การปลูกข้าวโพดหวานญี่ปุ่น
การปลูกข้าวโพดหวานญี่ปุ่น มีขั้นตอนที่ง่าย และสามารถเพาะปลูกได้ทุกภาคในประเทศไทย และได้ผลผลิตดี ส่วนความอร่อยนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน และการบำรุง สำหรับแหล่งกำเนิดอย่างประเทศญี่ปุ่น การปลูกข้าวโพดหวานญี่ปุ่น เป็นพืชไร่ที่ปลูกกันมาก ในแทบภาคกลาง จนถึงภาคเหนือของญี่ปุ่น
สิ่งสำคัญ ของ การปลูกข้าวโพดหวานญี่ปุ่น ให้ได้ผลผลิตดี
- สภาพดิน—มีความร่วนซุย มีปริมาณธาตุอาหารที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวโพด
- เป็นพื้นที่ๆ ได้รับแสงแดดตลอดทั้งปี
- ความแตกต่างกันของอุณหภูมิในช่วงกลางวันกับกลางคืน
สายพันธุ์ข้าวโพดหวานญี่ปุ่น ที่เป็นที่นิยม มีอยู่ 4 สายพันธุ์ด้วยกันคือ
- เพียวไวท์—เนื้อสีขาวนวลฝักใหญ่ เนื้อกรอบหวานฉ่ำ
- ปิกนิก—เนื้อสีเหลืองนวลฝักเล็ก ตลาดไม่ค่อยนิยม แต่เป็นสายพันธุ์ที่หวานที่สุด
- มิไร—เนื้อสีเหลืองนวล ฝักขนาดกลาง เนื้อกรอบหวานฉ่ำ มีกลิ่นหอม เป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุดในญี่ปุ่น
- กาวิซึ—เหลืองปนขาวฝักใหญ่ เนื้อหวานนุ่มเหนียว คล้ายๆ ข้าวโพดสาลีแต่กากน้อยกว่ามาก
ทำความรู้จักกับ ข้าวโพดหวาน…..
ข้าวโพดหวาน เป็นพืชล้มลุก อยู่ในตระกูลเดียวกับหญ้าหรือข้าว แต่เดิมนั้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ข้าวโพดหวานมีคุณประโยชน์มากมาย ตามที่ได้นำเสนอไว้ในบทความ ข้าวโพดหวานญี่ปุ่น ทั้งทางยา ทางอาหาร และอื่นๆ ด้วยรสชาติที่อร่อย หวาน รับประทานแล้วไม่ผิดหวัง ทำให้ผู้คนนิยมรับประทานแบบไม่แปรรูป เพื่อให้ได้ความอร่อยแบบธรรมชาติ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ของข้าวโพดหวาน
ลำต้น ตั้งตรง ภายในมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ ความสูงของประมาณ 1 ถึง 4 เมตร
ใบ เป็นใบเดี่ยวขึ้นเรียงสลับบนลำต้น เรียวยาว ปลายแหลม มีขนอ่อนปกคลุมอยู่บนใบ
ดอก ข้าวโพด ออกดอกเป็นช่อ มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน โดยดอกตัวผู้จะออกที่บริเวณปลายยอด และดอกตัวเมียจะอยู่ต่ำลงมาออกระหว่างกาบของใบและลำต้น เรียงเป็น 2 แถว มีประมาณ 8 – 18 ดอก ยอดเกสรตัวเมียจะเป็นเส้นบางๆ ยื่นออกมาจำนวนมากคล้ายกับเส้นไหม (หรือที่เรามักเรียกว่าหนวดข้าวโพด)
ฝักข้าวโพด จะถูกหุ้มด้วยกาบบางหลายชั้น เมื่อฝักข้าวโพดยังเล็กอยู่เปลือกหุ้มมีสีเขียว เมื่อฝักเจริญเติบโตเต็มที่เปลือกหุ้มนี้จะเริ่มมีสีอ่อนลงกลายเป็นสีเหลืองนวล ฝักข้าวโพดมีรูปทรงเป็นทรงกระบอกในหนึ่งฝักจะมีเมล็ดเรียงเป็นแถวประมาณ 8 ถึง10 แถว แต่ละแถวจะมีเมล็ดประมาณ 30 เมล็ดและจะมีสีเหลืองแตกต่างกันไปตามลักษณะของสายพันธุ์
ราก มีแต่รากฝอย
ผลผลิตข้าวโพดหวาน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
- ผลผลิตทางชีวภาพ หมายถึง ผลผลิตที่รวมของใบ กิ่ง ลำต้น ราก และเมล็ด รวมทุกส่วนของต้นข้าวโพดหวาน
- ผลผลิตทางเศรษฐกิจ หมายถึง ผลผลิตของต้นข้าวโพดหวาน เฉพาะส่วนที่เราเก็บเกี่ยวไปใช้ประโยชน์ เช่น ฝักข้าวโพด ใบข้าวโพดสำหรับอาหารสัตว์ เป็นต้น
ข้าวโพดหวาน เป็นหนึ่งใน 7 ชนิดของข้าวโพดที่นิยมปลูกเพื่อรับประทานฝักสดโดยเฉพาะ มีเมล็ดนิ่ม เรียงเป็นแถว รับประทานง่าย มีรสหวานอร่อย เนื่องจากมีน้ำตาลมาก
ปัจจัยที่เหมาะสม สำหรับ การปลูกข้าวโพดหวานญี่ปุ่น
ฤดูที่เหมาะสม
ข้าวโพดหวานญี่ปุ่น สามารถปลูกได้ตลอดปี แต่นิยมปลูกกันมากในช่วงฤดูฝน
ดินที่เหมาะสม
ข้าวโพดหวานญี่ปุ่นสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกสภาพ โดยเฉพาะดินร่วนปนทราย จะทำให้ผลผลิตดีและเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่า
ความเป็นกรด-ด่าง ของดินที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 6.0 ถึง 6.5
อุณหภูมิที่เหมาะสม
อุณหภูมิที่เหมาะสมในการปลูกข้าวโพดหวาน เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงที่สุดจะอยู่ในช่วง 24 ถึง 30 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิกลางคืน อยู่ในช่วง 15-18 องศาเซลเซียส จะทำให้ข้าวโพดหวานมีคุณภาพดีและมีความหวานสูง
และที่สำคัญ ข้าวโพดหวานต้องการแสงแดด เต็มที่ตลอดวัน
ขั้นตอน การปลูกข้าวโพดหวานญี่ปุ่น
การเตรียมแปลงปลูก
การปลูกข้าวโพดหวานจะแตกต่างจากการปลูกข้าวโพดไร่ เพราะข้าวโพดหวานต้องได้รับการดูแล และปฏิบัติอย่างพิถีพิถัน เช่นเดียวกับการปลูกพืชผัก การเตรียมดินและการปลูกเป็นปัจจัยหลักให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
- ไถดินลึกประมาณ 15 ถึง 20 เซนติเมตร
- ตากทิ้งไว้ 7 ถึง 10 วัน เพื่อกำจัดแมลงและวัชพืช
- ใส่ปุ๋ยคอก หรือหว่านปูนขาว เพื่อปรับสภาพดิน แล้วไถพรวนอีกครั้ง
- วัดระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 80 ถึง 100 เซนติเมตร ความยาวขึ้นอยู่กับ พื้นที่ ขุดเป็นร่องลึกประมาณ 15 ถึง 20 เซนติเมตร
***ถ้าสภาพดินแห้ง ไม่มีความชื้น ควรปล่อยน้ำเข้าตามร่อง หรือให้ มีความชื้นกับดินบริเวณแปลงปลูก***
วิธีปลูกข้าวโพดหวานญี่ปุ่น
- เจาะหลุมปลูกบริเวณข้างๆ ร่อง ใช้ระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 25 ถึง 35 เซนติเมตร
- หยอดเมล็ดข้าวโพดหวานลงไป หลุมละ 1 ถึง 2 เมล็ด กลบดิน แล้วรดน้ำพอชุ่ม
- หลังจากหยอดเมล็ดพันธุ์ 5 ถึง 7 วัน ข้าวโพดก็จะเริ่มงอก ให้สังเกตดูว่า ถ้าพบหลุมที่ไม่งอกให้รีบปลูกซ่อมทันที
***พื้นที่ 1 ไร่ จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 1 ถึง 1.5 กิโลกรัม***
การดูแลข้าวโพดหวานญี่ปุ่น หลังการปลูก
การถอนแยกต้น
- ควรกระทำหลังจากหยอดเมล็ด 12 ถึง 14 วัน โดยถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น
การให้น้ำ
- ไม่ควรปล่อยดินแห้งเกินไป ควรให้ดินมีความชื้นอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรให้น้ำมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เมล็ดข้าวโพดเน่า
- ให้น้ำทุกวันช่วงเช้า และให้สังเกตสภาพดินและอากาศ หากฝนตกชุกควรเว้นระยะการรดน้ำ และระวังอย่าให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้น ในฤดูร้อน หากอากาศร้อนจัด ดินแห้ง ควรเพิ่มการให้น้ำ ให้ความชุ่มชื้นแก่ดินอย่าให้ขาดน้ำ
- หากทำร่องน้ำไว้ ให้ปล่อยเข้าตามร่องน้ำ หรือให้น้ำด้วยระบบสปริงเกอร์
การให้ปุ๋ย
- ครั้งที่ 1 หลังจากหยอดเมล็ดประมาณ 14 ถึง 10 วัน โดยหว่านเป็นร่องข้างๆ ต้น แล้วกลบ พยายามใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก
- ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวโพดหวานเริ่มติดฝักอ่อน
การกำจัดวัชพืช
- ทำพร้อมๆ กับการให้ปุ๋ย หรือหากพบว่าเริ่มมีวัชพืช เพื่อให้ง่ายควรรีบกำจัด
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
ติดตามในบทความ “โรคและแมลงศัตรูข้าวโพดหวานญี่ปุ่น“
การเก็บเกี่ยวผลผลิต และการเก็บรักษา
ควรเลือกเก็บเกี่ยวในระยะที่มีน้ำตาลสูงที่สุด และคุณภาพดีที่สุด หรือระยะที่เรียกว่า ระยะน้ำนม (Milk Stage) หากเลยระยะนี้ไปแล้วปริมาณน้ำตาลจะลดลงและมีแป้งเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้ได้ข้าวโพดหวานมีคุณภาพดี
การเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานมีหลักพิจารณาง่ายๆ คือ
- นับอายุ หลังจากวันหยอดเมล็ด วิธีการนี้ต้องทราบอายุของข้าวโพดหวานแต่ละพันธุ์ว่าเป็นพันธุ์หนัก, เบา หรือปานกลาง พันธุ์เบา อายุ 55 ถึง 65 วัน
พันธุ์ปานกลาง 70 ถึง 85 วัน
พันธุ์หนักตั้งแต่ 90 วันขึ้นไป - สุ่มตัวอย่าง โดยเก็บผลผลิตในแปลงมาตรวจดู วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้ผลแน่นอน และนิยมกระทำกันมากที่สุด
- ควรเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวาน ในเวลาเช้าและขนส่งไปยังตลาดทันที ไม่ควรทิ้งไว้เกิน 24 ชั่วโมง เพราะจะทำให้น้ำตาลลดลง
ติดตามบทความ โรคและแมลงศัตรูข้าวโพดหวานญี่ปุ่น เพื่อป้องกันความเสียหายในการปลูกข้าวโพดกันต่อนะคะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.medthai.com, zen-hydroponics.blogspot.com)