แนะนำการปลูกอะโวคาโด้

การปลูกอะโวคาโด้

การปลูกอะโวคาโด้เริ่มต้นในระยะแรก ควรเป็นในรูปแบบการเกษตรแบบผสมผสาน อาศัยรายได้หลักจากพืชชนิดอื่นในระยะ 3 ถึง 4 ปีแรก ที่รออะโวคาโด้ออกผล คำแนะนำสำคัญของการปลูกอะโวคาโด้ สำหรับมือใหม่ ไม่ควรเลือกปลูกต้นอะโวคาโด้ด้วยการเพาะเมล็ด ควรเลือกซื้อต้นกล้าที่เสียบยอดมาปลูก เพราะอะไร?…อันที่จริง การขยายพันธุ์อะโวคาโด้มีหลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด, การติดตา, และการต่อกิ่ง แต่การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดให้ผลช้าที่สุด ใช้เวลาอย่างน้อย 6 ถึง 7 ปีจึงจะให้ผล ส่วนใหญ่เกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโด้จะใช้การเพาะเมล็ดขยายพันธุ์เพื่อใช้กิ่งเป็นต้นตอในการติดตาหรือต่อกิ่ง หรือเพื่อปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการได้ผลผลิตที่เร็วขึ้นผลผลิตที่ได้มีคุณภาพมาตรฐานดี ควรใช้ต้นกล้าการเสียบยอดพันธุ์บนต้นตอเพาะเมล็ด

ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง ในการปลูกอะโวคาโด้
สายพันธุ์ – การเลือกสายพันธุ์ นอกจากจะคำนึงถึงตลาดแล้ว การผสมเกสรของอะโวคาโด้ก็มีความสำคัญ สายพันธุ์อะโวคาโด้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มตามลักษณะการบานของดอก คือ
กลุ่ม A : ดอกบานครั้งแรกในตอนเช้า เกสรตัวเมียพร้อมรับละอองเกสร แต่ตัวเกสรตัวผู้ไม่พร้อมผสม ดอกจะหุบในตอนเที่ยง ข้ามไปอีกหนึ่งวัน ดอกจะบานอีกครั้งในตอนบ่าย คราวนี้เกสรตัวผู้และตัวเมียพร้อมผสมพร้อมกัน กว่าจะได้ผสมใช้เวลาเกือบ 30 ชั่วโมง อะโวคาโด้กลุ่มนี้ติดผลยาก ได้แก่ พันธุ์แฮส (Hass), ปีเตอร์สัน (Peterson), ลูล่า(Lula), มอนโร(Monroe), ปากช่อง 1-14, ปากช่อง 2-4, และปากช่อง 2-6 เป็นต้น
กลุ่ม B : ดอกบานครั้งแรกในตอนบ่าย เกสรตัวเมียพร้อมรับละอองเกสรก่อนเช่นกัน และเกสรตัวผู้ก็ไม่พร้อมผสมอีก แต่พอข้ามวันดอกจะบานอีกครั้งในตอนเช้า เกสรตัวผู้และตัวเมียจะพร้อมผสม ใช้ระยะเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง รอให้เกสรตัวผู้และตัวเมียใจตรงกัน ทําให้อะโวคาโด้ในกลุ่มนี้ติดผลได้ดีกว่า ได้แก่ พันธุ์บัคคาเนีย (Buccanaer), บูธ 7 (Booth 7), บูธ 8 (Booth 8) เฟอร์เต้ (Fuerte) ฮอล (Hall) รูเฮิล (Ruehle) ปากช่อง 2-8 ปากช่อง 2-5 ปากช่อง3-3 เป็นต้น แต่มีเคล็ดลับเพิ่มการติดผล โดยปลูก สายพันธุ์ในกลุ่ม A ร่วมกับ กลุ่ม B ในแปลงเดียวกัน การผสมพันธุ์ของอะโวคาโด้ในต้นเดียวกันจะอาศัยลม แต่การผสมข้ามต้นต้องอาศัยแมลง เช่น ผึ้ง หรือ มดตะนอย เป็นต้น

สถานที่ – เป็นที่ดอน ไม่มีน้ำท่วมขัง เพราะอะโวคาโด้เป็นพืชไม่ทนน้ำท่วมขัง หรือควรยกร่องปลูก
ฤดูเพาะปลูกอะโวคาโด้ – ปลูกได้ทุกฤดูถ้าอยู่ใกล้แหล่งน้ำและมีปริมาณน้ำเพียงพอ หรือจะเริ่มต้นปลูกต้นฤดูฝน แต่ควรระวังเรื่องน้ำท่วมขัง ถ้าปลูกฤดูร้อน ต้องเตรียมรับมือกับแสงแดด เปลือกลำต้น และกิ่งก้านอาจถูกแดดเผาได้ เพราะยังไม่มีความแข็งแรงพอและโดยธรรมชาติอะโวคาโด้ไม่ชอบอากาศร้อนจัด
ขั้นตอน การปลูกอะโวคาโด้
การเตรียมหลุมและแปลงปลูก

  • ขุดหลุมให้มีความกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 80 เซนติเมตร ลึก 80 เซนติเมตร หรือ กว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร ลึก 60 เซนติเมตร
  • ผสมปุ๋ยคอก 1 ถึง 2 บุ้งกี๋ คลุกกับดินที่ขุดขึ้นมาให้เข้ากัน แล้วใส่ลงไปเกือบเต็มหลุม พักดินทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ ก่อนปลูกต้นกล้า

ระยะห่างระหว่างหลุมในแปลงปลูก
ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่นำมาปลูก เช่น พันธุ์เบคอนและพันธุ์รูเฮิล มีต้นสูงโปร่ง ปลูกชิดได้ในระยะห่างระหว่างหลุมและระหว่างแปลง 6 เมตร พันธุ์บูช 7 พันธุ์ฮอลล์ และพันธุ์โซเควทมีพุ่มแผ่กว้าง ระยะห่างระหว่างหลุมและระหว่างแปลง ประมาณ 8 ถึง 12 เมตร พันธุ์ปีเตอร์สัน, แฮส และบัคคาเนีย ระยะห่างฯ 8 เมตร พันธุ์บูธ 7 และ บูธ 8 ระยะห่างฯ 8×10 และที่ไม่ควรพลาด คือ ปลูกสายพันธุ์กลุ่ม A สลับกับ สายพันธุ์กลุ่ม B ในแต่ละแปลง

เตรียมเชือกและไม้ค้ำ ให้ต้นกล้า ป้องกันการหัก, ล้ม หรือเอน ของต้นกล้าเมื่อมีลมแรง
เตรียมวัสดุคลุมหน้าดิน บริเวณหลุมปลูก เช่น ฟางแห้ง, เศษหญ้าแห้ง, แกลบ, ขี้กบ หรือ ขี้เลื่อย, หรือเปลือกถั่ว เป็นต้น
การเตรียมต้นพันธุ์

  • คัดเลือกต้นกล้าที่แข็งแรง
  • 2 หรือ 3 วัน ก่อนปลูกอะโวคาโด้ ให้นำต้นพันธุ์ หรือต้นกล้าอะโวคาโด้วางไว้กลางแจ้ง เพื่อให้ต้นอะโวคาโด้ปรับตัว

การปลูก

  • นำต้นกล้าลงปลูกในหลุมให้รอยต่อกิ่ง หรือ รอยแผลติดตาอยู่เหนือระดับดิน กลบดินที่ผสมปุ๋ยคอกที่เหลือลงในหลุมให้แน่น ค้ำต้นกล้าด้วยไม้ที่เตรียมไว้แล้วใช้เชือกมัดต้นกล้าไว้หลวมๆ กับไม้ค้ำด้วยเชือก รดน้ำให้ชุ่ม
  • ใช้วัสดุคลุมหน้าดินที่เตรียมไว้ คลุมรอบโคนต้น เพื่อรักษาความชุ่มชื้น
  • รดน้ำตอนเช้าทุกวันๆ ละ 15 ลิตร หรือ วันเว้นวัน แต่รดวันละ 30 ลิตร จนถึงอายุประมาณ 1 ปี ระยะนี้เป็นระยะที่ไม่ควรให้ขาดน้ำ
  • หลังการปลูกต้นกล้าอะโวคาโด้ได้ 1 ปี รดน้ำสัปดาห์ละครั้ง ต้นที่มีขนาดใหญ่แล้วน้ำทุก 15 วัน

การดูแลอะโวคาโด้ หลังปลูก

  • ปลูกพืชคลุมดินในระหว่างหลุมและระหว่างแปลง
  • ปลูกต้นไม้ใหญ่ป้องกันลม เพราะกิ่งอะโวคาโด้เปราะ เมื่อโดนลมจะหักง่าย โดยเฉพาะเมื่อมีผลดก
  • สำหรับต้นพันธุ์อะโวคาโด้ที่ใช้วิธีเสียบยอด ถ้าดูแลดีจะออกตั้งแต่ปีที่ 3 แต่ต้นอะโวคาโด้ที่ใช้วิธีเพาะเมล็ดจะให้ผลผลิตในปีที่ 8 ถ้าต้นอะโวคาโด้ยังเจริญเติบโตไม่พอ ในครั้งแรกที่ติดผลควรปลิดผลทิ้ง เพื่อให้ต้นเติบโตได้เต็มที่ก่อน

การตัดแต่งกิ่งอะโวคาโด้
ส่วนใหญ่นิยมตัดยอดให้เหลือแต่ตอเพื่อให้แตกกิ่งแผ่ออกด้านข้าง ต้นจะไม่สูงมาก สะดวกในการเก็บเกี่ยว (ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดมักจะสูง) หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคหรือกิ่งแห้ง และช่อของกิ่งผล (ควั่น) ที่ติดอยู่บนต้นทิ้ง

การให้น้ำ
ในระยะ 1 ปีแรก เป็นระยะที่ไม่ควรขาดน้ำ รดน้ำให้ดินชุ่มอยู่เสมอ แต่ต้องไม่ท่วมขังทำให้รากเน่า และต้นตายได้
ผู้ปลูกสามารถจัดการให้น้ำเป็นระบบน้ำหยด หรือมินิสปริงเกอร์บริเวณโคนต้นได้ ช่วงปลายฝนต้นหนาวเป็นระยะที่อะโวคาโด้จะออกดอกควรงดให้น้ำ สังเกตได้จากการเกิดตาดอกที่ยอด และเริ่มให้น้ำอีกทีหลังช่อดอกเริ่มเจริญแล้ว

การให้ปุ๋ย
หลังจากปลูกอะโวคาโด้ได้ 1 เดือน ให้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยมูลสัตว์ที่มีธาตุอาหารครบถ้วนตามที่พืชต้องการใช้ในการเจริญเติบโต และให้ปุ๋ยทุก 3 เดือนในช่วงปีแรก และปีที่ 2 เมื่อต้นอะโวคาโด้อายุได้ 3 ปีขึ้นไป จะเริ่มให้ผลผลิต เพิ่มปริมาณปุ๋ย ให้ 2 ครั้ง คือต้นฤดูฝนและกลางฤดูฝน ช่วงปลายฤดูฝนประมาณเดือนตุลาคม ควรเลือกปุ๋ยที่มีธาตุฟอสฟอรัสหรือโพแตสเซี่ยมสูง เพื่อให้ต้นอะโวคาโด้ออกดอกและติดผล ปริมาณการให้ปุ๋ยใช้วิธีวัดระยะจากโคนต้นไปยังชายพุ่ม 1 เมตร เท่ากับ1 กิโกกรัมของปุ๋ยที่ใส่ให้ในแต่ละปี โรยรอบโคนต้นตรงตามแนวชายพุ่มแล้วรดน้ำ

การเก็บเกี่ยว
ผลโดยมากมักจะไม่สุกจนกว่าจะร่วง หรือถูกเด็ด ออกจากต้น ก่อนเก็บควรตรวจสอบว่าผลแก่เก็บเกี่ยวได้หรือไม่ พิจารณาระยะเวลาพร้อมเก็บเกี่ยวของอะโวคาโด้แต่ละพันธุ์ อาจจะทดลองเก็บผลบนต้นประมาณ 8 ผล เพื่อผ่าดูเยื่อหุ้มเมล็ด ถ้าเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีน้ำตาลทั้งหมดก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ แต่ถ้าเริ่มมีความชำนาญ อาจพิจารณาลักษณะภายนอกของผล การเก็บเกี่ยวต้องให้มีขั้วผลติดอยู่กับผล เพื่อป้องกันไม่ให้ผลเสียหายง่ายขณะบ่ม

วิธีการเก็บเกี่ยว
ใช้วิธีเด็ด หรือใช้กรรไกรตัด หรือใช้ตะกร้อที่มีใบมีดตัดขั้ว ระวังไม่ให้ผิวผลเสียหาย ควรเก็บเกี่ยวใส่ลงในภาชนะที่รองด้วยกระดาษหรือฟองน้ำที่ป้องกันความเสียหายได้ นำไปคัดแยกเอาผลที่ไม่ได้คุณภาพตามที่กำหนดออก ตัดขั้วผลให้สั้นลงเหลือเฉพาะส่วนฐานขั้วที่ติดกับผล มาตรฐานคุณภาพของอะโวคาโด้ ต้องมีลักษณะของผลตรงตามสายพันธุ์ ผลไม่บิดเบี้ยว ไม่ช้ำ หรือมีตำหนิ อาจมีแผลแห้งได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซนต์ ของผล ฤดูกาลผลผลิตอะโวคาโด้ คือ เดือนมิถุนายน ถึง เดือนกุมภาพันธ์ ติดตามการกำจัดโรคและแมลงศัตรูอะโวคาโด้ได้ ในบทความ โรคและแมลงศัตรูอะโวคาโด้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : www.kasetnumchok.com, th.wikihow.com, www.kasetorganic.com, https://hkm.hrdi.or.th)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *