โรคและแมลงศัตรูกล้วยไม้
โรคและแมลงศัตรูกล้วยไม้ เป็นทั้งปัญหาที่สำคัญ และขั้นตอนที่สำคัญในการดูแลกล้วยไม้หลังการปลูก โรคและแมลงศัตรูกล้วยไม้ มีหลายชนิด บางชนิดทำให้กล้วยไม้ตายภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เชื้อโรคและแมลงศัตรูที่เข้าทำลายกล้วยไม้ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และขยายพันธุ์รวดเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้ จะทำการป้องกันและกำจัดได้ยาก ทั้งยังสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง
โรคกล้วยไม้ ที่พบมีดังนี้
โรคเน่าดำหรือยอดเน่า
โรคเน่าดำหรือยอดเน่า หรือ โรคเน่าเข้าไส้ สาเหตุเกิดจากเชื้อรา สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีความชื้นสูง
ลักษณะอาการ
ทำลายได้ทุกส่วนของกล้วยไม้ ส่วนราก รากจะเน่าแห้ง มีผลทำให้ใบเหลือง ร่วง และตายในที่สุด ส่วนยอด ทำให้ยอดเน่าเป็นสีน้ำตาล เมื่อจับจะหลุดติดมือได้ง่าย ขั้นรุนแรง เชื้อราจะเข้าไปในลำต้น ถ้าผ่าดูจะเห็นเป็นสีดำหรือน้ำตาลเข้มตามแนวยาวของต้น
การป้องกันและกำจัด
- ปรับสภาพเรือนกล้วยไม้ให้โปร่ง ไม่มีกล้วยไม้หนาแน่นเกินไป
- หากพบการแพร่ระบาดในระยะเป็นลูกกล้วยไม้ ให้แยกกระถางที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย ถ้ากล้วยไม้ที่โตแล้วควรตัดส่วนที่เป็นโรคออกจนถึงเนื้อดี แล้วใช้ยาฉีดพ่น
- ใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดที่สามารถป้องกันเชื้อราโรคนี้โดยตรง เช่น ไดโพลาแทน, ริโดมิล, เทอราโซล
สำหรับการใช้ยาประเภทดูดซึมมีข้อควรระวัง คือ อย่าให้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะจะทำให้เชื้อราดื้อยา ควรผสมกับยาชนิดอื่น เช่น แมนโคเซป หรือใช้ยาสูตรที่ผสมมาให้เรียบร้อยแล้ว เช่น ริไดมิล เอ็มแซด หรือใช้สลับกันระหว่างยาดูดซึมจะทำให้การป้องกันกำจัดได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะสารเคมีแต่ละตัวมีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อราได้แตกต่างกัน
โรคดอกสนิมหรือจุดสนิม สาเหตุเกิดจากเชื้อรา
ชาวสวนกล้วยไม้นิยมเรียกว่า ‘โรคราสนิม’ เป็นโรคที่จักกันดีในชาวสวนกล้วยไม้ตัดดอกเพื่อส่งออก บางครั้งจะแสดงอาการระหว่างการขนส่ง เป็นมากกับกล้วยไม้สกุลหวาย โดยเฉพาะหวายมาดาม หวายขาว หวายชมพู และหวายซีซาร์
ลักษณะอาการ
กลีบดอกกล้วยไม้ จุดขนาดกลมเล็กสีน้ำตาลเหลือง ถ้าขยายโตขึ้นจะเข้มเป็นสีสนิม ลักษณะดังกล่าวจะปรากฎชัดเจนบนดอกหวายมาดาม แต่อาการบนหวายขาวจะเป็นแผลสีน้ำตาล หวายมาดามจะเห็นเป็นแผลสีสนิมชัดเจน ระบาดติดต่อกันได้ดีทั่วทั้งสวนกล้วยไม้ และบริเวณใกล้เคียง ช่วงฤดูฝนโดยเฉพาะถ้าฝนตกติดต่อกัน หรือมีน้ำค้างลงจัด
การป้องกันและกำจัด
- หมั่นสำรวจ กล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงและบริเวณรอบๆ ให้สะอาดเป็นประจำ อย่าปล่อยให้ดอกกล้วยไม้บานโรยคาต้น จะเป็นแหล่งให้เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย เก็บรดอกที่เป็นโรคนำไปเผาทำลาย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค หลังจากนั้นจึงฉีดพ่นสารเคมี เช่น ไดเทนเอ็ม 45, ไดเทนแอลเอฟหรือมาเน็กซ์ ฤดูฝนควรฉีดพ่นให้บ่อยขึ้น
โรคใบปื้นเหลือง สาเหตุเกิดจากเชื้อรา
พบมากในกล้วยไม้หวายปอมปาดัวร์ ระบาดมากช่วงปลายฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว สปอร์ของเชื้อราแพร่กระจายไปกับลมและกระเด็นไปกับละอองน้ำที่ใช้รดต้นกล้วยไม้
ลักษณะอาการ
เริ่มจากใบกล้วยไม้ที่อยู่โคนต้นก่อน มีจุดกลมสีเหลืองที่ใบ เมื่อเป็นมากๆ จะขยายติดต่อกันเป็นปื้นเหลืองตามแนวยาวของใบ เมื่อพลิกดูใต้ใบจะเห็นเป็นกลุ่มผงสีดำ อาการขั้นรุนแรงใบจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ ร่วงหลุดออกจากต้น ทำให้ต้นกล้วยไม้ทิ้งใบหมดในที่สุด
การป้องกันและกำจัด
- เก็บรวบรวมใบที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย
- รักษารังกล้วยไม้ให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อเป็นการทำลายเชื้อและลดปริมาณเชื้อราในรังกล้วยไม้
- ฉีดพ่นด้วยยาเดลซีนเอ็มเอ็ก 200, ไดเทนเอ็ม 45, เบนเลททุกๆ 7 ถึง 10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
โรคแอนแทรกโนส สาเหตุเกิดจากเชื้อรา
พบมากในกล้วยไม้สกุลออนซิเดี้ยม สกุลแคทลียา สกุลแวนด้า สกุลหวาย สกุลแมลงปอ ปอมปาดัวร์ และลูกผสมของกล้วยไม้สกุลต่างๆ ระบาดโดยการแพร่กระจายไปกับลม ฝน หรือน้ำที่ใช้รด
ลักษณะอาการ
แผลวงกลมสีน้ำตาลอมแดงหรือสีน้ำตาลไหม้เกิดขึ้นที่ใบ ขยายออกไปเป็นแผลใหญ่ ซึ่งจะเห็นเป็นวงกลมซ้อนกันหลายชั้น เนื้อเยื่อที่เป็นแผลลึกลงไปต่ำกว่าระดับผิวใบเล็กน้อย กล้วยไม้บางชนิดมีขอบแผลเป็นเนื้อเยื่อสีเหลืองล้อมรอบแผล เช่น ลักษณะแผลของพวกแมลงปอ ฯลฯ บางชนิดแผลมีขอบสีน้ำตาลเข้มกว่าภายในและไม่มีขอบแผลสีเหลืองเลย เช่น แผลของกล้วยไม้ดินบางชนิด
หากปล่อยไว้เนื้อเยื่อของแผลจะแห้งบางผิดปกติ ขนาดของแผลแตกต่างกันแล้วแต่สภาพแวดล้อม บางแห่งมีเชื้อราอื่นมาปะปนภายหลังทำให้แผลขยายกว้างออกไปจนมีลักษณะที่เป็นแผลวงกลม กล้วยไม้ที่มีใบอวบอมน้ำมาก เช่น แคทลียา ลูกผสมแมลงปอ และกล้วยไม้ดินบางชนิดใบ อาการเริ่มแรก คือ ถ้าฝนตกชุกใบจะเน่าเปื่อย แต่โดยปกติจะเป็นแผลแห้งติดอยู่กับต้น
การป้องกันและกำจัด
- ตัดใบที่เป็นโรคไปเผาทำลาย ไม่ให้แพร่เชื้อต่อ และฉีดยาป้องกันกำจัดเชื้อราทุกๆ 7 ถึง15 วัน ต่อครั้ง ส่วนฤดูฝนต้องฉีดพ่นเร็วกว่ากำหนด เช่น 5 ถึง 7 วัน ต่อครั้ง เป็นต้น
โรคเน่าแห้ง เกิดจากเชื้อรา
พบตามแหล่งปลูกกล้วยไม้ทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตอากาศร้อนชื้น ทำความเสียหายแก่กล้วยไม้หลายสกุล เช่น สกุลแวนด้า สกุลหวาย สกุลรองเท้านารี และสกุลออนซิเดี้ยม
ลักษณะอาการ
เชื้อราจะเข้าทำลายกล้วยไม้บริเวณรากหรือโคนต้น แล้วแพร่กระจายจากโคนต้นขึ้นไป บริเวณที่ถูกทำลายจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เนื้อเยื่อจะแห้ง ยุ่ย ถ้าอากาศชื้นมากๆ จะเห็นเส้นใยสีขาวแผ่บริเวณโคนต้น ลักษณะที่เห็นได้ง่ายคือ มีเม็ดกลมเล็กสีน้ำตาลคล้ายเมล็ดผักกาดเกาะอยู่ตามโคนต้น
บางชนิดจะแสดงอาการที่ใบ โดยจะทำให้ใบเน่าและเป็นสีน้ำตาล เมื่ออากาศแห้งจะเหี่ยวและร่วงตาย พบระบาดมากในฤดูฝน เชื้อราชนิดนี้จะมีเมล็ดเป็นสีน้ำตาลกลมๆ ทนต่อการทำลายของสารเคมี และสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้มีชีวิตอยู่ได้นาน
การป้องและกำจัด
- ควรดูแลรังกล้วยไม้เสมอ
- เก็บรวบรวมใบแล้วเผาทำลายทิ้ง และราดทับหรือฉีดพ่นด้วยยากำจัดเชื้อรา เช่น เทอราโซลหรือไวตาแวกซ์
โรคเน่าเละ สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
เป็นโรคที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักเลี้ยงกล้วยไม้ เกิดขึ้นกับกล้วยไม้หลายสกุล เช่น สกุลแคทลียา สกุลรองเท้านารี สกุลออนซิเดี้ยม สกุลซิมบิเดี้ยม ฟาแลนด์น๊อฟซิส เป็นต้น หากบริเวณรังกล้วยไม้มีความชื้นสูง
ลักษณะอาการ
อาการเริ่มแรกจะเป็นจุดช้ำน้ำขนาดเล็กบนใบหรือบนหน่ออ่อน ทำให้เนื้อเยื่อมีลักษณะเหมือนถูกน้ำร้อนลวก ใบจะพองเป็นสีน้ำตาล ฉ่ำน้ำ ถ้าเอามือจับแต่เบาๆ จะเละติดมือและมีกลิ่นเหม็น ขยายลุกลามออกไปทั้งใบและหน่ออย่างรวดเร็ว ระบาดมากในฤดูฝนที่มีสภาพอากาศร้อน และความชื้นสูง
การป้องกันและกำจัด
- ตัดส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลาย
- ช่วงที่มีฝนตกหนักควรมีหลังคาพลาสติกคลุมอีกชั้นหนึ่งสำหรับลูกกล้วยไม้หรือกล้วยไม้ปลูกใหม่ เพื่อไม่ให้แรงกระแทกของเม็ดฝนทำให้กล้วยไม้ช้ำ และเป็นสาเหตุให้เชื้อเข้าทำลายได้ง่าย
- ไม่ควรปลูกกล้วยไม้หนาแน่นเกินไป เพราะจะทำให้อากาศระหว่างต้นไม่ถ่ายเท เกิดความชื้นสูงและง่ายแก่การเกิดโรค
- ระวังเรื่องการให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงมากเกินไปจะทำให้ต้นและใบกล้วยไม้อวบหนา เหมาะแก่การเป็นโรคนี้มาก
- ใช้ยาปฏิชีวนะจำพวกสเตรปโตมัยซิน เช่น แอกริมัยซิน หรืออาจใช้ไฟแซน 20 หรือนาตริฟินกำจัด
โรคใบจุด สาเหตุเกิดจากเชื้อรา
พบมากในกล้วยไม้สกุลแวนด้า และสกุลหวาย ต้นกล้วยไม้มีการเจริญเติบโตลดลง เนื่องจากใบมีการปรุงอาหารได้น้อย โรคนี้มีปัญหามากกับผู้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อจำหน่ายต้น
ลักษณะอาการ
กล้วยไม้สกุลแวนด้า แผลจะเป็นรูปยาวรีคล้ายกระสวย ขั้นรุนแรงแผลจะรวมกันเป็นแผ่น บริเวณตรงกลางแผลจะมีตุ่มนูนสีน้ำตาลดำ ตุ่มนูนนี้จะแตกออกมีสปอร์จำนวนมาก ระบาดตั้งแต่ฤดูฝนถึงฤดูหนาว
กล้วยไม้สกุลหวาย แผลเป็นจุดกลมสีน้ำตาลเข้มหรือดำ ขอบแผลสีน้ำตาลอ่อน ขนาดแผลมีได้ตั้งแต่เท่าปลายเข็ม
หมุดจนถึงขนาดใหญ่ประมาณ 1 เซนติเมตร บางครั้งแผลลึกลงไป หรืออาจนูนขึ้นมาเล็กน้อยหรือเป็นสะเก็ดสีดำ เกิดได้ทุกส่วนของใบหรืออาจเป็นจุดกลมสีเหลือง จุดมีสีดำบริเวณกลางและค่อยแผ่ขยายเป็นจุดกลมสีดำทั้งหมดและสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดปี
การป้องกันและกำจัด
- ตัดใบที่เป็นโรคไปเผาทำลาย หรือ
- ฉีดพ่นด้วยยาไดเทนเอ็ม 45, ไดเทนแอลเอฟ หรือยาประเภทคาร์เบนดาซิม เช่น เดอโรซาล เป็นต้น
แมลงศัตรูกล้วยไม้
เพลี้ยไฟ หรือ ตัวกันสี
เป็นแมลงปากดูด ขนาดเล็กมาก รูปร่างเรียวยาว ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายกัน แต่ตัวอ่อนไม่มีปีก มีสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อน หรือสีดำ ตัวแก่มีปีกที่แคบยาว เคลื่อนไหวรวดเร็วมาก
ลักษณะอาการ
เพลี้ยไฟดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนที่อ่อนๆ เช่น ตามยอด ตาและดอก ระบาดในฤดูร้อนและฤดูฝน ทำความเสียหายมากแก่กล้วยไม้ในระยะที่ดอกตูมและดอกกำลังบาน ดอกตูมชะงักการเจริญเติบโต เป็นสีน้ำตาลและแห้งคาก้านช่อดอก ดอกบานเริ่มแรกจะเห็นเป็นรอยแผลสีซีดขาวที่ปากหรือกระเป๋า และตำแหน่งของกลีบดอกที่ซ้อนกัน ต่อมาแผลจะกลายเป็นสีน้ำตาลเรียกว่า ‘ดอกไหม้หรือปากไหม้’ ดอกจะเหี่ยวแห้งง่าย
การป้องกันและกำจัด
- ใช้ พอสซ์ ในการกำจัด อัตราส่วน 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไวเดทแอล อัตราส่วน 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ซีเอฟ 35 แอสที อัตราส่วน 10–15 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยเลือกเวลาการฉีดในช่วงเย็นๆ
ไรแดง หรือ แมงมุมแดง เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของกล้วยไม้ โดยเฉพาะกล้วยไม้สกุลหวาย
เป็นศัตรูจำพวกปากดูด มีขนาดเล็กมาก แต่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นจุดสีแดง สีเหลืองอมเขียว สีเหลืองและส้มเล็กๆ เคลื่อนไหวได้ รูปร่างค่อนข้างกลม อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใต้ใบ
ลักษณะอาการ
ดูดน้ำเลี้ยง ทั้งส่วนใบและดอก ถ้าดูดน้ำเลี้ยงที่ใบจะทำให้เกิดเป็นจุดด่าง ผิวใบไม่เรียบ มีสีเหลืองและค่อยๆ เป็นสีเข้มขึ้นจนถึงสีน้ำตาล
การป้องกันและกำจัด
- เก็บใบและดอกที่ถูกทำลายไปเผา
- ใช้ยาเคลเธน อัตรา 30 ซีซี ฉีดพ่นทั้งต้น
เมื่อปลูกกล้วยไม้ และดูแลกล้วยไม้จนผลิดอกออกมา ต่อไปลองศึกษาหนทางรวยจากการปลูกกล้วยไม้ ได้จากบทความ การขยายพันธุ์กล้วยไม้ ด้วยตนเอง และ กล้วยไม้พารวย ด้วย การส่งออกกล้วยไม้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล: https://www.thairath.co.th)