การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่แบบปักดำ
การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่แบบปักดำ มีข้อดี คือ ช่วยลดต้นทุนการผลิต ได้ผลผลิตดี บริหารจัดการเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืชได้ดี เนื่องจากมีระยะห่างระหว่างกอข้าวให้แสงแดดส่องทั่วถึง อากาศถ่ายเทสะดวก เมื่อต้นข้าวเจริญเติบโตจะสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคหรือแมลงมา รบกวน เพราะมีลมช่วย มีตัวห้ำ และตัวเบียนเข้าช่วยในการกำจัดศัตรูพืชได้อีกทาง ไม่มีปัญหาอย่างการทำนาหว่าน การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่แบบปักดำ มีขั้นตอน ดังนี้
การเตรียมน้ำหมักจุลินทรีย์ (หน่อกล้วย)
ส่วนผสม และอุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
- หน่อกล้วย 1 ต้น
- เครื่องดื่มกลูโคส 1 ขวด
- ขัณฑสกร 2 ช้อนโต๊ะ
- ลูกแป้งข้าวหมาก 6 ลูก
- ยาคูลย์ 2 ขวด (เพราะไม่มีสารกันบูด)
- น้ำส้มสายชู 1 ขวด
- น้ำเปล่า 150 ลิตร
- หิน ขนาด 1 ถึง 2 นิ้ว 1ก้อน
- ตะแกรงพลาสติก หรือกระถางปลูกกล้วยไม้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว (ให้ใส่ก้อนหินที่เตรียมไว้ได้)
- เชือก
- ถังพลาสติก 200 ลิตร
วิธีทำ
- ทุบหน่อกล้วยให้ช้ำ ใส่ลงไปในถัง
- เติมน้ำเปล่า 150 ลิตร ลงไปในถัง จากนั้นใส่ส่วนผสมทุกอย่างลงไป คนให้เข้ากัน
- ใส่ก้อนหินลงในกระถางปลูกกล้วยไม้ ใช้เชือกผูกกระถางแล้วหย่อนลงไปในถัง ระดับพอให้ก้อนหินแช่อยู่ใต้ผิวน้ำ ผูกเชือกรั้งกระถางไว้ไม่ให้จม
- หมักไว้ 5 วัน เมื่อครบกำหนด ยกตะแกรงขึ้นมาจากน้ำหมัก ใช้มือลูบก้อนหิน ถ้ารู้สึกสาก หรือมีขุยจับ แสดงว่าน้ำหมักนั้นพร้อมนำไปใช้งาน
การเตรียมเมล็ดพันธุ์
1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเพียง 5 กิโลกรัมเท่านั้น
- นำเมล็ดพันธุ์ข้าวแช่ในน้ำหมักจุลินทรีย์ (หน่อกล้วย) ใช้ตะแกรงช้อนเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งจะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำหมักทิ้ง คนอีก 2 ถึง 3 ครั้ง เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ลอยขึ้นมาอีก จากนั้น แช่เมล็ดพันธุ์ข้าวทิ้งไว้ 1 คืน
- บ่มเมล็ดพันธุ์ในผ้ามุ้งสีฟ้า (ตาข่ายไนลอนสีฟ้า) เพื่อให้ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่เกิดกลิ่นเหม็น ไม่เกิดเชื้อรา หรือเชื้อโรค การบ่มเมล็ดพันธุ์ เพื่อเร่งให้เมล็ดพันธุ์แตกรากเร็วขึ้น
การเพาะต้นกล้า (ติดตามวิธีการเพาะต้นกล้าแบบแห้ง และแบบเปียก ในบทความ การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่แบบโยนกล้า)
วิธีการเพาะต้นกล้าแบบดาปก
การตกกล้าแบบนี้เป็นที่นิยมทำกันมากในประเทศฟิลิปปินส์
- ขั้นแรกทำการเตรียมพื้นที่ดินเหมือนกับการเพาะกล้าในดินเปียก แล้วยกเป็นแปลงสูงกว่าระดับน้ำ 5 ถึง 10 เซนติเมตร หรือใช้พื้นที่ดอนเรียบหรือพื้นคอนกรีต
- ใช้กาบของต้นกล้วยต่อกันเป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 1 เมตร และยาวประมาณ 1.50 เมตร
- นำใบกล้วยที่ไม่มีก้านกลางวางเรียงเพื่อปูเป็นพื้นที่ในกรอบนั้น ให้เอาด้านล่างของใบหงายขึ้นและไม่ให้มีรอยแตกของใบ เพราะฉะนั้นใบกล้วยที่ปูพื้นนั้นจะต้องวางซ้อนกันเป็นทอด ๆ
- นำเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ซึ่งผ่านการแช่และบ่มแล้ว ออกมาโรยลงไปในกรอบที่เตรียมไว้ ใช้เมล็ดพันธุ์หนัก 3 กิโลกรัมต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตร ดังนั้นเมล็ดพันธุ์ที่โรยลงไปในกรอบจะซ้อนกัน 2 ถึง 3 ชั้น
- หลังจากโรยเมล็ดแล้ว ต้องใช้บัวรดน้ำชนิดรูเล็กมาก รดลงในกรอบที่โรยเมล็ดนี้วันละ 2 ถึง 3 ครั้ง ในที่สุดเมล็ดก็จะงอกและเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นกล้า
ข้อสำคัญ
- ในการตกกล้าแบบนี้ คือ ต้องไม่ให้น้ำท่วมแปลงกล้า ใช้เวลาในการเพาะกล้า หรือตกกล้า 15 วัน ต้นกล้าก็พร้อมที่ใช้ปักดำได้หรือจะเอาไปปักดำกอละหลาย ๆ ต้น ซึ่งเรียกว่า ซิมกล้า เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่แข็งและโตสำหรับปักดำจริง ๆ ซึ่งนิยมทำกันมากในภาคเหนือของประเทศไทย การที่จะเอาต้นกล้าไปปักดำ ไม่จำเป็นต้องถอนต้นกล้าเหมือนกับวิธีอื่น ๆ เพราะรากของต้นกล้าเกาะกันแน่นระหว่างต้น และรากก็ไม่ได้ทะลุใบกล้วยลงไปในดิน ฉะนั้นชาวนาจึงทำการม้วนใบกล้วยแบบม้วนเสื่อ โดยมีต้นกล้าอยู่ภายในการม้วนก็ ควรม้วนหลวม ๆ แล้วขนไปยังแปลงนาที่จะปักดำ
- อายุของต้นกล้า หากเกินกว่า 15 วัน จะแตกกอได้ไม่ดี และเมื่อปักดำต้นกล้าลงในแปลงนาจะฟื้นตัวได้ช้ากว่า 3 วัน ระยะการเก็บเกี่ยวก็จะได้ช้ากว่า 130
การเตรียมดิน ติดตามขั้นตอนการเตรียมดิน ในบทความ การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่แบโยนกล้า
- ควรปล่อยน้ำเข้าแปลงนาเพื่อให้ดินนุ่ม เพื่อสะดวกในการดํานาก่อนการปักดํา 1 สัปดาห์
- เมื่อปักดำต้องมีน้ำเพียงพอในแปลงนา คือประมาณ 10 เซนติเมตร แต่ไม่น้อยกว่า 5 ถึง 7 เซนติเมตร และไม่เกิน 30 เซนติเมตร เพราะหากมีปริมาณสูงเกินไป ต้นกล้าที่ปักดำอาจลอยน้ำได้
วิธีการปักดำ
- ระยะห่างของการปักดำคือ 25×25 เซนติเมตร หรือ 30×30 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับพื้นที่ดินถ้าดินดีควรดำห่างเพื่อป้องกันไม่ให้ต้นข้าวล้มทับกัน
- การจับต้นกล้าสําหรับปักดํา ถ้าเป็นต้นกล้าแก่ให้จับ 1 ถึง 2 ต้น ปักดําให้รากจมดินประมาณ 2 ถึง 3 เซนติเมตร ถ้าปักดําลึกจะทําให้ต้นข้าวแตกกอช้า แต่ถ้าปักดําตื้นต้นข้าวจะลอยน้ำ
- ควรปักดําให้เป็นแถว เพื่อง่ายต่อการดูแลและการกําจัดแมลงและโรค
การดูแลข้าวไรซ์เบอร์รี่หลังปักดำ
- หลังปักดำต้นกล้า 7 วัน ปล่อยน้ำเข้าแปลงนา เพื่อคุมวัชพืชในนา
- หลังจากนั้น 3 วัน (คือวันที่ 10) หลังการปักดำ ฉีดพ่นน้ำหมักในแปลงนา ตั้งแต่ 6 ถึง 10 โมง เพราะเป็นเวลาที่จุลินทรีย์ทำงานได้ดี
***ข้าวเป็นพืชที่กินอาหารทางใบจึงควรให้อาหารทางใบ ด้วยการฉีดพ่นน้ำหมักทุก 7 วัน จนข้าวมีอายุได้ 75 วัน ข้าวจะตั้งท้องและเริ่มออกรวง งดฉีดน้ำหมักจนถึงวันที่ 85***
- เมื่อข้าวเริ่มเหลืองได้ครึ่งรวง ให้ปล่อยน้ำออกจากแปลงนา หรือก่อนการเกี่ยว 15 ถึง 20 วัน จึงทำการเก็บเกี่ยว
การตากข้าวไรซ์เบอร์รี่ หลังการเก็บเกี่ยว
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีน้ำมันรำข้าวมากที่สุดในบรรดาสายพันธุ์ข้าว ต้องตากในที่ร่มเท่านั้น ไม่ตากแดด
การบรรจุเพื่อการจำหน่าย
บรรจุแบบสูญญากาศในถุงขนาดเล็กตั้งแต่ 1 กิโลกรัม ถึง 2 กิโลกรัม โดยไม่มีการเติมแก๊สหรือสารใดๆ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล: www.ku.ac.th, www.youtube.com รายการเกษตรวิทย์ ตอน ข้าวไรซ์เบอร์รี่, www.phupassara.com)