การปลูกมะละกอ

การปลูกมะละกอ
ง่ายเหมือนปอกกล้วย แล้วทำไมจึงต้องเรียนรู้ขั้นตอนการปลูก การดูแล และการป้องกันกำจัดโรคและแมลง? เพื่อการปลูกเชิงการค้าและมีปริมาณมาก จำเป็นต้องอาศัยขั้นตอนที่พิถีพิถัน เริ่มตั้งแต่การเลือกพื้นที่ ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตมะละกอที่มีคุณภาพตามมาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะการส่งออก ขอเน้นย้ำอีกครั้งนะคะ ว่าต้องปลอดสารเคมีในทุกขั้นตอนหากคิดจะปลูกมะละกอเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ มาดูกันนะคะ ว่าจะแบบไหนที่เหมาะสำหรับ การปลูกมะละกอ?

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกมะละกอ
พื้นที่

  • ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีธาตุอาหารต่างๆ ครบ ในสัดส่วนที่พอเหมาะ
  • มะละกอสามารถเจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ตั้งแต่ดินเหนียวจนถึงดินทราย แต่ดินที่ดีที่สุดสำหรับมะละกอ คือดินร่วน หากพื้นที่เป็นดินเหนียวหรือดินทราย ควรมีการปรับปรุงดินให้มีความร่วยซุย
  • มีการระบายน้ำที่ดี
  • หน้าดินมีความลึกที่จะให้รากมะละกอเกาะยึดได้แน่นพอสมควร
  • พื้นที่ที่มีหน้าดินและมีชั้นดินดานอยู่ด้านล่างในระดับตื้นๆ ไม่ควรปลูกมะละกอ เพราะจะทำการรากแผ่กระจายออกได้ยาก รากจะเกาะยึดดินได้ไม่แน่นทำให้โค่นล้มได้ง่าย และเมื่อฝนตก น้ำฝนนจะซึมลงในดินได้ยาก ทำให้เกิดสภาพน้ำท่วมขังได้ง่าย ในขณะที่ฤดูแล้งดินจะอุ้มน้ำได้น้อย ต้นมะละกอจะขาดน้ำ หรือมีต้นทุนในการให้น้ำสูงขึ้น
  • ดินมีความเป็นกรดด่างประมาณ 6 ถึง 7
  • ไม่มีน้ำท่วมขัง มะละกอเป็นพืชที่ไม่มีความทนทานต่อสภาพน้ำท่วมขัง หากถูกน้ำท่วมโคนต้นติดต่อกันนานเพียงแค่ 24 ถึง 48 ชั่วโมง อาจทำให้ต้นมะละกอตายได้ หากไม่ตายก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ยากมาก
  • เป็นพื้นที่ที่ได้รับแสงแดดจัด เพื่อให้ลำต้นมีความแข็งแรงไม่โค่นล้มง่าย และให้ผลดก
  • เป็นพื้นที่มีอากาศถ่ายเท ช่วยเพิ่มอัตราการคายน้ำจากใบ เพื่อให้มะละกอดูดธาตุอาหารจากดินได้มากขึ้น ช่วยในการผสมเกสรได้ดี หากเป็นพื้นที่ที่มีลมพัดแรงหรือพื้นที่โล่ง ควรปลูกพืชบังลมตามแนวรอบแปลงปลูกเป็นระยะๆ และควรเลือกพันธุ์ไม้ที่โตเร็ว เช่น ไผ่ ยูคาลิปตัส และกระถินยักษ์ เป็นต้น
  • ไม่ควรเลือกพื้นที่ที่เคยเกิดโรคระบาดรุนแรงมาก่อน โดยเฉพาะโรคใบจุดวงแหวน ซึ่งเป็นโรคที่สำคัญของมะละกอ
  • อยู่ใกล้แหล่งรับซื้อ และมีการคมนาคมที่สะดวก

น้ำ

  • ควรมีแหล่งน้ำที่พอเพียงโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง หรือช่วงที่ฝนทิ้งช่วง เนื่องจากมะละกอมีการเจริญเติบโตตลอดทั้งปีทั้งทางลำต้นและทางใบ จะปล่อยให้ขาดน้ำไม่ได้เพราะจะชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตจะมีขนาดเล็กลงและปริมาณลดลง
    ให้ดอกตัวผู้มากขึ้นหรือดอกเป็นหมันมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว ยังต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัวให้เป็นปกติหลังจากได้รับนน้ำ

อุณหภูมิ

  • มะละกอเป็นไม้ผลเมืองร้อนที่ทนทานต่ออุณหภูมิที่สูงได้ดี และมีความทนทานต่อความหนาวได้ค่อนข้างดี แต่อาจมีการเจริญเติบโตที่ช้าลง ให้ผลผลิตน้อยลง และรสชาติไม่หวานเท่าช่วงที่มีอุณหภูมิสูง

ฤดูกาล

  • การปลูกมะละกอนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝนหรือกลางฤดูฝนเพื่อให้ต้นกล้ามะละกอตั้งตัวได้เร็ว ส่วนพื้นที่ที่มีระบบน้ำชลประทานสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี

ขั้นตอน การปลูกมะละกอ


การเตรียมดินและแปลงปลูก

  • ไถกลบดิน 1 รอบ และไถดะ 1 รอบ โดยเว้นระยะเวลาประมาณ 1 อาทิตย์หลังการไถเพื่อกำจัดวัชพืช และตากหน้าดิน -ทำการยกร่องแปลงปลูกสำหรับพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมขัง ส่วนพื้นที่สูงหรือเป็นพื้นที่ลาดเอียงอาจปลูกเป็นแนวโดยไม่ต้องยกร่องปลูกได้

การเตรียมหลุมปลูก

  • สำหรับพื้นที่ที่มีหน้าดินตื้น
    – หลุมปลูกในพื้นที่ที่หน้าดินตื้น และแน่น ให้ทำการขุดหลุม กว้าง ยาว ลึก อย่างละประมาณ 40 ถึง 50 เซนติเมตร
    – ปล่อยตากแดดประมาณ 4 ถึง 7 วัน
    – รองพื้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือมูลสัตว์
  • สำหรับพื้นที่ที่มีหน้าดินลึก
    – เตรียมดินตามขั้นตอนเดียวกันกับพื้นที่ที่มีหน้าดินตี้น
    – ขุดหลุมตื้นกว่า 40 เซนติเมตร เว้นระยะปลูกที่ 3×3 เมตร หรือ 2.5×3เมตร ต่อหลุมหรือต้น

การปลูก

  • นำต้นกล้าที่มีอายุประมาณ 1 เดือน หลังงอกหรือมีใบแท้อย่างน้อยประมาณ 4 ถึง 6 คู่ มาปลูก โดยนำต้นกล้าที่เพาะเมล็ดในแปลงเพาะหรือกระบะ หรือต้นกล้าที่เพาะในถุงพลาสติกที่ได้เตรียมไว้ วางไว้ตามหลุม ๆ ละ 1 ถุง แล้วกรีดถุงพลาสติกออก
  • นำต้นกล้าวางลงกลางหลุม ด้วยความระมัดระวัง อย่าให้รากกระทบกระเทือนหรือขาด เพราะจะทำให้เชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อราเข้าทำลายรากได้ และควรมีดินติดรากด้วยในขณะย้ายปลูก ต้นมะละกอจะไม่ชะงักการเจริญเติบโต กลบดินให้แน่น โดยเฉพาะรอบโคนต้นเพื่อให้รากจับดินใหม่ได้เร็ว ต้นจะตรงกันทุกแถว แต่ไม่ควรพูนดินโคนต้นให้เกินรอยปลูกระดับเดิม เพราะอาจจะทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้ง่าย
  • รดน้ำให้ชุ่มหลังปลูกทันที

การดูแลมะละกอ หลังการปลูก

การให้น้ำ

  • ต้นกล้ามะละกอที่ปลูกใหม่จะต้องทำการให้น้ำจนต้นมะละกอสามารถตั้งตัวได้ โดยในช่วงแรกควรให้น้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็น
  • หลังจากมะละกอตั้งต้นได้ประมาณหลังเดือนที่ 2 อาจให้น้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หรือไม่ให้ในวันฝนตกหรือขึ้นกับปริมาณน้ำฝน
  • ช่วงก่อนออกดอกจนถึงติดผลประมาณ 1 ถึง 2เดือน ให้ทำการให้น้ำมากขึ้นอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพราะหากมะละกอขาดน้ำในช่วงออกดอกจะทำให้ดอก ผลไม่สมบูรณ์ และร่วงล่นได้ง่าย

รูปแบบการให้น้ำ
วิธีการให้น้ำมะละกอจะแตกต่างกันตามสภาพพื้นที่และวิธีการปลูก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. การให้น้ำด้วยเรือพ่นน้ำ—เหมาะสำหรับการให้น้ำในร่องสวนที่ราบลุ่มภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก โดยใช้เครื่องสูบน้ำเข็นไปตาร่องสวน
    ในฤดูร้อนให้รดน้ำประมาณ 3 ถึง 5 วัน ต่อครั้ง
    ในฤดูฝน อาจไม่จำเป็นต้องรดน้ำ แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงหรือดินแห้ง ควรให้น้ำ
    ***ควรระวังความแรงของน้ำจากเครื่องปั๊มน้ำ ไม่ควรให้น้ำมากและแรงเกินไป จะทำให้เกิดการชะล้างปุ๋ยและอินทรียวัตถุออกไปจากหน้าดินได้
  2. การให้น้ำแบบสายยาง—ส่วนมากใช้กับแปลงปลูกมะละกอที่เป็นสภาพพื้นที่ดอน ขนาดแปลงปลูกไม่มีปริมาณมาก โดยใช้เครื่องสูบน้ำ วางท่อส่งน้ำหลัก มีประตูเปิดปิดน้ำเป็นระยะตามตำแหน่งที่ต้องการให้น้ำ
  3. การให้น้ำแบบหัวเหวี่ยงฝอยมินิสปริงเกลอร์—เป็นการให้น้ำอย่างประหยัดหน้ำ ให้น้ำในปริมาณที่สม่ำเสมอ สามารถใส่ปุ๋ยและสารเคมีไปกับน้ำได้ ลดการชะล้างหน้าดิน สะดวก ประหยัดเวลา แรงงานและค่าใช้จ่าย เหมาะสำหรับการปลูกมะละกอในพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ต้องลงทุนสูงในการติดตั้ง

การให้ปุ๋ย
จำเป็นต้องให้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน และเพิ่มแร่ธาตุให้แก่มะละกอ

วิธีการให้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยหมัก

  • ให้ในอัตรา 5 กิโลกรัม ต่อต้น 3 ระยะ คือ ในระยะหลังปลูกที่มะละกอตั้งต้นได้ ระยะก่อนมะละกอออกดอกรุ่นแรก และระยะติดลูก หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตในครั้งแรก ให้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักในระยะ 2 เดือน ต่อครั้ง ในอัตราเดิม
    การให้ปุ๋ยเคมี
  • สูตรน้ำฉีดพ่นทางใบ สูตร 21-21-21 ในอัตราต้นละ 50 กรัม หลังจากย้ายปลูกประมาณ 1 เดือน และให้ทุกเดือนตลอดอายุ 3 เดือน หลังย้ายปลูก โดยเพิ่มปริมาณปุ๋ยในอัตรา 50 กรัม ทุกๆ 1เดือน
  • ให้ปุ๋ยเคมีทางดินสูตร 24-12-12 หลังจากย้ายปลูก 1 เดือน เพื่อเร่งการเจริญเติบโตและให้ตลอดจนถึงระยะออกดอก หลังจากนั้นให้เปลี่ยนเป็นสูตร 13-13-21 หรือให้สูตรอื่นที่เลขสองตัวหน้ามีตัวเลขน้อยกว่าตัวเลขสุดท้าย เพื่อให้ติดผล และผลมีมีความสมบูรณ์ หลังการเก็บเกี่ยวผลรุ่นแรกให้ใช้สูตร 15-15-15 ตลอดอายุของมะละกอก็ได้

การกำจัดวัชพืช

  • เป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะช่วงที่ต้นมะละกอยังเล็กอยู่ โดยการใช้จอบถาง และไม่ควรใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช เนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่ไวต่อปฏิกิริยาทางเคมีในยากำจัดวัชพืชมาก

การตัดแต่ง

  • ระยะ 8 ถึง 10 สัปดาห์ หลังย้ายปลูกลงแปลง ให้ตัดดอกเพศเมียออก เก็บดอกสมบูรณ์เพศไว้ และบำรุงต้นให้แข็งแรง
  • หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีที่ 3 ควรตัดยอดต้นมะละกอให้เหลือต้นตอสูงประมาณ 12 ถึง 18 นิ้ว แล้วพรวนดิน ให้ปุ๋ย ให้น้ำ กิ่งใหม่จะเริ่มแตก เมื่อกิ่งที่แตกใหม่อายุได้ประมาณ 3 ถึง 4 สัปดาห์ ให้เลือกกิ่งที่สมบูรณ์ไว้ประมาณ 2 ถึง 3 กิ่ง นอกนั้นให้ปลิดทิ้ง และทำการผูกกิ่งที่เหลือไว้กับเสาไม้เพื่อป้องกันลมพัดกิ่งหัก

การเด็ดผล

  • ควรปฏิบัติเมื่อมะละกอเกิดขั้นมากกว่าหนึ่งผลในหนึ่งช่อ เพื่อป้องกันไม่ให้ผลบิดเบี้ยว หรือมีขนาดเล็กลง และป้องกันต้นมะละกอโค่นล้ม

การเก็บผลผลิตมะละกอ

  • มะละกอดิบ—นิยมเก็บเกี่ยวเมื่อมะละกอมีอายุประมาณ 6 ถึง 7 เดือน หลังย้ายปลูก อายุผลประมาณ 1 ถึง 2 เดือน หลังจากดอกบาน เก็บทุก 10 ถึง 15 วัน ต่อครั้ง
  • มะละกอสุก—ควรเลือกเก็บเมื่อมะละกอเริ่มเปลี่ยนสีผล ถ้าเป็นการจำหน่ายไปยังตลาดในประเทศ จะเก็บเมื่อผลสุกมากกว่าการเก็บไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ

วิธีเก็บผล

  • ต้นเตี้ย สามารถใช้มือเก็บได้
  • ต้นสูง ให้ใช้ไม้จำปา ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่นำมาผ่าแยกเป็นแฉก รองบนแฉกด้วยผ้านุ่มๆ สวมไปที่ปลายผลมะละกอแล้วค่อยๆ บิด

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

  1. นำผลมะละกอบรรจุใส่ภาชนะแล้วลำเลียงไปยังสถานที่คัดบรรจุ แต่ต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลหรือรอยช้ำ
  2. คัดเลือกผลที่ผิดปกติหรือไม่ได้ขนาด และมีตำหนิออก
  3. ทำความสะอาด
  4. นำผลมาแช่ในน้ำร้อนอุณหภูมิ 49 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 20 นาที หรืออาจผสมไธอะเบนดาโซล หรือเบโนมิล
  5. ลดอุณหภูมิ โดยแช่ในน้ำเย็นไหลผ่านให้ผลมะละกอมีอุณหภูมิประมาณ 1 ถึง 14 องศาเซลเซียส จากนั้นนำไปสะเด็ดน้ำด้วยพัดลม
  6. ตรวจสอบคุณภาพอีกครั้ง บรรจุผลตั้งในกล่องกระดาษโดยให้ด้านขั้วลงแล้วปิดฝากล่อง
  7. นำเข้าเก็บในห้องอุณหภูมิประมาณ 1 ถึง 14 องศาเซลเซียส เพื่อรอการขนส่ง

การดูแลมะละกอ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ติดตามบทความ ‘โรคและแมลงศัตรูมะละกอ’ เพื่อป้องกันและกำจัดการเข้าทำลายผลผลิตของโรคและแมลงกันด้วยนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : หนังสือ ตามไปดู…เทคนิคมะละกอดก ทำเงินได้ …ไม่ยาก สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ จันทรา อู่สุวรรณ, www.puechkaset.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *