พริก
พริก เป็นพืชที่นับว่าเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทย และอยู่คู่คนไทยมาช้านาน เป็นส่วนประกอบอาหารสารพัดเมนู ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผลสด หรือปรุงสุก ต้มยำ แกง ผัด ยำ อาหารแห้ง เครื่องปรุงรส อาหารแปรรูป ส่วนผสมอาหารเสริม ส่วนผสมทางยา และไม้ประดับ
รู้หรือไม่ว่า พริก ให้คุณค่าทางอาหารอะไรบ้าง?
พริกมีคุณค่าทางอาหารหลากหลายชนิดนะคะ อย่าคิดว่า พริกให้เพียงรสชาติความเผ็ดเพียงอย่างเดียว แต่คุณค่าทางอาหารของพริก มีทั้ง โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต เส้นใย แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามิน เอ วิตามิน บี 1 วิตามิน บี 2 วิตามิน ซี และไนอาซีน
ข้อดีของการปลูกพริก
- ปลูกไว้ใช้ประโยชน์ในครัวเรือน—เพื่อรับประทานทั้งแบบสดและแบบแห้งได้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย หรือหากได้ผลผลิตดี ยังสามารถจำหน่ายสร้างรายได้เสริมได้อีกด้วย
- ปลูกเพื่อการค้า—พริกนั้น นอกจากปลูกได้ทั้งปี ยังให้ผลผลิตได้ทั้งปี และถ้าจะให้ดี เกษตรกรควรคำนวณช่วงเวลาการให้ผลผลิต และวางแผนการจำหน่ายให้ตรงกับช่วงเดือนที่มีราคาแพง คือ เดือนพฤษภาคม ถึง เดือนกรกฎาคม ของทุกปี พริกจะมีราคาแพงที่สุด อย่าพลาดติดตามข้อมูล “เทคนิคการปลูกพริกให้ได้ผลผลิตช่วงราคาแพง“ นะคะ
แต่ก่อนไปเรียนรู้วิธีการปลูก และเทคนิคต่างๆ ผู้เขียนขอแนะนำให้ผู้ปลูกมือใหม่ได้รู้จักกับพริกกันมากขึ้น…..
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพริก
พริกเป็นทั้งพืชล้มลุก ไม้พุ่ม และไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับ มะเขือเทศ มะเขือพวง มันฝรั่ง และยาสูบ เป็นพืชผสมตัวเอง แต่การปลูกพริกหลายสายพันธุ์ในพื้นที่เดียวกันหรือใกล้เคียงกันนั้น อาจเกิดการผสมข้ามพันธุ์ตามธรรมชาติได้ด้วยแมลง 1 – 46 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้เกิดความแปรปรวนของ ต้น ดอก ผล รูปร่าง สี และรสชาติ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์โดยรวมของ พริก มีดังนี้
- ราก พริกมีรากแก้วหยั่งลึกลงในดินตั้งแต่ 50 ถึง 150 เซนติเมตร มีรากแขนงและรากฝอยแผ่กระจายประมาณ 100 ถึง 150 เซนติเมตร
- ลำต้นและกิ่ง เป็นไม้พุ่มล้มลุก ซึ่งขนาดของทรงพุ่มจะแตกต่างกันตามชนิดของสายพันธุ์ ลำต้นตั้งตรง มีความสูงตั้งแต่ 30 ถึง 75 เซนติเมตร ลำต้นและกิ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะ หักง่าย มีสีเขียวปนสีน้ำตาล หรือสีเขียวปนสีม่วง
- ใบ เป็นใบเลี้ยงคู่ และใบเดี่ยว อยู่ตามข้อของกิ่ง ใบแบนเรียบ เป็นมัน ไม่มีขนหรือมีขนบ้างเล็กน้อย ใบเป็นรูปไข่ หรือรูปสามเหลี่ยมคล้ายหอก แตกต่างกันตามสายพันธุ์ ขอบใบเรียบ และมีขนาดต่างกันตามสายพันธุ์เช่นกัน ตั้งแต่ 2 ถึง 10 เซนติเมตร
- ดอก โดยส่วนใหญ่มักมีสีขาว มักเป็นดอกเดี่ยวมีรูปทรงวงล้อ และรูประฆัง แตกต่างกันตามสายพันธุ์ เกสรมีทั้งตัวผู้และตัวเมียในดอกเดียวกัน ซึ่งสามารถผสมตัวเองหรือผสมข้ามดอกได้ ถ้ามีอุณหภูมิสูงและความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ จะทำให้ดอกร่วงและไม่ติดผล
- ผล เกิดตามข้อ มีแบบผลเดี่ยวและผลกลุ่ม เช่น พริกชี้ฟ้า พริกแต่ละสายพันธุ์จะมีลักษณะรูปร่างผลแตกต่างกัน เช่น เรียวยาว ค่อนข้างกลม รูประฆัง และรูปสี่เหลี่ยม ส่วนความหนาของผนังผลและขนาดผลก็แตกต่างกันตามสายพันธุ์ด้วยเช่นกัน สีของพริก ผลอ่อนจะมีหลายสี เช่น สีเหลืองอ่อน สีเขียวอ่อน สีเขียวเข้ม สีเหลือง สีส้ม และสีม่วง ผลสุกจะมีสีแดง สีส้มเหลือง สีน้ำตาล และสีม่วง ผลมีชนิดชี้ขึ้น และชี้ลง มีระดับความเผ็ดที่ต่างกัน
- เมล็ด มีเมล็ดเกาะเรียงตัวอยู่แกนกลางของผล หรือรก มีรูปร่างกลมแบน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 ถึง 5 มิลลิเมตร จำนวน 50 ถึง 250 เมล็ด ต่อผล อายุของเมล็ดพริกนั้น มีอยู่ได้นานถึง 24 ปี ขึ้นอยู่กับการเก็บรักษาและสายพันธุ์
สายพันธุ์พริก
ในประเทศไทย มีพริกอยู่หลายสายพันธุ์ ซึ่งถูกจำแนกตาม ขนาดผล ความเผ็ด และลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ถ้าผู้อ่านจะปลูกไว้รับประทานเอง คงเลือกตามความชอบส่วนบุคคล แต่ถ้าเป็นเกษตรกรที่ต้องการปลูกเพื่อจำหน่าย ควรพิจารณาตามความต้องการของตลาด และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกพริก นอกจากนี้ พริก ยังสามารถปลูกแซมระหว่างไม้ยืนต้น เพื่อเป็นรายได้เสริมได้อีก เช่น การปลูกพริกแซมระหว่างต้น กล้วย เป็นต้น
สายพันธุ์พริกจำแนกตามขนาดผล
ได้แก่ กลุ่มพริกผลใหญ่ และกลุ่มพริกผลเล็ก
1. กลุ่มพริกผลใหญ่
-พริกชี้ฟ้า, พริกมัน, พริกหนุ่ม, และพริกเหลือง ขนาดผล มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ถึง 3 เซนติเมตร มีรูปร่างหลายแบบ ส่วนใหญ่ผลเรียวยาว ปลายผลแหลม สีผลอ่อน มีทั้งสีเขียวอ่อน และสีเขียวเข้ม ผลสุก มีสีเหลือง สีส้ม หรือสีแดง ตามแต่ละสายพันธุ์ ผิวผลมัน อาจเรียบหรือย่น รสชาติค่อนข้างเผ็ด พริกชี้ฟ้าและพริกมัน นิยมใช้ผลสดทั้งสีเขียวและสีแดงในการประกอบอาหาร และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร พริกเหลืองนิยมนำมาทำเครื่องปรุง ประกอบอาหารหรือพริกน้ำส้ม ส่วนพริกหนุ่มนิยมใช้ทำน้ำพริก
-พริกหยวก ผลยาว 4 ถึง 20 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 1 ถึง 4 เซนติเมตร ผลยาว รูปทรงกรวยแหลม ตรง ผิวมันเรียบ เนื้อผลหนา ผลอ่อนมีสีตั้งแต่สีเหลืองอ่อน สีเหลือง และสีเขียวอ่อน เมื่อผลสุกมีสีแดง รสชาติเผ็ดน้อย ใช้ประกอบอาหาร
-พริกหวาน หรือพริกยักษ์ ผลยาว 5 ถึง 20 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 5 ถึง 12 เซนติเมตร ผลมีรูปร่างเป็นทรงกระบอก ผิวผลมัน ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง สีส้ม สีแดง สีน้ำตาล และสีม่วง เนื้อผลหนา รสชาติไม่เผ็ด
2. กลุ่มพริกผลเล็ก
ได้แก่ พริกขี้หนู ซึ่ง แบ่งย่อยออกเป็น พริกขี้หนูผลใหญ่ พริกขี้หนูสวน และพริกขี้หนูไร่
-พริกขี้หนูผลใหญ่ มีความยาวตั้งแต่ 3 ถีง 12 เซนติเมตร ผลเรียวปลายแหลม ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อนจนถึงเข้ม ผลสุกมีสีแดงสด รสชาติเผ็ด เช่น พันธุ์ยอดสน หัวเรือ จินดา ห้วยสีทน และซุปเปอร์ฮอท
-พริกขี้หนูผลเล็ก มีความยาวผลน้อยกว่า 3 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อนจนถึงเข้า ผลสุกสีแดง เช่น พริกขี้หนูสวน และพริกกะเหรี่ยง เป็นต้น
-พริกขี้หนูสวน ถูกแบ่งเป็นกลุ่มแยกออกมาจากพริกขี้หนูผลเล็ก เมื่อแบ่งตามลักษณะการปลูก คือ เป็นพริกที่ปลูกตามสวน ในปริมาณที่น้อย มีอายุอยู่ได้มากกว่า 1 ปี ลำต้นเป็นทรงพุ่มเล็ก ผลมีความยาวประมาณ 1 ถึง 1.5 เซนติเมตร
-พริกขี้หนูไร่ เป็นพริกที่ปลูกในไร่ ในปริมาณมาก มีอายุมากกว่า 1 ปี เช่นเดียวกันกับพริกขี้หนูสวน ลำต้นใหญ่และสูงกว่าพริกขี้หนูสวน แต่ใบเล็กกวาพริกขี้หนูสวน ลำต้นแข็ง ผลยาวประมาณ 2 เซนติเมตร
สายพันธุ์พริกจำแนกตามระดับความเผ็ด
พริกมีสารที่ให้ความเผ็ด คือ สารแคปไซซิน พริกมีความเผ็ดร้อยละ 1 จัดเป็นพริกที่มีความเผ็ดมากที่ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือมีค่าเท่ากับ 175000 สโควิลล์ (เป็นหน่วยของสารแคปไซซิน) แบ่งเป็น 3 ระดับ
- พริกเผ็ดมาก มีความเผ็ดอยู่ระหว่าง 70000 ถึง 175000 สโควิลล์ มักพบในพริกขนาดเล็ก นิยมนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย เช่น พันธุ์ตาบาสโก
- พริกเผ็ดปานกลาง มีความเผ็ดระหว่าง 35000 ถึง 70000 สโควิลล์ นิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า พริกจินดา พริกหัวเรือ พริกสีทน และพริกช่อ มข. เป็นต้น
- พริกเผ็ดน้อยหรือไม่เผ็ด มีความเผ็ดเพียง 0 ถึง 35000 สโควิลล์ มักมีผลขนาดใหญ่ เนื้อผลหนา ผลกลมสั้น นิยมนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย เช่น พริกหยวก และพริกหวาน เป็นต้น
สายพันธุ์พริกจำแนกตามลักษณะทางพฤกษศาสตร์
จำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้ดังนี้
- กลุ่มCapsicum annuum L. (แคพซิคั่ม แอนนั่ม แอล.) แหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศเม็กซิโก ปัจจุบัน เป็นกลุ่มพริกที่นิยมปลูกกันมากที่สุด ต้นมีขนค่อนข้างมาก ดอกเรียวยาว มีดอกสีขาวหรือสีขาวนวล ผลแก่จะมีสีแดง สีเหลือง หรือสีน้ำตาล มีทั้งรสชาติเผ็ดและไม่เผ็ด ได้แก่ พริกชี้ฟ้า พริกชี้ฟ้าใหญ่ พริกจินดา พริกแฟนซี พริกกะเหรี่ยง พริกขี้นก พริกก้นชี้ พริกหวาน พริกยักษ์ พริกหยวก พริกมัน พริกเดือยไก่ พริกนิ้วนาง พริกขาว และพริกขี้หนูดง
- กลุ่มCapsicum frutescens L. (แคพซิคั่ม ฟรุทเซ้นส์ แอล) มีแหล่งกำเนิดแถบทวีปอเมริกาใต้ นิยมปลูกในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ต้นมีขนเล็กน้อย ดอกเรียวยาว มีสีเหลืองอมเขียวหรือสีขาวอมเขียว ผลแก่มีสีแดง สีเหลือง หรือสีน้ำตาล มีรสชาติเผ็ดถึงเผ็ดจัด ได้แก่ พริกชี้ฟ้า พริกเกษตร และพริกขาว
- กลุ่มCapsicum chinenense Jacq. (แคพซิคั่ม ไชน์เน้นซ์ แจ๊ค.) มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มที่ 2 แต่ก้านดอกสั้นกว่า หนากว่า และโน้มลง ได้แก่ พริกขี้หนู พริกเล็บมือนาง พริกขี้หนูหอม พริกสวน และพริกใหญ่
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
อย่าพลาดติดตามบทความ แมลงศัตรูพริก และ บทความ เพิ่มรายได้ ด้วย พริกปลอดสาร นะคะ
(แหล่งข้อมูล : หนังสือ วางแผน…การปลูกสารพัดพริกช่วงแพง สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสะอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)