การปลูกถั่วดาวอินคา
การปลูกถั่วดาวอินคา ง่ายไม่มีขั้นตอนอะไรมาก ปลูกแล้วดูแลให้ดี สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ 5 เดือนหลังการเพาะปลูกจนถึง 50 ปี แต่ละปียังเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายรอบ และทำรายได้จากหลายๆ ส่วนของลำต้น ผลผลิตและรายได้จาก การปลูกถั่วดาวอินคา ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาหลังการปลูก
ปัจจัยสำคัญในการปลูกถั่วดาวอินคา
- ห้ามใช้ปุ๋ยเคมีและและยาฆ่าแมลงต่าง ๆ ในการปลูกถั่วดาวอินคา เพราะถั่วดาวอินคามีความไวจากผลกระทบที่เกิดจากสารเคมีและอุณหภูมิมาก แทนที่จะได้ผลผลิตที่ดี อาจได้ความเสียหายมาแทน
- ให้น้ำพอชุ่ม อย่าปล่อยให้มีน้ำขังรอบลำต้น หรือปลูกแบบยกร่องสูงป้องกันน้ำท่วม
- ตัดแต่งกิ่งถั่วดาวอินคาให้โปร่งอยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น
สถานที่และสภาพดินที่เหมาะสม
ถั่วดาวอินคา ปลูกได้ในทุกพื้นที่ ทุกภาคของประเทศไทย และทุกสภาพดิน ขอเพียงแค่ได้รับน้ำอย่างชุ่มชื้น แต่ไม่แฉะ ไม่ขัง และไม่น้อยเกินไป และไม่อยู่ใกล้แหล่งสารเคมี
ฤดูกาลที่เหมาะสม ในการปลูกถั่วดาวอินคา
เดือนมีนาคม ถึง เดือนเมษายน เตรียมเพาะกล้า และแปลงปลูก
เดือนพฤษภาคม ถึง เดือนมิถุนายน (ฤดูฝน) นำต้นกล้าปลูกลงในแปลงปลูก
การเตรียมเมล็ดพันธุ์
- คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ สมบูรณ์ เมล็ดไม่ลีบ ไม่มีเชื้อรา สีเข้ม มีน้ำหนัก
***เมล็ดพันธุ์ที่ดี มีอัตราการงอกสูง คือเมล็ดที่มีอายุไม่เกิน 2 – 4 เดือน หลังการเก็บเกี่ยวจากต้น*** - นำเมล็ดพันธุ์ไปแช่ในน้ำอุ่น 1 คืน เลือกเมล็ดที่ลอยน้ำทิ้งไป เพราะเป็นเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์
- เมื่อครบกำหนดเวลา 1 คืน บ่มเมล็ดพันธุ์ โดยนำผ้าสะอาดไปชุบน้ำให้ชุ่มนำไปห่อเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการแช่น้ำแล้ว ใส่ภาชนะที่มีฝาปิดหรือกระติกน้ำ ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 5 – 7 วัน เมล็ดพันธุ์จะมีรากสีขาวงอกออกมา จึงนำไปเพาะ หรือ นำเมล็ดพันธุ์ที่แช่น้ำแล้วไปเพาะในกระบะทราย หรือ นำไปเพาะลงในถุงเพาะชำที่เตรียมไว้ วิธีนี้ประหยัดขั้นตอน รากไม่หัก เสียหาย แต่มีอัตราเสี่ยงในการไม่งอกของเมล็ดพันธุ์สูง
คำแนะนำ
- ใช้น้ำยาล้างจานล้างเมล็ดพันธุ์และล้างด้วยน้ำสะอาด เพื่อฆ่าเชื้อราได้
- ผ้าที่ใช้ในการบ่มเมล็ดพันธุ์ สามารถฆ่าเชื้อด้วยการต้มในน้ำเดือด ลดการเกิดเชื้อราในการบ่มได้
- การบ่มเมล็ดพันธุ์ไม่ควรทิ้งเมล็ดพันธุ์ที่งอกไว้ในผ้านานเกินกำหนดเวลา เพราะรากจะยาว ดึงออกจากผ้ายาก อาจทำให้รากหักหรือขาดได้ง่าย
- ระยะเวลาในการงอกของเมล็ดพันธุ์ในช่วงอากาศเย็นและมีความชื้นสูง เช่น ฤดูฝน หรือฤดูหนาว อาจจะช้ากว่าปกติ และะทยอยงอก
การเตรียมวัสดุเพาะ
ผสมดิน ทราย และปุ๋ยคอก (หรือใช้แกลบดำ หรือขุยมะพร้าว) อัตราส่วนที่ 1 : 1 : 2 คลุกให้เข้ากัน ใส่ลงในถุงเพาะชำ
***อัตราส่วนนี้นำไปใช้ได้ทั้งในการเพาะต้นกล้า และปลูกต้นกล้า***
วิธีการเพาะต้นกล้า
- ฝังเมล็ดพันธุ์ที่งอกแล้วลงในถุงเพาะชำลึกประมาณ 1-2 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม แต่ไม่แฉะเพราะจะทำให้เมล็ดเน่าได้
- รดน้ำพอชุ่มทุกเช้า ประมาณ 1-2 สัปดาห์ เมล็ดถั่วดาวอินคาจะเริ่มงอกออกมา ช่วงนี้ต้องระหวังอย่าให้ขาดน้ำ
- ต้นกล้าอายุได้ 30 ถึง 45 วัน หรือต้นสูงประมาณ 30 เซนติเมตร สามารถนำไปปลูกลงแปลงปลูกที่เตรียมดินไว้
การเตรียมดินปลูก
- ไถ พลิกหน้าดิน และตากไว้ 15 ถึง 30 วัน เพื่อให้วัชพืชในดินตาย และย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์
- พรวนดินให้ละเอียด ทำแปลงปลูกแบบยกร่อง กว้างประมาณ 1.50 ถึง 2 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่
- ขุดหลุมปลูกให้ลึก 30 เซนติเมตร กว้างและยาว 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 2 ถึง 3 เมตร จำไว้ว่า ยิ่งมีความโปร่งของเถาเลื้อยให้รากได้หายใจได้ดียิ่งเพิ่มผลผลิต จากนั้น ตากหลุมไว้ประมาณ 5-7 วัน
- ผสมดินที่ขุดทำหลุมกับปุ๋ยคอก 3 ถึง 5 กำมือ ต่อหลุม หรือสารปรับปรุงดิน คลุกให้เข้ากัน แบ่งใส่รองก้นหลุม
การทำค้าง
ช่วงที่รอการตากหลุม ให้ใช้เสาปูน หรือเสาที่ทำจากวัสดุที่แข็งแรง มีอายุการใช้งานได้นาน เพราะถั่วดาวอินคามีอายุอยู่ได้ตั้งแต่ 10 ถึง 50 ปีต่อต้น ความสูงของเสาประมาณ 2 ถึง 2.50 เมตร ปักลึกลงไปในดินประมาณ 50 เซนติเมตร แต่ละเสา มีระยะห่างกัน 2 ถึง 4 เมตร ยึดโครงเสาด้วยลวดตาข่าย หรือตาข่ายไนล่อนตามแนวยาวของแปลงปลูก
วิธีการปลูก
- นำต้นกล้าลงปลูก – ฉีกถุงเพาะชำออกวางต้นกล้าและดินจากถุงชำลงในหลุมปลูก ให้ระดับต้นกล้าต่ำกว่าปากหลุมเล็กน้อย
- เกลี่ยดินกลบโคนต้นให้สูงขึ้นมาเล็กน้อย
- ใช้เชือกผูกลำต้นกับเสาค้ำยันเป็นวงหลวม
- รดน้ำให้ชุ่มแต่ไม่แฉะ นำหญ้าแห้งหรือฟางข้าวแห้งคลุมที่โคนต้น ช่วยเก็บความชื้นของดิน
การดูแลรักษา ต้นถั่วดาวอินคา หลังการเพาะปลูก
การให้น้ำ
- การให้น้ำหลังการปลูก อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้า หากอากาศร้อนจัด หรือฝนทิ้งช่วง สังเกตว่าดินที่แปลงปลูกไม่ชื้น ให้เพิ่มการให้น้ำพอชุ่มอีกครั้งในตอนเย็น หรือตามลักษณะหน้าดินในแปลงปลูก หากฝนทิ้งช่วงจะต้องคอยให้น้ำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
- หลังจากที่ต้นถั่วดาวอินคาแข็งแรงดี ควรให้น้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์
- ถ้าฝนตกชุก ให้ระวังเรื่องน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นและแปลงปลูก
- หากพื้นที่เพาะปลูกกว้างและมีจำนวนต้นถั่วดาวอินคามาก ควรให้น้ำด้วยระบบน้ำหยดหรือสปริงเกลอร์ เพื่อประหยัดเวลาและต้นทุนค่าจ้างแรงงาน
การกำจัดวัชพืช
- หลังจากการปลูกต้นกล้าประมาณ 1 ถึง 2 เดือน ควรกำจัดวัชพืช 1 ครั้ง หรือ ถ้ามีฝนตกชุก วัชพืชเริ่มเจริญเติบโตเร็ว ให้รีบกำจัด โดยการถาง หรือพรวนดิน
- ระยะ 1 ปีแรก กำจัดวัชพืชทุก 3 เดือน
- ปีที่ 2 ขึ้นไป กำจัดวัชพืชทุก 2 ครั้ง ต่อปี
การตัดยอด
ต้นถั่วดาวอินคา 1 ต้น ควรมีเถาประมาณ 5 เถา ควรตัดยอดเพื่อควบคุมจำนวนเถาและให้ต้นถั่วมีความโปร่ง อากาศถ่ายเท รากหายใจได้สะดวก เริ่มตั้งแต่ต้นถั่วดาวอินคาสูงได้ประมาณ 1 ถึง 1.50 เมตร ซึ่งสามารถนำยอดที่ตัดได้มารับประทาน ได้ประโยชน์อีกทางหนึ่ง
การให้ปุ๋ย
ข้อควรจำ : ต้นถั่วดาวอินคาต้องปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์เท่านนั้น (ไม่ใช้สารเคมี)
- เดือนที่ 2 หลังการเพาะปลูก ใส่ปุ๋ยคอก 2 ถึง 3 กำมือ ต่อต้น โดยหว่านห่างโคนต้นประมาณ 20 ถึง 30 เซนติเมตร ให้รอบ
- เดือนที่ 4 หลังการเพาะปลูก ซึ่งเป็นระยะก่อนการติดดอก และผล ใส่ปุ๋ยคอกอีกครั้งในปริมาณเท่าเดิม วิธีเดิม
**ควรให้ปุ๋ยคอกรอบลำต้น ปีละ 3-4 ครั้ง ปุ๋ยทางใบ เดือนละ 1-2 ครั้ง โดยเฉพาะช่วงก่อนออกดอก และหลังจากเก็บผลผลิต**
การป้องกันและแก้ไขปัญหาในการปลูกถั่วดาวอินคา
โรคเชื้อรา โรคโคนเน่า
ในบางพื้นที่ ดินอาจมีความเป็นกรดสูง อากาศร้อนจัด ทำให้พบกับปัญหารากเน่าโคนเน่าได้ ถึงแม้ว่าจะมีการจัดการที่ดี
วิธีป้องกันและแก้ไข
- หากเกิดจากสภาพดิน โรยปูนขาวที่ก้นหลุมในตอนปลูกต้นกล้า ช่วยลดความเป็นกรดของดินลงได้ หรือ นำฟางแห้งหรือหญ้าแห้งมาคลุมรอบๆ โคนต้น ใส่มูลสัตว์ เช่น มูลวัวที่หมักแล้วมาโรยบนฟาง ราดตามด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์
- หากพบว่ามีการให้น้ำที่มากเกินไป มีน้ำขังเฉอะแฉะ ให้ระบายน้ำออกทันที
- ต้นที่เริ่มเป็นโรคเน่า ใบจะเหลืองซีดและค่อยๆ ร่วง สีของเปลือกเข้มบริเวณที่เกิดโรคเชื้อรา ในขั้นรุนแรง จะมีน้ำยางไหลออกมาโดยเฉพาะช่วงเช้า อากาศชุ่มชื้น เชื้อรา สามารถแพร่กระจายโดยทางลม น้ำ ดิน ใบ กิ่งพันธุ์และผล โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน และความชื้นสูง ให้รีบกำจัดด้วยการตัดทิ้งและทำลายด้วยการเผาไฟ จากนั้น ฉีดยาป้องกันเชื้อราแบบอินทรีย์หรือใช้น้ำส้มควันไม้ 1 ส่วน ผสมน้ำ 200 ส่วน นำไปรดรากที่เน่า
การขาดธาตุอาหาร
การปลูกพืชในพื้นที่เดิมเป็นเวลานาน เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดปัญหาการขาดธาตุอาหารในดิน หรือ สารอาหารไม่เพียงพอ
อาการ คือ ใบเหลืองซีด ดอกร่วง ติดดอกแต่ไม่ออกผล รากเน่าและขยายวงกว้าง เป็นสภาวะของรากที่อ่อนแอดูดซับธาตุอาหารไม่ได้
วิธีป้องกันและแก้ไข
- ฉีดพ่นใบและรากของต้นถั่วดาวอินคาด้วย จุลินทรีย์ดีไลท์สูตรเกลือซึ่งมีสารอาหารครบทุกชนิด ในอัตราส่วน 30 ถึง 40 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้เปียกชุ่ม ในทุก ๆ 2 ถึง 3 วัน ดอกจะร่วงหมด และมีการสลัดใบทิ้งบางส่วนในระยะแรก
- การฉีดพ่นต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จนต้นถั่วผลิดอกและออกผลขึ้นมาใหม่ วิธีการนี้จะช่วยกำจัดโรครากเน่าให้หายไปด้วยทั้งหมด
- เมื่อต้นถั่วดาวอินคาเริ่มสมบูรณ์ขึ้น ให้ลดอัตราการใช้จุลินทรีย์ดีไลท์ลงให้เหลือปริมาตรที่ 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 3 ถึง 4 วันต่อครั้ง ให้เปียกชุ่ม
แมลงศัตรูถั่วดาวอินคา
ที่พบบ่อยเมื่อต้นโต คือ ด้วง, แมลงอินูน, หนอนผีเสื้อ, หนอนเจาะผล, มดคันไฟ, จิ้งหรีด และปลวก
วิธีป้องกันและกำจัด หนอนเจาะลำต้น
ให้สำรวจให้ทั่วและสม่ำเสมอ หากพบว่าใบเหี่ยว ให้กำจัดโดยการตัด และผ่าลำต้น เพื่อนำหนอนออกมา วิธีนี้สามารถลดการแพร่ระบาดและลดจำนวนต้นที่เสียหายได้
วิธีป้องกันและแก้ไข แมลงกินใบ
ปัญหานี้ พบได้ทุกพื้นที่การเพาะปลูกถั่วดาวอินคาตั้งแต่ต้นถั่วมีอายุได้ 1 ถึง 4 เดือนแรก ขั้นรุนแรงจะพบว่าแมลงกัดกินใบหมดทั้งต้น
- ใช้น้ำส้มควันไม้ละลายน้ำ อัตราส่วน 5 ซีซี ผสมน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วลำต้น ทุก 1 หรือ 2 สัปดาห์
- ฉีดพ่นให้ทั่วลำต้นด้วยน้ำหมัดสะเดาสด หรือผงสะเดา หากพบแมลงกินใบ
เมื่อต้นถั่วดาวอินคาได้รับการดูแลอย่างดีและสม่ำเสมอ จะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณที่สูง ขั้นตอนต่อไป เราก็เตรียมเก็บเกี่ยว, จำหน่าย หรือทำการแปรรูปเพื่อจำหน่าย ศึกษารายละเอียดได้ในบทความ การจำหน่ายและการแปรรูปถั่วดาวอินคา
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.baannoi.com, www.dowinca.com, www.puechkaset.com, www.manager.co.th, www.suanbanmoh.com, Facebook : จุลินทรีย์ เพื่อเกษตรกรไทย)