ชมพู่

ชมพู่ ผลไม้ที่มีรสหวานอร่อย ฉ่ำน้ำ รับประทานง่าย เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งในตลาดผลไม้ประเทศไทยมาเป็นเวลานาน บางสายพันธุ์มีราคาแพง เช่น ชมพู่ทับทิมจันทร์ ที่เป็นไม้ผลทำเงิน จนเกิดเกษตรกรเงินล้านขึ้นมาหลายราย บางสายพันธุ์มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน เช่น ชมพู่มะเหมี่ยว ผู้เขียนจะขออุบเหตุผลที่อยากชักชวนท่านผู้อ่านปลูกชมพู่ไว้ก่อนค่ะ ( ถ้าอยากทราบ ติดตามบทความการปลูกชมพู่ นะคะ ) ในอดีต คนไทยนิยมปลูกชมพู่ไว้เป็นไม้ผลกินได้ที่ให้ร่มเงาในบริเวณบ้าน แต่เมื่อชมพู่เพชรบุรีเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นจึงมีเกษตรกรปลูกชมพู่เป็นการค้าเพิ่มขึ้นมาก ชมพู่หลายชนิดมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย แล้วค่อยแพร่กระจายเข้าสู่ประเทศในเขตร้อนชื้น โดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย ปัจจุบัน ชมพู่พบปลูกในทุกภาคของประเทศไทยโดยมีแหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และสมุทรสาคร

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์โดยรวมของชมพู่
ลำต้น สูงประมาณ 5 ถึง 20 เมตร เปลือกลำต้นเรียบหรือขรุขระ มีสีน้ำตาลหรือเทา มักแตกกิ่งก้านสาขาบริเวณใกล้กับโคนต้น
ใบ ชมพู่ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตัวแบบตรงกันข้าม ใบหนาผิวด้านหลังใบเป็นมันสีเขียวเข้ม และมักเจือด้วยสีแดงหรือม่วง
ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ สีดอกแตกต่างกันไปตามพันธุ์อาจจะเป็นสีขาว เหลือง ชมพูหรือแดง การออกดอกในประเทศไทยแบ่งได้เป็นรุ่น 2 รุ่นใหญ่ รุ่นแรกเริ่มประมาณเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน รุ่นที่สองเริ่มประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม

ผลและเมล็ด ผลชมพู่มีลักษณะคล้ายระฆัง ที่ปลายผลมีชั้นของกลีบเลี้ยงรูปถ้วยติดอยู่ตลอด เนื้อ สี รูปร่าง ขนาด และรสชาติแตกต่างกันตามพันธุ์ ส่วนเมล็ด มีตั้งแต่ 1 ถึง 5 เมล็ด หรืออาจไม่มีเมล็ดแล้วแต่พันธุ์ชมพู่
สายพันธ์ที่มีการปลูกในไทย ได้แก่
Eugenia malaccensis Linn. หรือ Syzygium malaccensis ชมพู่ตระกูลนี้มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่

  • ชมพู่มะเหมี่ยว
  • ชมพู่สาแหรก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของชมพู่สาแหรก

ลำต้น เดี่ยวตั้งตรง ผิวเปลือกหยาบ และขรุขระอย่างเด่นชัด ทรงพุ่มมีกิ่งก้านแผ่ออกกว้างบริเวณโคนต้น และเป็นพุ่มแหลมบริเวณส่วนยอด ขนาด ของทรงพุ่มมีความสูงประมาณ 8 ถึง 10 เมตร มีกิ่งแตกออกมากมาย กิ่งใหญ่มักตั้งฉากกับลำต้น กิ่งมีลักษณะกลมสีเขียวอมเหลือง เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลอมแดง บริเวณข้อของกิ่งจะหนา และบริเวณเปลือกจะมีรอยแตกตามความยาวของลำต้น รอยแผลของใบที่หลุดร่วงไปบนลำต้นจะมีขนาดใหญ่ มีอายุประมาณ 8 ถึง 12 ปี

ใบ เป็นรูปโล่ห์ค่อนข้างยาว ปลายใบแหลมแบน ขอบใบเรียบ ใบที่โตเต็มที่จะมีขนาดความกว้างประมาณ 10 ถึง 18 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20 ถึง 36 เซนติเมตร ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อนอมชมพู ใบแก่หลังใบเป็นสี เขียวเข้ม และเป็นมัน ท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน มีเส้นกลางใบเด่นชัดสีเขียวอมเหลือง ก้านใบสีน้ำตาลแดง

ดอก เกิดเป็นช่อมีจำนวนประมาณ 1 ถึง 12 ดอก มักเกิดบริเวณซอกใบที่มีใบหลุดร่วงไป ช่อดอกสั้น ก้านดอกย่อยสีชมพูเข้มหรือแดง ออกดอกประมาณเดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายน

ผล แก่ประมาณเดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม ผลมีรูปร่างกลมยาวแบบผลสาลี่ ปลายผลโป่งออกมีขนาดใหญ่กว่าด้านขั้วผลเล็กน้อย สีผลภายนอกเมื่อสุกมีสีพื้นเป็นสีขาว และสีผิวเป็นสีชมพู มองดูคล้ายออกดอกสีแดงหรือชมพูแกมส้ม หรือแดงเข้มสลับแดงอ่อนตามความยาวของผล ผลมีเนื้อแน่น และเหนียว สีขาวฉ่ำน้ำ รสคล้ายแอปเปิล เมล็ดค่อนข้างกลมใหญ่ ในหนึ่งผลจะมี 1 เมล็ด หรือถ้ามี 2 เมล็ด จะมีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลมประกบกัน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของชมพู่มะเหมี่ยว
มีลักษณะคล้ายคลึงกับชมพู่สาแหรก
ลำต้น เป็นลำต้นเดี่ยวตั้งตรง ผิวเปลือกขรุขระไม่มาก ทรงพุ่มขนาดความสูงประมาณ 8 ถึง 10 เมตร ส่วนล่างของทรงพุ่มมีกิ่งก้านแผ่ออกกว้าง และส่วนยอดเป็นพุ่มแหลม กิ่งใหญ่ที่แตกออกมามักตั้งฉากกับลำต้น ชมพู่มะเหมี่ยวมักมีอายุไม่ค่อยยืนเนื่องจากอ่อนแอต่อหนอนเจาะลำต้น โดยทั่วไปมีอายุประมาณ 8 ถึง 10 ปี

ใบ เป็นรูปโล่ค่อนข้างยาว ปลายใบแหลมแบบ ขอบใบเรียบหลังใบเป็นมัน ใบโตเต็มที่มีความกว้างประมาณ 13 ถึง 16 เซนติเมตร ยาวประมาณ 25 ถึง 30 เซนติเมตร

ดอก มีสีแดงเข้ม ออกดอกประมาณเดือนเมษายน-มิถุนายน

ผล แก่เก็บได้ประมาณเดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม พร้อมกับชมพู่สาแหรก ลักษณะผลเป็นรูปทรงกลมยาว ด้านปลายผลโป่งออกและมีขนาดโตกว่าด้านขั้วผลเล็กน้อย สีผลภายนอกเมื่อสุกมีสีพื้นเป็นสีแดงและสีผิวเป็นสีม่วง มองดูเป็นสีเลือดหมู ลักษณะของสีอ่อนและเข้มไม่สม่ำเสมอกันตามความยาวของผล เนื้อในสีขาวอมแดงรสหวานอมเปรี้ยว คล้ายแอปเปิล เนื้อผลฟูนุ่มปนความกรอบเล็กน้อย ฉ่ำน้ำลักษณะเมล็ดค่อนข้างกลม ในแต่ละผลจะมีเมล็ดผลละ 1 เมล็ดทุกผล และมีน้ำหนักค่อนข้างมากหรือหนักกว่าเมื่อเทียบกับน้ำหนักของเมล็ดชมพู่ชนิดอื่นๆ

Eugenia javanica Lamk. หรือ Syzygium samarangense ได้แก่

  • ชมพู่แก้มแหม่ม
  • ชมพู่พลาสติก
  • ชมพู่กะหลาป๋า
  • ชมพู่เพชรบุรี
  • ชมพู่ทูลเกล้า
  • ชมพู่ทับทิมจันท์
  • ชมพู่อื่น ที่บ้านเรานิยมรับประทาน

 

 

 

 

 

 

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

  • ชมพู่แก้มแหม่ม ผลเล็กรูปทรงระฆังแป้น ผลมีสีชมพูอมขาว กลีบดอกมีสีขาวอมเขียว รสหวานน้อย แต่มีกลิ่นหอมคล้ายดอกกุหลาบ เนื้อผลมีสีขาว เนื้ออ่อนนุ่ม มีไส้ด้านในเป็นปุย ไม่ค่อยมีเมล็ด
  • ชมพู่กะหลาป๋า ผลมีสีเขียวอ่อน เนื้อสีขาวแกมเขียวอ่อน เนื้อบาง รสหวานจัดกว่าพันธุ์อื่นๆ ไม่มีเมล็ด
  • ชมพู่กะลาเปา ผลมีสีเขียวแกมเหลือง เนื้อสีเขียวอ่อน แข็งและกรอบ มีไส้เป็นปุย รสหวานพอประมาณ ใน 1 ผลจะมีเมล็ดประมาณ 1 ถึง 5 เมล็ด
  • ชมพู่สีนาก ลำต้นมีทรงต้นเตี้ย มีดอกสีขาวปนเขียวอ่อน ผลสีแดงปนเขียว เนื้อสีเขียวอ่อน แข็งกรอบ รสหวาน มีไส้เป็นปุย ใน 1 ผลจะมีเมล็ดประมาณ 1 ถึง 3 เมล็ด
  • ชมพู่เพชร เป็นชมพู่ที่อยู่ในชนิดเดียวกันกับชมพู่แก้มแหม่ม ชมพู่กะหลาป๋า ชมพู่กะลาเปา และชมพู่สีนาก ลักษณะโดยทั่วไปจะคล้ายกับชมพูพันธุ์อื่นที่กล่าวมาในตระกูลเดียวกัน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นชมพู่พันธุ์ผสม ระหว่างชมพู่แดงกับชมพู่กะหลาป๋า เพราะผลมีสีเขียว เนื้อแข็งกรอบเหมือนกับชมพู่กะหลาป๋า ส่วนตรงกลางผลมีลักษณะพองออกเล็กน้อย และผลแก่จะมีเส้นเล็กๆสีแดงเด่นชัด

ลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ทางพฤกษศาสตร์ของชมพู่ตระกูลนี้ คือ
ลำต้น โครงสร้างโดยทั่วไป มีกิ่งที่แตกออกจากลำต้นเป็นกิ่งใหญ่ หรือมีลำต้นมากกว่า 1 ต้น รูปทรงของต้นไม่ค่อยแน่นอนและต้นไม่ตั้งตรงมักคดไปมา ภายในทรงพุ่มมีกิ่งเล็กๆน้อยมากหรือไม่มีเลย ผิวเปลือกของลำต้นและกิ่งจะหยาบและขรุขระ กิ่งอ่อนมีสีน้ำตาลอมแดงคล้ำ กิ่งแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มหรือน้ำตาลอมเทา ทรงพุ่มแน่น มีความสูงประมาณ 15 ถึง 20 เมตร

ใบ ลักษณะเป็นรูปโล่ห์หรือรูปโล่ห์ค่อนข้างยาว ฐานใบเป็นรูปคล้ายหัวใจ ไม่ลึก ปลายใบมน เส้นใบเป็นรูปก้างปลา หน้าใบมีสีเขียวเข้มหรือสีเขียวอมฟ้า ด้านท้องใบเมื่ออ่อนมีสีม่วงเข้มหรือชมพู เมื่อแก่มีสีเขียวอมเหลือง ขนาดของใบกว้างประมาณ 3 ถึง 5 นิ้ว ยาวประมาณ 5 ถึง 10 นิ้ว ก้านใบสั้นและหนา สีเขียวอมเหลืองหรือเจือสีม่วง

ดอก ค่อนข้างใหญ่เกิดเป็นช่อ ยาวประมาณ 5 ถึง 15 เซนติเมตร อาจเกิดเป็นดอกเดี่ยวหรือแตกสาขาก็ได้ ดอกเมื่อบานจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 ถึง 4 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม

ผล รูปทรงคล้ายระฆัง (bell-shaped) ห้อยหัวลง ขั้วผลเรียวมน ขนาดประมาณ 5×6 เซนติเมตร ผิวของผลเป็นมันวาว มีสีเขียว ขาว แกมแดงแล้วแต่ชนิด เนื้อฉ่ำน้ำ สีขาว มีกลิ่นหอม มีไส้คล้ายสำลี รสหวานอมเปรี้ยวถึงหวานจัด เมล็ดมีลักษณะกลมในหนึ่งผลมีเมล็ด 1 ถึง 5 เมล็ด หากผลใดมี 2 เมล็ด ลักษณะเมล็ดจะเป็นรูปครึ่งวงกลมประกบกัน ในผลที่มีเมล็ดมากกว่า 2 เมล็ด แต่ละเมล็ดจะมีรูปร่างต่างกัน แต่จะรวมกันอยู่ในลักษณะค่อนข้างกลมคล้ายเมล็ดเดียว

Eugenia jambos L. หรือ Syzygium jambos ชมพู่ในตระกูลนี้มีอยู่เพียง 1 ชนิด ได้แก่

  • ชมพู่น้ำดอกไม้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น เดี่ยวทรงสูงตั้งตรง ผิวเปลือกลำต้นเรียบไม่มีรอยขรุขระ กิ่งก้านแตกออกมากพอสมควร กิ่งที่แตกออกบริเวณส่วนโคนต้นจะแผ่ออกเป็นทรงพุ่มกว้าง และเป็นพุ่มเรียวแหลมในส่วนปลาย ขนาดของทรงพุ่มจะมีความสูงประมาณ 6 ถึง 10 เมตร ต้นมีอายุยืนนาน 30 ถึง 40 ปี

ใบ เป็นรูปหอก ปลายใบแหลมค่อนข้างยาว ขนาดของใบกว้างประมาณ 3 ถึง 5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15 ถึง 20 เซนติเมตร ใบหนาเป็นมัน ขอบใบเรียบ และก้านใบสั้น

ดอก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7 เซนติเมตร มีสีขาว ส่วนก้านเกสรตัวเมียตอนปลายจะเป็นสีเขียวอ่อน และส่วนโคนจะเป็นสีเหลืองอ่อนยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกประมาณเดือนเมษายน ถึง เดือนมิถุนายน และเก็บผลแก่ได้ประมาณเดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม

ผล และรูปร่างของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น ส่วนของปลายผล และขั้วผลจะแบน สีของผลภายนอกเมื่อสุก มีสีพื้นเป็นสีขาว และสีผิวเป็นสีเขียวอ่อน เนื้อสีขาว อ่อนบาง และกรอบ รสหวาน มีกลิ่นหอม เมล็ดเป็นสีน้ำตาลมีจำนวน 1 ถึง 4 เมล็ดต่อผล เป็นเมล็ดแบบ polyembryonic seed คือ เมล็ดหนึ่งสามารถงอกเป็นต้นอ่อนได้มากกว่า 1 ต้น ในผลที่มีเมล็ดเดียวเมล็ดจะมีลักษณะกลม ผลที่มี 2 เมล็ด เมล็ดจะเป็นรูปครึ่งวงกลม และในผลที่มีมากกว่า 2 เมล็ด เมล็ดจะมีลักษณะต่างๆ กัน แต่จะรวมกันอยู่ในลักษณะเป็นเมล็ดกลมดูคล้ายกับเป็นเมล็ดเดียว

สรรพคุณของชมพู่

  • เป็นยาลดน้ำหนักธรรมชาติ ช่วยควบคุมน้ำหนักได้ดีมาก ด้วยความฉ่ำน้ำทำให้รู้สึกอิ่มท้องเร็ว มีแคลอรีต่ำมาก
  • ช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น มีใยอาหารที่ละลายน้ำได้และละลายน้ำไม่ได้ จึงทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างสมดุล
  • ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ จากการวิจัยพบว่าการกินชมพู่สดเป็นประจำยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ช่วยลดความเสี่ยงโรคเกี่ยวกับหัวใจ ทำให้หัวใจแข็งแรง
  • ช่วยในการฟื้นฟูร่างกายจากอาการไข้และรักษาโรคหวัด เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
  • ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระด้วยไลโคพีน (Lycopiene) คือรงควัตถุสีแดงที่มีอยู่ในชมพู่ ซึ่งมีอยู่ในผลไม้ไม่กี่ชนิดเท่านั้น
  • ช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ยับยั้งการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหารได้
  • ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันโรคเกี่ยวกับสายตาได้ดี และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสายตาให้ดีขึ้น
  • ลดไข้ (ใบ)
  • แก้ท้องเสียได้ (เมล็ด)
  • บำรุงผิวพรรณ ช่วยในการสร้างคอลลาเจนที่มีความสำคัญต่อการดูแลผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณกระชับเต่งตึง
  • ช่วยรักษาบาดแผลตามร่างกาย
  • ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและฟัน โดยไม่จำเป็นต้องใช้อาหารเสริมมาเป็นตัวช่วย
  • ช่วยบำรุงกำลัง ทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย โดยเฉพาะช่วยบำรุงหัวใจได้มาก และเหมาะจะเป็นของเยี่ยมคนป่วย
  • ช่วยเพิ่มความสดชื่น เพราะเนื้อชมพู่สดมีน้ำค่อนข้างมาก และแก้กระหายน้ำได้ดี

คุณค่าทางโภชนาการของชมพู่
โปรตีน ไขมัน(น้อยมาก) คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินบี 1 วิตามินซี และวิตามินเอ

ไปติดตามบทความ การปลูกชมพู่ เพื่อรู้จักสิ่งดีๆ เกี่ยวกับชมพู่กันให้มากขึ้น และได้ประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติมกันนะคะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : www.sukkaphap-d.com, หนังสือ คู่มือการทำสวน ชมพู่ อย่างมืออาชีพ สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ สุพจน์ ตั้งจตุพร, www.puechkaset.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *