การใช้ไส้เดือนดินกำจัดเศษอาหารและขยะ
การใช้ไส้เดือนดินกำจัดเศษอาหารและขยะ มีมานานแล้วในต่างประเทศ และค่อนข้างแพร่หลายทั้งในภาคครัวเรือน ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งได้ตามแหล่งที่มาของขยะดังนี้
การใช้ไส้เดือนกำจัดเศษอาหารและขยะ ในบ้านเรือนหรือย่อยสลายขยะอินทรีย์ในครัวเรือน เป็นอีกหนึ่งความนิยม ช่วยลดปริมาณขยะอินทรีย์จากครัวเรือนได้ เพราะค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลที่เกิดจากบ้านเรือนในประเทศที่พัฒนามีมูลค่าค่อนข้างสูง ประกอบกับนโยบายด้านการพัฒนารักษาสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด และจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมของประชาชน ทุกครัวเรือนจะมีกิจวัตรมากมาย ซึ่งก่อให้เกิดขยะอินทรีย์หลายชนิดอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหาร เช่น เศษผัก ผลไม้ หรือเศษอาหารเหลือทิ้ง ขยะอินทรีย์ที่ทิ้งในแต่ละครัวเรือนมีค่าเฉลี่ยประมาณ 1.5-3 กิโลกรัมต่อวัน ยิ่งถ้าเป็นชุมชนใหญ่ๆ หรือชุมชนเมืองขยะอินทรีย์จะมีปริมาณมากกว่านี้หลายเท่า และก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ส่งกลิ่นเหม็น สะสมเชื้อโรค และก่อให้เกิดโรค รวมทั้งก่อให้เกิดน้ำเสียตามมา หากแต่ละครัวเรือนเลี้ยงไส้เดือนภายในบ้านไว้ช่วยกำจัดขยะอินทรีย์ ปริมาณขยะก็จะลดลงได้เป็นจำนวนมาก อาจจะเลี้ยงในภาชนะที่ช่วยประหยัดพื้นที่ เช่น ลิ้นชักพลาสติก อ่างพลาสติก บ่อซีเมนต์ กระถาง หรือวัสดุเหลือใช้ และนำเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์มาใส่ในภาชนะเลี้ยงไส้เดือนดิน
ไส้เดือนดินย่อยสลายเศษขยะอินทรีย์ต่างๆ แล้วแยกมูลมูลไส้เดือนดินที่อยู่ในภาชนะเมื่อครบ 30-60 วัน ใช้เป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ที่ปลูกในบ้านได้ หรือหมักเป็นน้ำหมักมูลไส้เดือนดินก็ได้ หรือถ้านำไส้เดือนดินไปขยายพันธุ์ก็สามารถนำไปใช้เลี้ยงในภาชนะอื่น ต่อยอดเป็นรายได้เสริม จำหน่ายให้กับบ่อตกปลา หรือฟาร์มเลี้ยงไก่
วิธีการเลี้ยงไส้เดือนดินกำจัดขยะอินทรีย์ในครัวเรือน
- เตรียมบ่อวงซีเมนต์ที่เทพื้น และต่อท่อระบายน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน
- นำบ่อวงซีเมนต์ไปตั้งไว้ในบริเวณที่ไม่มีแสงแดด ไม่โดนฝน และอากาศถ่ายเทได้สะดวก
- ล้างบ่อวงซีเมนต์ แช่น้ำทิ้งไว้ 3-7วัน เพื่อลดความเค็มของปูนซึ่งเป็นอันตรายต่อไส้เดือนดิน
- ทำพื้นเลี้ยงในบ่อหนา 3 นิ้ว ใส่ไส้เดือนดิน 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่บ่อ 1 ตารางเมตร
- ทาสบู่รอบๆ ปากบ่อ ป้องกันไส้เดือนดินหนี
- ใส่เศษอาหาร เศษผัก หรือผลไม้เหลือทิ้งในบ้านลงไปในบ่อเพื่อให้ไส้เดือนดินทำการย่อยสลาย
***พื้นเลี้ยง เตรียมจากดินร่วน 4 ส่วน ผสมกับมูลวัว 1 ส่วน หมักไว้ที่ความชื้น 80-90 เปอร์เซ็นต์ นาน 7 วัน หรือ ใช้น้ำหมักมูลไส้เดือนเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ รดทิ้งไว้ 1 วัน***
การใช้ไส้เดือนดินกำจัดเศษอาหารและขยะ ในชุมชนงานให้บริการด้านความสะอาด ด้านสาธารณสุข ด้านความสวยงามของภูมิทัศน์ในชุมชน และการจัดเก็บทำลายขยะเป็นอีกหน้าที่ที่ เทศบาลและ อบต. ให้บริการแก่ชุมชนที่ผ่านมาการจัดเก็บทำลายขยะจะใช้วิธีการฝังกลบ หรือเผา ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการเลี้ยงไส้เดือนดินกำจัดขยะอินทรีย์จึงเป็นอีกแนวทางของการกำจัดขยะอินทรีย์ อีกทั้งยังได้ผลผลิต คือ ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ปุ๋ยน้ำหมักมูลไส้เดือนดินและตัวไส้เดือนดิน ยังสามารถนำไปใช้บำรุงต้นไม้ในเขตชุมชน และแจกจ่ายไส้เดือนดินที่ขยายพันธุ์ได้ให้แก่เกษตรกรหรือชาวบ้านได้อีกด้วย การใช้ไส้เดือนดินกำจัดเศษอาหารและขยะ ภาคอุตสาหกรรมโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น คัดบรรจุผลผลิตทางการเกษตร, แปรรูปเป็นอาหารกระป๋อง, ผลิตกระดาษ, กลั่นสุรา, ผลิตเบียร์ หรือผลิตเห็ด ฯลฯ โรงงานต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดขยะอินทรีย์และน้ำเสียจำนวนมากในแต่ละวัน มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหากไม่มีระบบกำจัดที่ถูกต้องและเหมาะสม การเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อกำจัดขยะต่างๆ เหล่านี้สามารถทำได้ดีเนื่องจากวัตถุดิบที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ไม่ต้องนำมาจากแหล่งอื่นๆ ทั้งยังเป็นการกำจัดขยะที่ไม่สูญเสียค่าใช้จ่ายสูง ไม่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน กากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานยังสามารถนำมาเลี้ยงไส้เดือนดินได้ และยังใช้มูลไส้เดือนผลิตปุ๋ยได้
การใช้ไส้เดือนดินกำจัดเศษอาหารและขยะ ภาคเกษตรกรรม การเกษตรในประเทศไทย มีการทำไร่ ทำสวน ทำนา และเลี้ยงสัตว์กันทั่วทุกภาค วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเกิดขึ้นในไร่นา สวน หรือฟาร์ม ถูกกำจัดอย่างผิดวิธี เช่น การเผาฟางข้าวเนื่องจากเป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายที่สุด แต่เป็นการเสียประโยชน์ ทำให้ดินเสื่อม การนำฟางข้าวหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆ มาทำปุ๋ยหมักโดยใช้ไส้เดือนดินช่วยให้ย่อสลายได้เร็วขึ้น หรือทำปุ๋ยมูลไส้เดือนซึ่งสามารถสร้างประโยชน์เมื่อการนำกลับมาใช้ในนาข้าวได้ ในภาคเกษตรกรรมการใช้ไส้เดือนดินช่วยฟื้นฟูดินปลูกก็สามารถทำได้ โดยสร้างสภาพแวดล้อมในไร่นา ในสวน ให้เหมาะสม ใส่เศษอินทรียวัตถุคลุมดินแล้วรดน้ำให้มีความชื้นอยู่เสมอแล้วปล่อยไส้เดือนดินสายพันธุ์ที่เหมาะสมลงในดินเพาะปลูก หรือ หากมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและขยะอินทรีย์ต่างๆ สามารถนำไส้เดือนดินที่อาศัยอยู่ในมูลสัตว์หรือเศษอินทรียวัตถุมาเลี้ยงขยายพันธุ์มาใช้กำจัดได้ เช่น สายพันธุ์ไทเก้อร์ หรือ อายซิเนียฟูทิตา (Eisenia foetida), เรดเวิร์ม หรือ ลัมบริคัส รูเบลลัส (Lumbricus rebellus), แอฟฟริกัน ไนท์ ครอว์เล่อร์ หรือ ยูดริลลัส ยูจินิแอ (Eudrilus eugeniae) และ ขี้ตาแร่ หรือ ฟีเรททิมา พีกัวน่า (Pheretima peguana)
คำแนะนำ ขยะอินทรีย์ ของเสียจากท่อระบายน้ำทิ้ง และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร บางชนิดไม่เหมาะสมในการนำมาให้ไส้เดือนดินย่อยสลายในขั้นแรก จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทำให้เหมาะสมก่อน เช่น การลดปริมาณน้ำที่มากเกินไป หรือ การหมักเพื่อลดปริมาณความร้อนและก๊าซพิษ หรือ เพื่อให้วัสดุเหล่านั้นมีความอ่อนนุ่มลง เหมาะแก่การย่อยสลายโดยไส้เดือนดิน
ข้อควรระวัง ทั้งนี้ในพื้นที่การเกษตรที่ใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิตพืช มักจะไม่พบไส้เดือนดิน เพราะการใช้ปุ๋ยเคมีในพื้นที่เกษตร และปริมาณไนโตรเจนในดินมีผลต่อความหนาแน่นของไส้เดือนดินในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นพิษต่อไส้เดือนดิน อันได้แก่ อัลดิคาร์ป เบนโนมิล บีเอชซี คาร์บาริล คาร์โบฟูราน คลอร์เดน เอนดริน เฮบตาคลอร์ มาลาไธออน พาราไธออน เป็นต้น
การใช้ไส้เดือนดินกำจัดขยะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะฟาร์มเลี้ยงสุกร ฟาร์มเลี้ยงไก่ หรือ ฟาร์มโคนม โคเนื้อ ในอดีตมีการเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็กตามบ้านเรือน หรือเลี้ยงแบบปล่อยซึ่งจะไม่ก่อปัญหา แต่ในปัจจุบันมีการตั้งฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ทางการค้า ซึ่งในการเลี้ยงสัตว์จะมีมูลสัตว์จำนวนมาก ทับถม สะสมกันจนเกิดกลิ่นเหม็นและเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในฟาร์ม และบริเวณใกล้เคียงถ้าไม่มีระบบจัดการที่ดี โดยเฉพาะเรื่องการกำจัดกลิ่น และยังมีปัญหาเรื่องแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน ทำให้ต้องมีการติดตั้งระบบกำจัดของเสียและใช้สารเคมีกำจัดแมลงวัน มีสารเคมีตกค้าง และทำให้เสียค่าใช้จ่าย
วิธีแก้ปัญหา ทำได้โดยการเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อกำจัดมูลสัตว์หรือขอเสียจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ สามารถลดกลิ่น และย่อยสลายของเสียหรือมูลสัตว์ต่างๆ ให้เป็นปุ๋ยหมักได้อย่างรวดเร็ว ไนโตรเจนที่อยู่ในรูปของมูลสัตว์มีความเหมาะสมในการผสมกับขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายยากในกระบวนการผลิตปุ๋ยหมักจากมูลไส้เดือนดิน
วิธีการเลี้ยงไส้เดือนดินกำจัดขยะอินทรีย์ชุมชน
- สร้างโรงเรือนที่ป้องกันน้ำฝนได้ มีการพรางแสง มีตาขายปิดโดยรอบ เพื่อป้องกันศัตรูไส้เดือน
- สร้างบ่อเลี้ยงกว้างประมาณ 1-2 เมตร สูง 0.8-1 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับขนาดโรงเรือน พื้นบ่อลาดเอียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ และต่อท่อระบายน้ำหมักออกจาพื้นบ่อไปยังบ่อเก็บน้ำหมักในจุดที่ต่ำที่สุดของพื้นที่
- ใส่ดินที่พื้นบ่อเลี้ยงหนา 3 นิ้ว ใส่ไส้เดือนดิน 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่บ่อ 1 ตารางเมตร
- ใส่ขยะอินทรีย์ให้ไส้เดือนดินย่อยสลายหนา 3 นิ้ว (ฤดูหนาวหนา 6 นิ้ว)
ติดตามวิธีเพาะเลี้ยงไส้เดือนดินกันได้ในบทความ การเลี้ยงไส้เดือนดินให้รวยแบบ 4.0
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งที่มา: http://thaiworm33.igetweb.com, หนังสือ ‘คู่มือการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนเงินล้าน’ สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ ศุภวรรณ์ ใจแสน)