยเริ่มสร้างสีน้ำตาลบนผิววัสดุเพาะหรือมีเส้นใยหนาๆ มาออตัวกันที่ปาถุงประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ให้นำไปเปิดก้อนเชื้อเห็ดโดยใช้มีดคมๆ กรีดพลาสติกรอบๆ บ่าถุงออก ซึ่งเรียกว่า ตัดบ่า ในโรงเรือนเปิดออกแล้วนำไปวางซ้อน บนชนตัวเอ การเรียงไม่ควรสูงเกิน 0.5 เมตรเพราะจะสะดวกตอการเก็บดอกและความชื้น ความเย็นจากพื้นโรงเรือนกระจายขึ้นไปถึง ภายในโรงเรือนควรรักษาความชื้นไว้ที่ 70-90 เปอร์เซ็นต์โดยการรดน้ำระมัดระวังอย่าให้น้ำเข้าไปขังในก้อนเชื้อ เพราะจะทำให้ก้อนเชื้อเน่าเสียเร็วอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเกิดดอกอยู่ระหว่าง 20-35 องศาเซลเซียส การดูแลรักษาอื่นๆ คล้ายกับเห็ดในตระกูลนางรม นางฟ้า
โรงเรือนเปิดดอก จะใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ไม้แฝก หญ้าคา เป็นต้น สามารถเก็บรักษาความชื้นได้ดี ระบบการถ่ายเทอากาศสะดวก ทำความสะอาดได้ง่าย พื้นโรงเรือน ควรใช้วัสดุที่เก็บความชื้นได้ดี เช่น ทราย ขนาดของโรงเรือนนิยมใช้ ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร ผนังดัานยาวมีหน้าต่างด้านละหนึ่งบาน ขนาด 0.4×0.65 เมตร และที่หน้าจั่วมีช่องระบายอากาศขนาด 0.4 x 0.6 เมตร โรงเรือนด้านในบุด้วยพลาสติก ด้านนอกมุงด้วยแฝก โรงเรือนควรอยู่ใต้ร่มไม้หรือใช้ซาแรนตาถี่พรางแสงด้านในของโรงเรือนไม่ให้แสงอาทิตย์ส่องลงมา โดยตรง เนื่องจากเห็ดชนิดนี้ ชอบสภาพอากาศร้อนชื้น ในฤดูหนาวที่อุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ในภาคอีสานเกษตรกรจะขุดเป็นห้องใต้ดินขนาด 2×2 เมตร มีบันไดไม้พาดเดินลงไปเพื่อบ่มเชื้อและเปิดดอก ส่วนเหนือพื้นดิน 0.5 เมตรทำเป็นหลังคาพลาสติกปิดคลุมไว้เว้นช่องระบายอากาศไว้เล็กน้อย สภาพโรงเรือนเช่นนี้ดินจะเป็นตัวเก็บความร้อนทำให้เห็ดออกดอก สม่ำเสมอไม่ฟักตัวเนื่องจากอากาศเย็น
การเก็บผลผลิตเห็ดขอนขาว ระยะที่เหมาะต่อการเก็บนำมารับประทานมากที่สุดคือระยะที่ดอกเห็ดเป็นสีขาวนวลหรือครีมกึ่งเหลืองอ่อน ขอบหมวกยังม้วนงอเมื่อหงายขึ้นจะมองไม่เห็นครีบใต้ดอกหรือเห็นเป็นบางส่วนในบริเวณที่ครีบติดกับก้านดอก เห็ดขอนขาวเมื่อนำประกอบอาหารจะให้รสชาติหวาน เหนียวเล็กน้อยคล้ายกับเนื้อสัตว์นิยมรับประทานกันมาก ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน ราคาของเห็ดขอนขาวจะอยู่ระหว่าง 35-80 บาท/กิโลกรัม ผลผลิตที่เก็บได้จะประมาณ 80-100 กรัมต่อถุง เนื่องจากเห็ดขอนขาวมีน้ำหนักเบา การเก็บรักษาผลผลิตเห็ดขอนขาว ควรเก็บไว้ในที่ร่มเย็น ป้องกันไม่ให้ดอกฉ่ำน้ำ เน่าเร็วด้วยวิธีง่ายๆ คือ ห่อกระดาษหรือใส่ถุงกระดาษแล้วนำไปเก็บไว้ ในช่องแช่ผัก หากบรรจุในถุงพลาสติกควรเจาะรูให้ไอน้ำระเหยออกไป ซึ่งจะเก็บไว้ได้ประมาณ 1 สัปดาห์หรือแปรรูปโดย การต้มกับน้ำเกลือ 3 เปอร์เซ็นต์บรรจุลงในขวดแก้วที่สะอาดเก็บไว้ในตู้เย็นใต้ช่องน้ำแข็งจะช่วยยืดอายุการเก็บไว้ได้นาน ยิ่งขึ้น
6. เทคนิคการเพาะ เห็ดหอม
เห็ดหอมมีปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต ดังนี้
1.อุณหภูมิเห็ดหอมมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเมืองหนาวจึงชอบอุณหภูมิต่ำ การผลิตเห็ดหอมในประเทศไทยจะทำได้เฉพาะ ในฤดูหนาวเท่านั้น โดยอุณหภูมิที่เหมาะแก่การเจริญของเส้นใยจะอยู่ระหว่าง 20-25 องศาเซลเซียส และที่ระดับอุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส เห็ดหอมจะเกิดดอกได้ดีที่สุดและหลังการเก็บดอกเห็ดในแต่ละรุ่นนั้น ก้อนเชื้อเห็ดจะมีการพักตัวประมาณ 15-30 วัน ระหว่างนี้ให้รักษาอุณหภูมิ ภายในโรงเรือนไม่ให้เกิน 25 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ ประมาณ 60-70 เปอรเซ็ นต์ หรือใช้วิธีกระตุ้น ด้วยน้ำเย็น โดยไม้ให้มีน้ำขังอยู่ในถุง สำหรับการเพาะเห็ดหอมในสภาพที่ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิควรทำก้อนเชื้อขนาดเล็ก ซึ่งเส้นใยสามารถเจริญเต็มอาหารเพาะได้ในระยะเวลาอันสั้น การปนเปื้อนจะมีน้อยลงและหากต้องการให้ได้ดอกเห็ดที่มีขนาด ใหญ่ควรบังคับให้ก้อนเชื้อสัมผัสอากาศเฉพาะบางส่วนเท่านั้นมิฉะนั้นจะมีดอกเห็ดเกิดมากและมีขนาดเล็ก
2.อาหาร เห็ดหอมต้องการอาหารที่มีคุณค่าสูง หาให้อาหารที่มีคุณค่าต่ำก็จะเลี้ยงเส้นใยได้แต่ไม่เกิดดอกเห็ด โดยอาหารที่ใช่เพาะเลี้ยงเห็ดหอมควรจะเติมรำละเอียดมากถึงระดับ 10-12 เปอร์เซ็นต์และจะต้องดูแลรักษาความสะอาด เป็นพิเศษ เนื่องจาอาหารยิ่งดีก็จะยิ่งเสียหายมากจากการเข้าทำลายของเชื้อราและไร สำหรับสูตรอาหารที่ใช้ทำก้อนเชื้อ เพาะเลี้ยงเห็ดหอมมีส่วนผสมดังนี้ –
ขี้เลื่อยไม่เนื้ออ่อน 100 กิโลกรัม รำละเอียด 10-12 กิโลกรัม
น้ำตาลทราย 2 กิโลกรัม ยิปซัม 2 กิโลกรัม
ดีเกลือ 200 กรัม
3.การบ่มพักตัว เห็ดหอมเป็นเห็ดที่มีการเจริญเติบโตของเส้นใยช้าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือนขึ้นไป และจะ เจริญเต็มถุงประมาณ ½ – 2 เดือน เมื่อก้อนเชื้อมีเส้นใยเจริญเต็มถุงแล้วให้นำไปบ่มพักตัว 2-3 เดือน เพื่อให้เส้นใยจับ กันเป็นแผ่นสีน้ำตาลก่อนนำไปผลิตดอกเห็ด ซึ่งจะช่วยให้ดอกเห็ดเกิดได้ดียิ่งขึ้น หรือมิฉะนั้นต้องนำไปแช่ตู้เย็นหรือ แช่น้ำอุ่นก่อน ซึ่งจะทำหน้าที่แทนการฟักตัวได้
4.การวางแผนการผลิต ฟาร์มที่จะผลิตเห็ดหอมในฤดูหนาว จะต้องมีการเตรียมงานล่วงหน้าก่อนต้นฤดูหนาว ประมาณ 5 เดือน เพราะเห็ดหอมต้องใช้เวลาเจริญในวุ้นอาหารครึ่งเดือนเจริญในเชื้อข้าวฟ่างครึ่งเดือน เจริญในถุงเชื้อ 2 เดือน และพักตัวก่อนนำไปผลิตดอกเห็ดอีก 2 เดือน
การกระตุ้นให้เกิดดอกเห็ด จะใช้วิธีกระตุ้นก้อนเชื้อด้วยน้ำเย็นที่อุณหภูมิ 10-15 องศาเซลเซียส ก่อนการเปิดถุงให้ออกดอกและหลังจากการพัก ตัวของก้อนเชื้อในระหว่างเก็บดอกเห็ดแต่ละรุ่น ซึ่งมีวิธารทำหลากหลายวิธีดังนี้
>วิธีที่ 1 แช่ก้อนเชื้อในน้ำเย็นไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงจากนั้นนำไปเปิดปากถุงหรือแกะพลาสติกออกแล้ว
นำไป วางในโรงเรือนเปิดดอก
>วิธีที่ 2 เปิดปากถุงและให้น้ำในก้อนเชื้อที่วางไว้ในโรงเรือน ทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมงจึงเทน้ำออก
>วิธีที่ 3 ตัดปากถุงและคว่ำก้อนเชื้อลงบนฟองน้ำเปียกเป็นเวลา 24-36 ชั่วโมง
>วิธีที่ 4 เปิดปากถุงและวางก้อนเชื้อที่พื้นโรงเรือน ให้น้ำแบบฝอยเป็นเวลา 24 ชั่วโมงแล้วเทน้ำที่ขังในถุง
ออก
การผลิตดอกเห็ดหอม
หลังจากกระตุ้นก้อนเชื้อเห็ดหอมที่พักตัวแล้ว นำมาเปิดถุงให้ออกดอกด้วยวิธีพับปากถุงหรือตัดถุงพลาสติกออก เสมอขอบบน วางถุงกับพื้นดินเพื่อให้ได้รับความชื้นอย่างพอเพียง ซึ่งอาจเจาะข้างถุงบ้างก็ได้วิธีนี้จะต้องวางถุงห่างๆ กัน เพื่อดอกเห็ดที่เกิดขึ้น บริเวณข้างถุงจะได้ไม่เบียดกัน ส่วนใหญ่มักต้องการประหยัดพื้นที่จึงนิยมเปิดปากถุงมากกว่า
การเก็บผลผลิตเห็ดหอม
สำหรับการทำแห้งควรเก็บดอกเห็ดในขณะที่หมวกยังไม่บานเต็มที่ ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์หรือเมื่อเยื่อยึดที่ หมวกและก้านดอกเห็ดเริ่มขาดออกตัดก้านให้เหลือไม่เกิน 1 เซนติเมตร ส่วนการเก็บเพื่อบริโภคดอกสดอาจจะให้ หมวกเห็ดบานประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ไม่ควรให้ดอกเห็ดถูกน้ำเพราะจะทำให้เน่าเสียเร็วตัดก้านให้เหลือไม่เกิน 0.5 นิ้ว
การเก็บรักษาผลผลิตเห็ดหอม
ดอกเห็ดสด หากไม่ใช้บริโภคทันทีควรเก็บไว้ในภาชนะที่มีอากาศผ่านได้หรือใส่ในถุงพลาสติก ปิดและเก็บใน ห้องเย็นที่อุณหภูมิ 0-2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลาไม่เกิน 5 ชั่วโมงหลังจากเก็บดอกเห็ด
การตากแดด
เป็นการลดความชื้นภายในดอกเห็ดในระยะเวลาอันรวดเร็วดอกเห็ดจะยุบตัวย่นมากเมื่อแห้งการตาก ควรคว่ำดอกเห็ดให้ส่วนครีบอยู่ด้านใต้เพื่อป้องกันไม่ให้ครีบมีสีคล้ำและควรหลีกเลี่ยงแดดที่จัดมากเกินไปเพราะจะทำให้ ดอกเห็ดไหม้เกรียมได้เมื่อดอกเห็ดแห้งสนิทดีแล้วให้เก็บรักษาในภาชนะที่ปิดสนิทกันความชื้น
การอบแห้ง
จะใช้ลมร้อนค่อยๆ ลดความชื้นภายในดอกเห็ด ซึ่งจะได้รสชาติกลิ่นและรูปร่างลักษณะของดอกว่า การตากแดดโดยอุณหภูมิเริ่มแรกที่ใช้จะสูงกว่าระดับอุณหภูมิห้องปกติประมาณ 5 องศาเซลเซียส จากนั้นจึงเพิ่มอุณหภูมิ ขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส ทุก 1 ชั่วโมงจนกระทั่งถึง 50 องศาเซลเซียส จึงเพิ่มเป็น 60 องศาเซลเซียสและรักษาอุณหภูมิไว้ ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อช่วยเพิ่มรสชาติและทำให้ดอกเห็ดเป็นเงาสวยงาม
7. เทคนิคการเพาะ เห็ดลม (เห็ดกระด้าง, เห็ดบด)
ลักษณะโรงเรือน โรงเรือนที่ใช้เพาะเห็ดลมควรมีขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 3 เมตร หลังคามุงจากหรือแฝก ด้านข้างโรงเรือนควรเป็นพลาสติกเคลือบ สามารถเปิดปิดได้สะดวก
การผลิตถุงเชื้อ มีสูตรอาหารที่ใช้ทำก้อนเชื้อเพาะเลี้ยงเห็ดลม ดังนี้
- สูตรที่ 1 ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม รำละเอียด 7.5 กิโลกรัม
- ปูนขาว 2 กิโลกรัม ยิปซัม 500 กรัม
- ดีเกลือ 200 กรัม ความชื้น 65-75 เปอร์เซ็นต์
- สูตรที่ 2 ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม รำละเอียด 3 กิโลกรัม
- ปูนขาว 1 กิโลกรัม ยิปซัม 2 กิโลกรัม
- ดีเกลือ 200 กรัม ความชื้น 65-75 เปอร์เซ็นต์
- น้ำตาลทราย 2 กิโลกรัม
นำขี้เลื่อยมาผสมกับอาหารเสริมคลุกให้เข้ากัน เติมน้ำลงไปจนกระทั่งมีความชื้นพอดี คือ ขณะกำขี้เลื่อยไว้ในมือจะไม่มีน้ำไหลออกมาตามง่ามมือ พอแบมือออก ก้อนขี้เลื่อยยังจับตัวกันเป็นก้อน หรือแตกประมาณ 2-3 ก้อน จากนั้นนำส่วนผสมดังกล่าว บรรจุถุงพลาสติกทนร้อนให้แน่นพอสมควร ประมาณถุงละ 800 กรัม พร้อมสวมคอพลาสติกและจุกด้วยสำลี นำไปนึ่งฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง แล้วนำไปใส่เชื้อข้าวฟ่างถุงละประมาณ 10-20 เมล็ดต่อไป การบ่มพักก้อนเชื้อเห็ดหอม หลังจากที่ได้ทำการเขี่ยเชื้อลงถุงเรียบร้อยแล้ว นำถุงก้อนเชื้อ ไปบ่มพักไว้ในโรงเรือนที่มีอุณหภูมิประมาณ 28-30 องศาเซลเซียส (อุณหภูมิห้อง) ให้มีการถ่ายเทระบายอากาศเพียงพอ บ่มพักก้อนเชื้อเห็ดลมประมาณ 25-30 วัน เชื้อเห็ดจะเจริญเต็มถุง บ่มพักต่อไปอีกประมาณ 1-2 เดือน เพื่อให้เส้นใยเดินหนาแน่นและแข็งแรง (เส้นใยรัดตัว) จากนั้นจึงขนย้ายเข้าโรงเรือนสำหรับเปิดดอก
การผลิตดอกเห็ดหอม เมื่อนำก้อนเชื้อเห็ดที่เดินเต็มถุงและรัดตัวแล้วเข้าโรงเรือนเปิดดอกให้จุกสำลีออก รดน้ำให้ชุ่ม อุณหภูมิภายในโรงเรือนควรอยู่ประมาณ 37-40 องศาเซลเซียส ปิดโรงเรือนให้สนิทประมาณ 7-10 วัน เห็ดลมก็จะเกิดตุ่มดอกเล็กๆ บริเวณไหล่ถุง ให้เอามีดกรีดปากถุงออกให้หมด พอดอกเห็ดลมเริ่มใหญ่ให้เปิดโรงเรือน โดยการม้วนพลาสติกด้านข้างขึ้นเพื่อถ่ายเทระบายอากาศ เห็ดลมสามารถเก็บดอกได้หลังจากเส้นใยรัดตัวแล้ว 1-2 เดือน การเก็บผลผลิตเห็ดหอม ให้เก็บวันละ 2 ครั้ง คือ เช้าและเย็น โดยใช้มือดึงดอกเห็ดที่โตเต็มที่ออกทยอยเก็บเรื่อยๆ จนหมด จากนั้นจึงปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ต้องรดน้ำประมาณ 7-10 วันแล้วค่อยรดน้ำและควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ประมาณ 37-40 องศาเซลเซียส จนเห็ดเกิดตุ่มดอก และเมื่อดอกเห็ดเริ่มใหญ่จึงเปิดพลาสติกด้านข้างออก เพื่อระบายอากาศให้ถ่ายเทอีกครั้ง
8. เทคนิคการเพาะ เห็ดตีนแรด (เห็ดจั่น, เห็ดตับเต่าขาว)
ลักษณะทั่วไป เห็ดตีนแรดเป็นเห็ดที่มีขนาดใหญ่สีขาวหรือ สีขาวปนเทา เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีลักษณะคล้ายร่ม ก้านดอกใหญ่ น้ำหนักตั้งแต่ 800 กรัมขึ้นไป บางครั้งพบ มีน้ำหนักกว่า 10 กิโลกรัม หมวกเห็ดเป็นรูปกระทะคว่ำ สีขาวหม่นหรือสีขาวนวล เมื่อเป็นดอกอ่อนขอบจะม้วนลงเป็นรูปทรงกลม ผิวเรียบ มีครีบใหญ่สีขาวสลับกับครีบสั้นและเว้าเป็นแอ่งเล็กน้อยก่อนยึดติดกับก้านดอก เห็ดตีนแรดเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่อินทรียวัตถุสูง มีการระบายน้ำดี โดยปกติมักพบในช่วงฤดูฝนเท่านั้น แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนานำเชื้อเห็ดมาเพาะเลี้ยงเป็นการค้าด้วย มีการเลี้ยงเส้นใย ทำหัวเชื้อในเมล็ดข้าวฟ่าง ทำถุงเชื้อขี้เลื่อยแล้วเทเชื้อลงถุง ซึ่งเส้นใยจะเดินเต็มถุงใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน จากนั้นจึงนำไปเพาะควบคู่กับการปลูกผักในลักษณะของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
การผลิตถุงเชื้อเห็ดตีนแรด มีวัสดุเพาะที่ประกอบด้วยส่วนผสม ดังนี้
- ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม รำละเอียด 5 กิโลกรัม
- ปูนขาว 1 กิโลกรัม ยิปซัม 2 กิโลกรัม
- ดีเกลือ 200 กรัม ความชื้น 60-65 เปอร์เซ็นต์
- จากนั้นทำก้อนเชื้อเห็ดเหมือนกับเห็ดอื่นๆ บ่มก้อนเชื้อที่อุณหภูมิประมาณ 28-38 องศาเซลเซียส ใช้เวลาในการบ่ม 50-60 วัน และก่อนที่จะนำก้อนเชื้อมาใช้ควรปล่อยให้ก้อนเชื้อพักตัวอีกประมาณ 7-10 วัน ซึ่งจะช่วยให้ก้อนเชื้อเห็ดงอกได้ดียิ่งขึ้น
การเพาะเห็ดตีนแรดร่วมกับการปลูกผัก จะมีขั้นตอนการเพาะ ดังนี้
1.จัดเตรียมพื้นที่และวัตถุดิบที่ใช้ในการเพาะ ได้แก่
- ดินป่นที่ขุดลึกจากผิวดิน 25 เซนติเมตร
- ก้อนเชื้อเห็ดตีนแรดที่เส้นใยเดินเต็มถุง
(พื้นที่ 1 ตารางเมตร จะใช้ก้อนเชื้อ 100 ก้อน) - แปลงเพาะที่อยู่ในพื้นที่ดอน ไม่มีน้ำท่วมขัง อากาศไม่หนาวจัดจนเกินไป
- ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเก่า
2.จัดเตรียมแปลงเพาะให้เหมาะต่อการเพาะเห็ด โดยทำเป็นบ่อลึกประมาณ 25 เซนติเมตร ขนาด 1 x 4 เมตรต่อแปลง หรือ กว้าง 1 เมตร ส่วนความยาว กำหนดเองตามความต้องการ
3.นำก้อนเชื้อเห็ดตีนแรดที่เส้นใยเดินเต็มถุงดีแล้วมาฉีกถุงพลาสติกออกให้เหลือแต่ก้อนเชื้อ นำไปเรียงลงในแปลงชิดติดกันอย่างต่อเนื่องจนเต็มแปลงเพาะ (พยายามอัดก้อนเชื้อให้แน่นเพื่อให้เส้นใยของเห็ดแต่ละก้อนเดินกันอย่างรวดเร็วเป็นเนื้อเดียวกัน) แล้วนำดินร่วนที่เตรียมไว้มากลบบนก้อนเชื้อให้มิดหนาประมาณ 1-3 เซนติเมตร
4.บ่มเชื้อในแปลง เห็ดตีนแรดจะใช้เวลาประมาณ 20-40 วัน ในการเกิดดอก (ถ้าในฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิต่ำจะเกิดดอกช้า) หลังจากเกิดตุ่มดอกแล้ว 7-10 วัน จึงเก็บผลผลิตได้ โดยขนาดหรือน้ำหนักดอกเห็ดจะขึ้นอยู่กับจำนวนก้อนเชื้อที่ใช้ โดยทั่วไปดอกเห็ดที่ได้จะหนักกว่า 1 กิโลกรัม และบางกลุ่มดอกอาจหนักมากกว่า 10 กิโลกรัม
5.การปลูกผัก ให้นำเมล็ดพันธุ์ผักที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ขึ้นฉ่าย มาทยอยหยอดลงในแปลง นำดินกลบบางๆ แล้วใช้ฟางข้าวคลุม รดน้ำให้ชุ่มและรักษาความชื้นไม่ให้ดินแห้ง ผักที่ปลูกจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ในระยะเวลา 40-60 วัน ระหว่างนั้นเชื้อเห็ดตีนแรดจะเริ่มออกดอก เมื่อเก็บผักรุ่นแรกเสร็จให้ทำร่มเงาในแปลงผัก โดยใช้ซาแรน 60-80 เปอร์เซ็นต์ ขึงสูงประมาณ 2.5 เมตร หรือใช้ทางมะพร้าวพรางแสงและบังลมแทนก็ได้ สำหรับแปลงผักที่เก็บเกี่ยวแล้วสามารถนำมาปลูกผักชี ผักกินใบที่อยู่ในร่มได้ โดยนำดินผสมปุ๋ยอินทรีย์โรยก่อนปลูกผัก แล้วนำฟางข้าวคลุม
ซึ่งในระหว่างที่ผักรุ่นสองเจริญเติบโตให้ ดูแลรดน้ำและรักษาความชื้นตามปกติ และเห็ดก็จะเจริญเติบโตเก็บดอกอีกครั้งประมาณ 40-60 วัน พร้อมกับการเก็บผักควบคู่กันไป ซึ่งการเพาะเห็ดร่วมกับการปลูกผักเช่นนี นอกจากจะได้ผลผลิตทั้งเห็ดและผักแล้ว ยังพบว่าไม่มีแมลงรบกวนในแปลงปลูก ทำให้ได้เห็ดและผักที่ปลอดภัยจากสารพิษ ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอีกด้วย การปฏิบัติดูแลรักษาแปลงเพาะเห็ดจะทำเช่นนี้เรื่อยไป ซึ่งระยะเวลานานเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา โดยมีการทดลองพบว่าสามารถเก็บผลผลิตอยู่ได้นานถึง 8 เดือน
9. เทคนิคการเพาะ เห็ดแครง (เห็ดตีนตุ๊กแก. เห็ดแก้น. เห็ดตามอด, เห็ดยาง หรือเห็ดมะม่วง)
ลักษณะทั่วไป เห็ดแครงเป็นเห็ดที่มีสีขาวนวลแผ่ออกเป็นรูปพัด มีขนาดเล็กประมาณ 1-2 เซนติเมตร ก้านสั้น ใช้ประกอบอาหารที่ปรุงด้วยเครื่องเทศ เช่น แกงคั่ว หมก และงบ มีรสชาติหวาน เหนียว คล้ายเนื้อปลาหมึกหรือเกสรหอย นิยมรับประทานกันในเขตภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสานตอนบน ซึ่งจะมีจำหน่ายในช่วงฤดูฝนเท่านั้น เนื่องจากต้องเก็บจากธรรมชาติ ไม่มีการเพาะจำหน่าย เพราะเห็ดแครงไม่สามารถให้ดอกคุ้มค่าทางเศรษฐกิจได้ในสูตรอาหารทั่วไปที่ใช้เพาะกัน แต่ในปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้วิจัยสูตรอาหาร เทคนิคการเพาะ การดูแล จนได้ผลผลิตมากพอในแง่เศรษฐกิจ คือ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 130-150 กรัม ในวัสดุเพาะ 1,000 กรัม เห็ดแครงนอกจากจะใช้บริโภคทั่วไปในประเทศแล้ว ในประเทศญี่ปุ่นยังใช้เป็นยาได้อีกด้วย เนื่องจากในเห็ดแครงมีสารที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อไวรัสและยับยั้งเซลล์มะเร็งบางชนิดได้
การผลิตถุงเชื้อเห็ดแครง ขั้นตอนในการเลี้ยงเห็ดแครงจะเหมือนกับเห็ดชนิดอื่นๆ ยกเว้นสูตรอาหาร เทคนิคการเพาะ และการดูแล ซึ่งแตกต่างกันไปบ้าง เนื่องจากมีธาตุอาหารสูง จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างดี มิฉะนั้นเห็ดจะเกิดการปนเปื้อนจากเชื้อราอื่นได้ง่าย เป็นเหตุให้ผลผลิตเสียหาย สำหรับการผลิตถุงเชื้อจะมีส่วนผสมของวัสดุเพาะ ดังนี้
- ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม เมล็ดข้าวฟ่างดิบ 10-12 กิโลกรัม
- ความชื้น 65-75 เปอร์เซ็นต์
นำเมล็ดข้าวฟ่างมาแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นเทน้ำทิ้งเปลี่ยนน้ำใหม่ ต้มให้เดือดจนเมล็ดข้าวฟ่างค่อนข้างสุก (ดูจากเมล็ดข้าวฟ่างเริ่มแตก) แล้วรินน้ำทิ้ง พักไว้ให้เย็นหมาดๆ ซึ่งจะได้เมล็ดข้าวฟ่างต้มแล้วน้ำหนัก 50 กิโลกรัม ผสมขี้เลื่อย และรำเข้าด้วยกัน จากนั้นจึงผสมน้ำลงไป ตามด้วยเมล็ดข้าวฟ่างต้ม คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วกรอกใส่ถุงพลาสติกขนาด 6 x 10 นิ้ว ให้มีน้ำหนัก 500 กรัมต่อถุง ใส่คอขวด รัดยาง ปิดสำลี และฝาปิด นำไปนึ่งในหม้อนึ่งความดันที่ความดัน 15 ปอนด์ เป็นเวลา 30 นาที หรือนึ่งด้วยหม้อนึ่งลูกทุ่งที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 ชั่วโมง เช่นเดียวกับ การนึ่งถุงเชื้อเห็ดชนิดอื่นๆ จากนั้นนำไปพักทิ้งไว้ให้เย็น แล้วรีบใส่เชื้อขยายทันที อย่าทิ้งถุงไว้นานเกิน 24 ชั่วโมง เพราะจะเกิดการปนเปื้อนสูง
การพักบ่มเส้นใย โรงเรือนสำหรับพักบ่มเส้นใยควรเป็นโรงเรือนในร่ม มีการระบายอากาศดี และข้อสำคัญ จะต้องเป็นที่มืด (พยายามทำให้มืดที่สุด) มิฉะนั้นแสงจะเป็นตัวกระตุ้นให้เส้นใยสร้างดอก ทั้งที่เส้นใยยังเจริญสะสมอาหารได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผลผลิตต่ำ ไม่คุ้มค่าในแง่เศรษฐกิจ หลังจากพักบ่มเส้นใยประมาณ 15-20 วัน เส้นใยจะเจริญเต็มถุง สังเกตเห็นเส้นใยเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ให้นำไปเปิดดอก โดยนำถุงไปกรีดด้านข้างเป็นมุมเฉียงจากบนลงล่างทั้ง 4 มุมของถุง ส่วนด้านบนดึงจุกสำลีออกแล้วรัดยางปิดปากถุงให้แน่น นำไปวางไว้ในโรงเรือนเปิดดอกต่อไป
การผลิตดอกเห็ดเห็ดแครง โรงเรือนเปิดดอกเห็ดแครงจะใกล้เคียงกับโรงเรือนเปิดดอกของเห็ดหูหนู การวางก้อนเชื้อจะต้องวางตั้งบนชั้นสูงจากพื้นดินไม่เกิน 1 เมตร หรือแขวนแบบเห็ดหูหนู หลังจากกรีดถุงและรดน้ำเห็ดประมาณ 5 วัน ก็จะเริ่มเก็บผลผลิตรุ่นที่ 1 ได้ หลังจากนั้นเห็ดจะพักตัวอีก 5-7 วัน ให้รดน้ำตามปกติแล้วเก็บเห็ดในรุ่นที่ 2 และ 3 ตามลำดับได้ ซึ่งผลผลิตก็จะหมด ให้ขนก้อนเชื้อที่เก็บผลผลิตหมดแล้วไปทิ้งให้เป็นที่และหมักให้ย่อยสลายดีก่อนนำไปเป็นปุ๋ย เพราะเห็ดแครงสามารถย่อยสลายเนื้อไม้ได้ดี อาจเป็นอันตรายต่อผลิตผลทางการเกษตรบางชนิดได้ สำหรับโรงเรือนเปิดดอกหลังขนย้ายก้อนเชื้อเก่าไปทิ้งแล้ว ให้พักโรงเรือนให้แห้งเป็นเวลา 15 วัน แล้วจึงนำถุงเห็ดรุ่นใหม่มาเปิดดอกต่อไป การเก็บผลผลิตเห็ดแครง ควรเก็บผลผลิตในระยะที่ดอกมีสีขาวนวลก่อนที่จะสร้างสปอร์ (หากเห็ดแครงสร้างสปอร์แล้ว สีจะคล้ำเป็นสีน้ำตาล ทำให้ดูไม่น่ารับประทาน)
10. เทคนิคการเพาะ เห็ดโคนญี่ปุ่น (เห็ดยานางิ) เป็นเห็ดที่ตลาดต้องการสูงมาก รสชาติอร่อย มีความกรุบกรอบเป็นลักษณะเฉพาะตัว ราคาดี แต่เปอร์เซ็นต์ก้อนเสียสูง ใช้เวลานาน 1-2 ปี
การสังเกตความพร้อมของก้อนเชื้อเห็ดโคนญี่ปุ่น จะต้องมีเส้นใยสีขาวเห็นได้ชัด หรือหลังจากที่เส้นใยเจริญเต็มวัสดุเพาะแล้วประมาณ 15-25 วัน หรือสังเกตเห็นดอกเห็ดเล็กๆ ที่มีลักษณะคล้ายไข่ปลาสีน้ำตาลแดงเกิดขึ้น แสดงว่าพร้อมแล้วที่จะนำไปเปิดให้เกิดดอก การเปิดดอกเห็ดโคนญี่ปุ่น ถอดเอาจุกและคอออก แล้วปล่อยให้กลับสภาพเดิมเหมือนกับการสวมคอขวดอยู่ ไม่ควรเปิดปากให้กว้าง จะทำให้ความชื้นระเหยเร็วเป็นอันตรายต่อดอกอ่อนได้ โรงเรือนที่เหมาะสม เช่นเดียวกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า
- แสง ขนาดพออ่านหนังสือได้
- ความชื้นสัมพัทธ์ ประมาณ 85-90 เปอร์เซ็นต์ หรือรดน้ำวันละ 4-5 ครั้ง
- อุณหภูมิ สามารถเกิดดอกได้ในอุณหภูมิตั้งแต่ 20-32 องศาเซลเซียส จึงเพาะได้ดีตลอดทั้งปีในประเทศไทย ยกเว้นฤดูหนาว ทางเหนือและอีสานตอนบน
- อากาศ ไม่ควรมีลมโกรก อากาศพอถ่ายเทได้บ้าง โรงเรือนที่ทำด้วยจากหรือหญ้าคาจึงเหมาะสมที่สุด
- ควรเปิดช่องระบายอากาศด้านบนไว้บ้างในช่วงที่อุณหภูมิสูงเกินไป
- การรักษาความสะอาด เช่นเดียวกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า
- การเติมอาหารเสริมให้เห็ดโคนญี่ปุ่น เพิ่มธาตุ เช่นเดียวกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า
การให้ผลผลิตเห็ดโคนญี่ปุ่นต่อก้อน ดอกเห็ดจะเกิดเป็นชุดๆ แต่ละชุดห่างกัน 15-20 วัน ประมาณ 8-12 ชุด หรือประมาณ 16-24 เดือน ผลผลิตที่ออกแต่ละครั้งจะไม่เท่ากัน ครั้งแรกจะมากสุด ครั้งต่อไปผลผลิตจะลดปริมาณลงอย่างเห็นได้ชัด โดยรวมแล้วผลผลิตที่ได้จะอยู่ประมาณ 200-250 กรัม ต่อก้อน ต่ออายุการเก็บทั้งหมด จะนิยมเก็บดอกอ่อน ก่อนที่ปลายหมวกดอกจะคลี่ออกจากก้าน ทำการเก็บด้วยการดึงดอกเห็ดออกมาทั้งช่อ
11. เทคนิคการเพาะ เห็ดหลินจือ
เป็นเห็ดที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นยารักษามะเร็ง บำรุงร่างกาย ยืดอายุผู้ป่วยโรคเอดส์ และเบาหวาน ดอก
เห็ดมีลักษณะแข็งคล้ายไม้ จึงใช้เห็ดชนิดนี้เป็นยาเท่านั้น ในอดีตเราต้องนำเข้าเห็ดชนิดนี้ปีละไม่น้อย แต่ปัจจุบัน สามารถเพาะได้เร็วและดีกว่าต่างประเทศ จึงได้มีการผลิตกันอย่างกว้างขวาง ตลาดต้องการมาก การสังเกตความพร้อมของก้อนเชื้อเห็ดหลินจือ จะต้องมีเส้นใยสีขาวเห็นได้ชัดหรือหลังจากที่เส้นใยเจริญเต็มวัสดุเพาะแล้วประมาณ 15-20 วัน สังเกตจากการที่เส้นใยแทงทะลุผ่านจุกสำลีออกมา แสดงว่าพร้อมที่จะทำการเปิดให้ออกดอกได้ การเปิดดอกเห็ดหลินจือ ให้เปิดเอาสำลีหรือจุก และคอขวดออก ทำบริเวณปากถุงให้มีลักษณะดังเดิม ดอกเห็ดจะแทงออกมาจากปากถุงเพียง 1 ดอก หรืออาจจะมัดปากถุงให้แน่น กรีดบริเวณด้านข้าง ก็จะได้ดอกเห็ดที่ขนาดโตขึ้น แต่จะไม่มีก้าน
โรงเรือนที่เหมาะสม เช่นเดียวกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า
- แสง ขนาดพออ่านหนังสือได้
- ความชื้นสัมพัทธ์ ประมาณ 80-85 เปอร์เซ็นต์ หรือ รดน้ำวันละ 3-4 ครั้ง ระวังอย่ารดน้ำให้ถูกดอกเห็ดโดยตรง เพราะจะทำให้ดอกเห็ดเน่าไม่สามารถเก็บสปอร์ที่มีราคาแพงได้ ควรรดน้ำที่พื้นข้างฝาและเพดาน
- อุณหภูมิ สามารถเกิดดอกได้ในอุณหภูมิตั้งแต่ 25-35 องศาเซลเซียส จึงเพาะได้ดี ตลอดทั้งปีในประเทศไทย ยกเว้นฤดูหนาวทางภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน
- อากาศ เช่นเดียวกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า
- การรักษาความสะอาด เช่นเดียวกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า
- การเติมอาหารเสริมเห็ดหลินจือ เพิ่มธาตุ เช่นเดียวกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า
การให้ผลผลิตเห็ดหลินจือต่อก้อน ดอกเห็ดจะเกิดเพียง 2-3 ดอกเท่านั้น โดยแต่ละครั้งจะห่างกัน 20-30 วัน ประมาณ 2-3 เดือน โดยรวมแล้วผลผลิตที่ได้จะอยู่ประมาณ 150-250 กรัม ต่อก้อน ต่ออายุการเก็บทั้งหมด ทำการเก็บดอกเห็ดด้วยการใช้มือรวบก้านดอกแล้วดึงออก
12. เทคนิคการเพาะ เห็ดนางรมหลวง หรือ เออรินจิ
เป็นเห็ดที่ได้รับความนิยมจากตลาด แต่การลงทุนสูง เห็ดชนิดนี้มีรสชาติอร่อยคล้ายเนื้อไก่ การเจริญเติบโตของเส้นใยสามารถเพาะได้ในอุณหภูมิปกติ แต่การจะกระตุ้นให้เส้นใยเห็ดรวมตัวกันเป็นดอกนั้น จะต้องกระตุ้นด้วยความเย็นประมาณ 16-18 องศาเซลเซียส เมื่อเกิดดอกแล้ว ให้รักษาอุณหภูมิที่ 18-25 องศาเซลเซียส หรือห้องแอร์ธรรมดาได้ การสังเกตความพร้อมของก้อนเชื้อ จะต้องมีเส้นใยสีขาวเห็นได้ชัด หรือหลังจากที่เส้นใยเจริญเต็มวัสดุเพาะแล้วประมาณ 15-20 วัน การเปิดดอก ให้เปิดเอาสำลีหรือจุก และคอขวดออก เปิดปากให้กว้าง ใช้มีดตัดหรือม้วนปากให้กว้างก็ได้ กรณีทำไม่มาก ให้นำก้อนเชื้อเห็ดใส่เข้าไปในตู้เย็นชั้นแช่ผัก หรือตู้แช่หรือใช้น้ำแข็งใส่ทับข้างบนประมาณ 24 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้เส้นใยรวมตัวเป็นดอก จากนั้นจึงนำไปยังห้องปรับอากาศที่อุณหภูมิประมาณ 20-24 องศาเซลเซียส เมื่อเกิดดอกเห็ดแล้ว หากปล่อยให้เจริญต่อไป ดอกเห็ดจะมีขนาดเล็ก หากต้องการดอกเห็ดขนาดใหญ่ ให้ตัดหรือปลิดดอกเล็กบางส่วนออกไปบ้าง
โรงเรือนที่เหมาะสม เพาะได้ดีในฤดูหนาวของทางเหนือ หรืออีสาน หรือในห้องปรับอากาศธรรมดา
- แสง ขนาดพออ่านหนังสือได้
- ความชื้นสัมพัทธ์ ประมาณ 80-85 เปอร์เซ็นต์ หรือ รดน้ำวันละ 3-4 ครั้ง
- อุณหภูมิ สามารถเกิดดอกได้ในอุณหภูมิตั้งแต่ 15-25 องศาเซลเซียส จึงเพาะได้ดีในฤดูหนาว ทางภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน หรือห้องปรับอากาศ
- อากาศ เช่นเดียวกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า
- การรักษาความสะอาด เช่นเดียวกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า
- การเติมอาหารเสริม เพิ่มธาตุ เช่นเดียวกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า
การให้ผลผลิตต่อก้อน ดอกเห็ดจะออกเป็นชุดๆ แต่ละชุดห่างกัน 25-35 วัน ประมาณ 6-8 ชุด หรือประมาณ 10-12 เดือน ชุดต่อไปให้หยุดการรดน้ำไว้อีก 20-25 วัน แล้วจึงนำไปกระตุ้นเย็นใหม่ โดยรวมแล้วผลผลิตที่ได้จะอยู่ประมาณ 250-350 กรัม ต่อก้อน ต่ออายุการเก็บทั้งหมด ทำการเก็บดอกเห็ดด้วยการใช้มีดตัดโคนก้านดอก
13. เทคนิคการเพาะ เห็ดหัวลิง
เป็นเห็ดที่กำลังได้รับความนิยมในการเพาะกัน ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่มีการตื่นตัวกันทั่วโลก เพราะรสชาติคล้ายหูฉลามและยังมีสรรพคุณทางยาในการบำรุงฟอกเลือดโรคหัวใจ ทำให้มีนักลงทุนจากหลายประเทศมาตั้งฐานการผลิตเห็ดหัวลิงในประเทศไทยหลายราย เพื่อผลิตเป็นยาส่งออก เห็ดชนิดนี้ นอกจากจะรับประทานสดแล้ว ยังสามารถทำการตากแห้งด้วยวิธีง่ายๆ เพื่อการส่งออกอีกด้วย การสังเกตความพร้อมของก้อนเชื้อเห็ดหัวลิง จะต้องมีเส้นใยสีขาวเห็นได้ชัด หรือหลังจากที่เส้นใยเจริญเต็มวัสดุเพาะแล้วประมาณ 15-20 วัน จะสังเกตเห็นเส้นใยเห็ดรวมตัวกันเป็นดอกเล็กบริเวณปากถุง แสดงว่า พร้อมที่จะทำการเปิดให้ดอกออกได้ การเปิดดอกเห็ดหัวลิง ให้เปิดเอาสำลี หรือจุก และคอขวดออก แล้วปล่อยกลับให้อยู่ในสภาพเดิม ไม่ควรเปิดปากกว้าง
โรงเรือนที่เหมาะสม เช่นเดียวกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า
- แสง ขนาดพออ่านหนังสือได้
- ความชื้นสัมพัทธ์ ประมาณ 80-85 เปอร์เซ็นต์ หรือรดน้ำวันละ 3-4 ครั้ง
- อุณหภูมิ สามารถเกิดดอกได้ในอุณหภูมิตั้งแต่ 15-32 องศาเซลเซียส จึงเพาะได้ดีตลอดทั้งปีในประเทศไทย
- อากาศ เช่นเดียวกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า
- การรักษาความสะอาด เช่นเดียวกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า
- การเติมอาหารเสริมเห็ดหัวลิง เพิ่มธาตุ เช่นเดียวกับเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า
เห็ดหัวลิงให้ผลผลิตต่อก้อน–ดอกเห็ดจะเกิดเป็นชุด แต่ละชุดห่างกัน 25-35 วัน ประมาณ 5-7 ชุด หรือประมาณ 10-12 เดือน โดยรวมแล้วผลผลิตเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 250-350 กรัม ต่อก้อน ต่ออายุการเก็บทั้งหมด ทำการเก็บดอกเห็ดด้วยการใช้มือรวบก้านดอกแล้วดึงออก
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่