กล้วยไม้พารวยด้วยการส่งออกกล้วยไม้
กล้วยไม้พารวย ด้วย การส่งออกกล้วยไม้ ซึ่ง ถ้าพูดกันตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้แค่พารวย แต่รวยเงินล้านกันเลยทีเดียว สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ส่งออก การส่งออกกล้วยไม้ ในขั้นตอนเริ่มต้นนั้นอาจจะต้องดำเนินการหลายขั้นตอน แต่ทุกอย่าง ยากตอนเริ่มต้นเท่านั้น และถ้านึกถึงผลกำไรที่คุ้มทุน สร้างความร่ำรวย มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน…ก็ไม่มีอะไรมาเป็นอุปสรรคได้
สิ่งสำคัญสำหรับ การส่งออกกล้วยไม้
1.หน่วยงานราชการ
ผู้ส่งออกต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากหน่วยงานราชการ เพื่อให้ได้รับความถูกต้องในทุกขั้นตอนการส่งออก, เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนในทุกๆ ด้านที่จำเป็น, เพื่อให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องในการส่งออก ได้เรียนรู้เพิ่มเติม และพัฒนาการปลูกกล้วยไม้, และเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกเป็นต้นไป
หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงด้านการส่งออก คือ กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง และหน่วยที่เกี่ยวกับการค้าต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์
2.ตลาด หรือ ประเทศผู้นำเข้า ต้องทราบความต้องการของตลาด คุณภาพของสินค้าที่ต้องการ เช่น สี สายพันธุ์ วัตถุประสงค์ในการใช้ และกฎระเบียบที่ควบคุมสินค้าประเภทนี้
การส่งออกกล้วยไม้ มีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
1.การจัดเตรียมกล้วยไม้เพื่อการส่งออก
กล้วยไม้ที่เพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออก จะมีขั้นตอนหลังตัดดอกจนถึงบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างไปจากกล้วยไม้ที่ขายในประเทศ ผู้ส่งออกควรให้ความสำคัญตั้งแต่ การปฏิบัติตามขั้นตอนการปลูกและการกำจัดโรคและแมลง ( ให้ได้มาตรฐานการส่งออก ), การเก็บเกี่ยว, การคัดเลือกจัดเกรดกล้วยไม้, การเคลื่อนย้ายกล้วยไม้จากสวนมายังสถานที่บรรจุหีบห่อ, การบรรจุหีบห่อ หรือบรรจุภัณฑ์, การรักษาคุณภาพกล้วยไม้ด้วยกระบวนการให้ความเย็นที่ควบคุมอุณภูมิและความชื้นเพื่อกล้วยไม้สด แข็งแรง ได้คุณภาพ และปลอดโรคและแมลง และการขนส่งไปยังสนามบิน
การเก็บเกี่ยวกล้วยไม้เพื่อส่งออก (สำหรับผู้ส่งออกรายใหม่)
ระยะการเก็บเกี่ยว
- กล้วยไม้สกุลหวาย-ตัดเมื่อมีดอกบาน 3 ใน 4 ของจำนวนดอก
- กล้วยไม้สกุลออนซิเดียม-ตัดเมื่อมีดอกบาน 2 ใน 5 ของจำนวนดอก
- กล้วยสกุลอะแรนด้าและมอคคาร่า-ตัดเมื่อมีดอกบานไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 ของจำนวนดอก
- กล้วยไม้สกุลแวนด้า-ตัดเมื่อมีดอกบานเกือบทั้งช่อ หรือบานหมดช่อ
วิธีการเก็บเกี่ยว - อุปกรณ์เก็บเกี่ยวควรใช้กรรไกรหรือมีดที่มีความคมหรือสะอาด
- ควรตัดก้านช่อดอกจนเกือบชิดลำต้น ให้ได้ก้านยาวมากที่สุด
- ระยะเวลาตัดดอก ควรเป็นช่วงเช้าหลังจากให้ปุ๋ยไปแล้ว 2-3 วัน
การแพ็คดอกกล้วยไม้เพื่อส่งออก
ขั้นตอนที่ 1 เมื่อตัดดอกกล้วยไม้มาจากสวน ให้ปาดก้านด้วยมีดคม ๆ ใหม่อีกครั้ง เพื่อที่จะให้ท่อน้ำท่ออาหารที่ปิดอยู่ เปิดให้ดูดน้ำได้ดียิ่งขี้น
ขั้นตอนที่ 2 นำช่อดอกกล้วยไม้ที่ปาดก้านแล้วแช่น้ำยาเคมีที่ช่วยลดแก๊สเอทธิลิน ประมาณ 3 ถึง 12 ชั่วโมง เก็บดอกกล้วยไม้ไว้ในที่มีอุณหภูมิประมาณ 20 ถึง 25 องศาเซลเซียส ความชื้น ประมาณ 60 ถึง 70 เปอร์เซนต์ โดยประมาณ
ขั้นตอนที่ 3 ครบกำหนดเวลา นำดอกไม้ที่แช่ไว้ออกมาคัด
ขนาด-ด้ตามกำหนด หรือไม่
- คัด-ต้องไม่มีโรค (ราสนิม, เกสรดำ)
- ค้ด-แมลง (หนอน, เพลี้ยงไฟ, หอยต่าง ๆ)
- ดอกซ้ำ
- ดอกเปื้อนยา
- ดอกบานในช่อและดอกหลุดในช่อ (ในกรณีดอกหลุด อนุโลมให้ดอกโคนหลุดได้ ไม่เกิน 1 ดอก และดอกกลางล่วงหลุดได้ไม่เกิน 1 ดอก แต่ต้องมีดอกบานในช่อมากกว่าปกติ
ขั้นตอนที่4 ใช้มีดคม ๆ ปาดก้านให้เป็นปากฉลาม เพื่อเพิ่มพื้นที่การดูดน้ำให้มากขึ้น แล้วเสียบก้านลงในหลอดพลาสติกเสียบกล้วยไม้ส่งออก หรือหลอดเสียบกล้วยไม้ ในหลอดจะบรรจุด้วย ตัวยาที่เป็นสารเคมีเพื่อยับยั้งเชื่อแบคทีเรีย ยับยั้งการผลิตแก๊สเอธีลีนของดอกกล้วยไม้ และ น้ำตาลเพื่อเป็นอาหารของดอกกล้วยไม้
(8 HQS 200 ppm+ AgNO3 10 ppm + น้ำตาล 2%+BAP 5 ppm)
ขั้นตอนที่ 5 การเข้ากำ กำๆ ละ 10 ช่อ หรือ 5 ช่อ และใส่ถุงหรือ ห่อด้วยพลาสติกใส ก่อนบรรจุลงกล่องสภาพดอกไม้ต้องแห้ง
ขั้นตอนที่ 6 การบรรจุลงกล่อง กล่อง ๆ ละตั้งแต่ 10 ถึง 50 ช่อ และบรรจุลงกล่องใหญ่ ประมาณ 100 ถึง 300 ช่อ ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าปลายทาง
ขั้นตอนที่ 7 นำดอกกล้วยไม้ที่บรรจุเสร็จแล้ว เข้ารมยาเพื่อฆ่าแมลงที่ยังคงปะปนอยู่ที่ดอกกล้วยไม้ในห้องรมยาที่ปิดมิดชิด รมด้วยแก๊สเมธิลโบรมายด์ ด้วยความเข็มข้น 24 กรัม ต่อ1ลบ.ม. เวลารม 1.30 ถึง 2 ชั่วโมง
ขั้นตอนที่ 8 รมยาเสร็จแล้ว ขนส่งไปสนามบินเพื่อจัดการขั้นตอนต่อไปในการส่งออก
ขั้นตอนที่ 9 เมื่อถึงสนามบิน ต้องผ่านการสุ่มตรวจแมลงโดยเจ้าหน้าที่เกษตร กรมวิชาการเกษตร อีก 1 ครั้ง ถ้าพบ ‘แมลงตัวเป็น’ ติดปะปนมา สินค้าทั้งหมดจะไม่สามารถส่งออกได้ ผู้ส่งออกต้องนำดอกกล้วยไม้ทั้งหมดกลับมาทำให้ปราศจากแมลงอีกครั้ง หลังจากนั้น นำไปให้เจ้าหน้าที่เกษตรตรวจอีก 1ครั้ง เมื่อผ่านการตรวจแล้วเจ้าหน้าที่เกษตรจะจัดทำเอกสารเพื่อแสดงว่าผ่านการตรวจ คือ หนังสือรับรองการตรวจแมลง (Phytosanitary Certificate)
ขั้นตอนที่ 10 เอกสารที่จำเป็นต้องนำส่งไปพร้อมกับดอกกล้วยไม้ คือ
- ใบรับรองการรมยาจากบริษัทรมยา
- ใบแสดงรายการและรายละเอียดสินค้าครั้งนั้น ๆ
ขั้นตอนที่ 11 นำดอกกล้วยไม้เข้าบรรจุในตู้ขนส่งสินค้าทางอากาศของสายการบิน
ข้อพึงระวังในการบรรจุ
ดอกไม้ต้องปราศจากแมลง หอย หรือศัตรูพืช ที่ยังมีชีวิต (โดยเฉพาะต้องไม่มีโรคเกสรดำ และราสนิม ติดมา)
การแก้ไข
- เกษตรกรต้องใช้ยาฆ่าเชื้อราอย่างสม่ำเสมอ
- หลังจากตัดดอกกล้วยไม้ ต้องตรวจดอกดูก่อนว่ามีโรคดังกล่าวติดมาหรือไม่ ถ้ามีต้องคัดออก
- ดอกกล้วยไม้ควรมีจำนวนดอกบานมากกว่า 60 เปอร์เซนต์ และต้องมีดอกบานที่สม่ำเสมอทั้งฤดูกาล ก้านช่อแข็งแรง
- การบรรจุดอกกล้วยไม้ลงกล่อง ต้องไม่แน่นหรือมากจนเกินไป จะทำให้ดอกกล้วยไม้ช้ำและเกิดความเสียหายได้
- ข้อควรต้องระมัดระวังเกี่ยวกับ การใส่ปุ้ย ควรตัดดอกกล้วยไม้หลังจากให้ปุ้ยไปแล้วอย่างน้อย 2 ถึง 3 วัน
- ป้องกันและกำจัดแมลง และโรคอย่างสม่ำเสมอ
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อกล้วยไม้ถึงปลายทาง
- ในช่วงที่ตลาดมีความต้องการสูงไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าตลาดมีคู่แข่งเยอะ หรือปริมาณผลผลิตสูง ของจะถูกเก็บในกล่อง 1 ถึง 2 วัน ดอกไม้จะร้อน เน่า เสียหาย อาจเป็นข้ออ้างให้ลูกค้าขอเปลี่ยนสินค้า หรือปฏิเสธการชำระเงิน
- หากตัดดอกก่อนถึงกำหนดเว้นระยะหลังการใส่ปุ๋ย ดอกไม้จะเน่าช่วงเดินทางก่อนถึงมือลูกค้า
- ดอกกล้วยไม้ที่ไม่ค่อยแข็งแรง กลีบบาง ดอกจะขึ้นเส้นเร็ว เหี่ยวเร็ว สีไม่สดใส ดอกเล็กไม่มีน้ำหนัก
- ปัญหาเกี่ยวกับศัตรูพืชเมื่อถึงปลายทาง ในบางประเทศ ถ้าด่านกักกันโรคพืชที่สนามบินตรวจพบโรคหรือแมลงมีชีวิตทุกชนิด จะต้องมีการรมยาอีกครั้ง ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้าที่ส่งเข้าครั้งนั้นๆ แต่ดอกกล้วยไม้มีคุณภาพที่ต่ำลง คือ ดอกตูมจะเหลืองร่วงเร็วขึ้น ราคาตก
- ปัญหาการชำระเงิน เป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้จากทุกประเทศผู้นำเข้าเนื่องจากมีการกำหนดเวลาในการชำระเงิน หรือ Credit Term คือ ชำระเงินหลังจากลูกค้ารับสินค้าแล้ว จึงมีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ผู้ส่งออกยังต้องรับภาระค่าระวางบรรทุก (ค่าเครื่องบิน) ซึ่งสูงมากด้วย
- ปัญหาที่ระวางบรรทุกสินค้า นอกจากอัตราค่าระวางบรรทุกจะสูงมากแล้ว จำนวนระวางบรรทุกยังมีอยู่จำกัด ดังนั้นบางเทศกาลที่สำคัญๆ ผู้ส่งออกจะมีปัญหาไม่สามารถที่ระวางบรรทุกได้เพียงพอ ปัจจุบันนี้และอานาคต ราคาน้ำมันจะมีผลกระทบอย่างมากกับสินค้าส่งออกของไทย ราคาขายจะต้องปรับขึ้น
พิธีการศุลกากร
ในขั้นตอนนี้ ผู้ส่งออกบางรายอาจต้องการใช้บริการของ ‘ตัวแทนออกของศุลกากร’ หรือ Customs Broker หรือ Shipping Agent เพื่อทำหน้าที่ส่งสินค้าไปต่างประเทศ โดยบริการมีแบบครอบคลุมถึงการจัดการขนส่งสินค้า การจัดทำเอกสารทางด้านศุลกากร และการปฏิบัติตามขั้นตอนของกรมศุลกากร เนื่องจากการทำงานในขั้นตอนนี้ ผิดพลาดไม่ได้ แต่มีรายละเอียดมาก ผู้ส่งออกบางรายจึงนิยมใช้บริการของผู้ที่ชำนาญเหล่านี้
ขั้นตอนย่อยของพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าแต่ละชนิด ต่างกันที่การขอใบรับรองเพื่อส่งออกไปพร้อมกับสินค้า ดังนั้น บางสินค้าก็ต้องการใบรับรองสุขภาพอนามัย บางสินค้าต้องการใบรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้า ซึ่งในรายละเอียดผู้ส่งออกสามารถหาอ่านได้จากเวบไซต์ของกรมส่งเสริมการส่งออก ที่ www.depthai.go.th/regulations/regulations.html
2.การส่งออกจากประเทศไทย
การส่งออกกล้วยไม้ทุกชนิด ต้องมาจากกล้วยไม้ที่ได้มาจากการผสมพันธุ์เทียมเท่านั้น และจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงเพื่อการค้าจากกรม วิชาการเกษตร กล้วยไม้ที่ต้องการส่งออกไปต่างประเทศต้องขอ CITES ไซเตส คือ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ จากกรมวิชาการเกษตร โดยนำต้นกล้วยไม้ที่จะส่งออกไปตรวจ หากเป็นกล้วยไม้พันธุ์แท้ต้องไปขอ CITES ที่ สำนักงาน CITES ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สำหรับกล้วยไม้ลูกผสมสามารถขอได้ที่แผนกตรวจพืช Plant Quarantine ที่สนามบินได้เลย ผู้ส่งออกจะต้องมีบัตรประจำตัวผู้ส่งออกกับกรมการค้าต่างประเทศ และกรมศุลกากร และจะต้องขอใบอนุญาตปลอดศัตรูพืช (Phytosanitary Certificate) จากกรมวิชาการเกษตร หากกล้วยไม้ที่ต้องการส่งออกเป็นพันธุ์แท้ หรืออยู่ในบางสายพันธุ์ที่มีข้อกำหนดไว้ เช่น กล้วยไม้จัดอยู่ในวงค์ Orchidaceae ซึ่งบางชนิดอยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora, CITES) การขออนุญาตส่งออกพืชอนุรักษ์และซากพืชอนุรักษ์ตามวงค์และชนิดที่ระบุไว้ในบัญชีที่ต้องขออนุญาต ในกรุงเทพมหานครให้ยื่นคำขอได้ที่กองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ส่วนจังหวัดให้ยื่น ณ ด่านตรวจพืช 3 แห่ง เท่านั้น ได้แก่ ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานเชียงใหม่ ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานภูเก็ต ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานหาดใหญ่ รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ ฝ่ายนำพืชและอนุรักษ์พืชป่า กองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร.02-940-6573, 02-940-6775 ต่อ112
การขอจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ สามาระขอจดทะเบียนได้ที่ฝ่ายบริการส่งออก ศูนย์ผลักดันสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก (ศกอ.) กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2940-6320-1 การขอใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phytosanitary Certificate) การขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชกำกับไปกับสินค้าที่ส่งออก ไม่ได้เป็นการบังคับ เป็นความประสงค์ของผู้ส่งออกที่จะขอ หรือเป็นไปตามความต้องการของประเทศผู้นำเข้า ยกเว้นการส่งออกดอกกล้วยไม้ไปสหภาพยุโรป ผู้ส่งออกต้องขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชจากกรมวิชาการเกษตร และต้องไปแสดงต่อพนักงานศุลกากรในการส่งออกทุกครั้ง ผู้ใดประสงค์จะขอใบรับรองปลอดศัตรูพืช ให้ยื่นคำขอตามแบบ พ.ก.9 ส่วนกลางยื่นได้ที่
- งานมาตรฐานและบริการตรวจพืช ฝ่ายกักกันพืช กองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร 02-579-1568, 02-579-6466-8
- งานมาตรฐานและบริการตรวจพืช สำนักงานคลังสินค้าที่ 2 บริเวณท่าอากาศยานกรุงเทพ โทร 02-504-2719-20, 02-535-1696 โทรสาร 02-504-2720 ส่วนภูมิภาคที่ด่านตรวจพืชทุกด่านทั่วประเทศ
ปัจจุบันมีบริษัทผู้ให้บริการด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สามารถดูแลการขนส่ง ตั้งแต่สินค้ายังอยู่ที่โรงงาน หรือฟาร์ม, ดำเนินการขั้นตอนขออนุญาตเพื่อการส่งออกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทนผู้ส่งออกซึ่งมีความละเอียดในด้านเอกสารการส่งออกและขั้นตอนทางเทคนิคอื่นๆ เพื่อให้สินค้าออกจากประเทศได้โดยราบรื่น, จัดการกระบวนการขนส่งข้ามประเทศ ติดต่อกับสายการบิน หรือสายเรือ และเมื่อสินค้าส่งถึงประเทศปลายทางแล้วก็จะดำเนินการขออนุญาตนำเข้ากับหน่วยงานศุลกากรของประเทศปลายทางตามขั้นตอนที่ถูกต้องรวมทั้งขั้นตอนทางด้านการตรวจสอบสินค้าขาเข้า, กระบวนการในการเสียภาษี เพื่อให้สินค้าส่งถึงมือผู้รับ หรือลูกค้าปลายทาง ซึ่งขั้นตอนเพื่อให้สินค้าผ่านพิธีการนำเข้าของประเทศปลายทางได้นั้นมีความยุ่งยากเนื่องจากกฏระเบียบ การจัดเตรียมเอกสารภาษาท้องถิ่น และการดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของแต่ละพื้นที่ แต่ก็ควรเลือกบริษัทที่มีประสบการณ์ หรือเป็นบริษัทที่มีพันธมิตรที่เป็นบริษัทจีนคอยดำเนินการในขั้นตอนย่อยในประเทศปลายทาง การเลือกบริษัทชิปปิ้งที่เชี่ยวชาญสามารถไว้ใจได้ สามารถแก้ไขปัญหาในการส่งออก/ปัญหาการขนส่งได้ รายชื่อบริษัทผู้ให้บริการขนส่งระหว่างประเทศนั้น สามารถเลือกรายชื่อได้จากเว็บไซต์ของทางสมาคมชิปปิ้ง (http://www.ctat.or.th เลือก”สมาชิก”) หรือเว็บไซต์ของสำนักโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (http://www.tradelogistics.go.th เลือก “รายชื่อ LSP”) ซึ่งบริษัทที่อยู่ในรายชื่อจากแหล่งข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นบริษัทที่ผ่านการคัดกรองจากหน่วยงาน/สมาคมและมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งหากพบปัญหาจากการให้บริการสามารถร้องเรียนกับสมาคมฯได้โดยตรง
ข้อแนะนำอื่น ๆ
ผู้ส่งออกกล้วยไม้ของไทยควรยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานและตรงตามความต้องการของตลาดโดยให้ความสำคัญกับมาตรฐาน กล้วยไม้ที่สำคัญ 3 ด้าน คือ
1. มาตรฐานช่อดอกกล้วยไม้ หรือกล้วยไม้ตัดดอก
2. มาตรฐาน GAP กล้วยไม้ตัดดอก และ
3. มาตรฐาน GMP ของโรงคัดบรรจุดอกกล้วยไม้ ซึ่งประเทศผู้นำเข้าหลายประเทศได้กำหนดมาตรการการนำเข้าที่เข้มงวดมากขึ้น ไม่เฉพาะการกำหนดกำแพงภาษีนำเข้าเท่านั้น แต่ยังมีการกำหนดมาตรการสุขอนามัยพืช การตรวจสอบศัตรูพืชสำคัญ เช่น เพลี้ยไฟและไข่หอยที่ปะปนติดไปกับสินค้า ซึ่งมาตรการดังกล่าวถือว่าเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ใม่ใช่รูปแบบภาษีรูปแบบหนึ่ง
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติมในการส่งออกกล้วยไม้
- การส่งออกกล้วยไม้ไปประเทศจีน www.thaibizchina.com
- การส่งออกกล้วยไม้ไปประเทศญี่ปุ่น www.orchidnet.doae.to.th/2555/home/technic_orchid.php?c=5&d=35&id=7
- ขั้นตอนการส่งออกดอกกล้วยไม้ onestopservice.ditp.go.th/download/export/ex_8-1.pdf
- ภาษีกล้วยไม้ taxclinic.mof.go.th/สินค้า-24-คลินิกภาษีกล้วยไม้_1.html
จุดแข็งของการส่งออกกล้วยไม้ไทย
1. ไทยเป็นผู้นำการผลิตและการส่งออกกล้วยไม้เมืองร้อน
2. แหล่งเพาะปลูกตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสม
ปัญหาและอุปสรรคการส่งออกกล้วยไม้ไทย
1. ปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ และน้ำเค็มรุกพื้นที่การผลิตกล้วยไม้
2. ราคากล้วยไม้ตกต่ำในช่วงผลผลิตออกมากกระจุกตัวระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม
3. คุณภาพกล้วยไม้ตัดดอก ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่สม่ำเสมอ
4. อัตราค่าระวางการส่งออกทางเครื่องบินมีราคาสูง หรือพื้นที่ระวางไม่เพียงพอในช่วงเทศกาลที่มีความต้องการสินค้าจำนวนมาก
ข้อเสนอแนะให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ส่งออก
- ควรตัดดอกกล้วยไม้ ที่ให้ดอกในแต่ละช่อมีจำนวนดอกบานกว่าร้อยละ 80 และการขนส่งจะต้องไม่ให้กลีบดอกช้ำ
- เร่งปรับปรุงเรือนเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ โดยใช้ระบบปิดเพื่อให้สามารถป้องกันโรคและแมลงโดยเฉพาะโรคเกสารดำ ซึ่งจะพบมากในช่วงฤดูฝน
- เร่งปรบระบบการผลิต เพื่อเข้าสู่การผลิตที่ดีและเหมาะสม (Good Agricultural Practices : GAP)
- สร้างมาตรฐานการตัดดอกกล้วยไม้ ให้เป็นเส้นตรงตลอดฤดูกาล
- ผู้ส่งออก โดยเฉพาะรายเล็กจะต้องรักษาคุณภาพจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคปลายทาง ดังนี้
เร่งสร้างความเชื่อมั่นในสินค้า โดยสร้างแบรนด์เนมให้เป็นที่ยอมรับของตลาด
การคัดและแบ่งชั้นคุณภาพต้องเป็นไปตามมาตรฐาน
การบบรจุหีบห่อต้องไม่แน่นมากเกินไป เพื่อไม้ให้กลีบดอกช้ำมาก เมื่อถึงปลายทาง
ปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธภาพมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนสินค้า
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล: www.orchidtropical.com, www.thaibizchina.com)
(ข้อมูลรูปภาพจาก: https://www.gotoknow.org/posts/634866, www.phtnet.org)