การปลูกหม่อน
การปลูกหม่อน ในปัจจุบันนี้ ใช่ว่าจะปลูกเพื่อเลี้ยงไหมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีจุดประสงค์เพื่อจำหน่ายในรูปแบบผลสด ใบชา การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูป หรือเพื่อประโยชน์ทางยา การปลูกหม่อน กลายเป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้ในรั้วบ้าน และเป็นเกษตรกรรมทางเลือกใหม่ ที่ทำรายได้ให้เกษตรกรอย่างเป็นกอบเป็นกำทีเดียว ในบทความ หม่อน ผู้เขียนได้เกริ่นไว้ว่า การปลูกหม่อน การดูแลหม่อนนั้นง่ายและไม่ยุ่งยาก แต่ต้องดูแลอย่างถูกวิธี เพราะฉะนั้น เราต้องศึกษาความต้องการของหม่อนให้ดีเสียก่อน ที่จะนำหม่อนมาปลูกนะคะ เริ่มต้นที่…สายพันธุ์
สายพันธุ์หม่อน ที่นิยมปลูกในประเทศไทย
- พันธุ์เชียงใหม่ 60 ให้ผลผลิตสูง คุณภาพดี เหมาะสำหรับรับประทานสดและแปรรูปทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม
- พันธุ์นครราชสีมา 60 ให้ผลผลิตสูง นิยมใช้คุณภาพของใบกับการเลี้ยงไหม และทำใบชา ใบเป็นรูปไข่ สีเขียว มีความนุ่ม ลำต้นมีสีเทา
- พันธุ์บุรีรัมย์ 60 นิยมปลูกเพื่อรับประทานผลสดและทำใบชา ซึ่งหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 นี้ให้ผลผลิตใบหม่อน เฉลี่ย 4,300 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี ใบใหญ่ หนานุ่ม ไม่เหี่ยวง่าย มีคุณค่าทางอาหารสูง มีความต้านทานต่อโรคใบด่าง ต้านทานโรคราแป้งได้ปานกลาง แต่ไม่แข็งแรงพอที่จะต้านทานโรคราสนิม ขยายพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์ปลูกในแปลงโดยตรง ควรปลูกในเขตชลประทาน หรือเขตที่มีปริมาณน้ำฝนสูง
- พันธุ์ศรีสะเกษ 33 ให้ผลผลิตสูงและ เหมาะต่อการเลี้ยงไหมเป็นอย่างดี ต้านทานต่อโรคใบด่างได้ดี มีผลผลิตใบหม่อนไม่แตกต่างจากพันธุ์บุรีรัมย์ 60 และนครราชสีมา 60 แต่มีปริมาณโปรตีนในใบหม่อนโดยเฉลี่ยสูงกว่าพันธุ์บุรีรัมย์ 60 และนครราชสีมา 60 มีอายุการเก็บเกี่ยวได้นาน ข้อจำกัดของสายพันธุ์นี้คือ ท่อนพันธุ์ออกรากยาก ในการขยายพันธุ์ด้วยท่อนพันธุ์จึงต้องใช้สารกระตุ้นการงอกของราก
- พันธุ์สกลนคร ทนทานต่อสภาวะแห้งแล้งได้ดีกว่าพันธุ์บุรีรัมย์ 60 ปลูกได้ในทุกสภาพพื้นที่ มีความต้านทานโรครากเน่า ขยายพันธุ์ง่าย สามารถใช้ท่อนพันธุ์ปลูกในแปลงได้โดยตรงหรือปักชำก่อนปลูก และให้ผลผลิตใบหม่อนเฉลี่ย 3,507 กิโลกรัม ต่อไร่
- พันธุ์หม่อนน้อย เป็นหม่อนพันธุ์พื้นเมือง ให้ผลผลิตดี ใบมีคุณภาพและปริมาณธาตุอาหารสูง ใบมีความหนานุ่ม มีความมัน ไม่เหี่ยวง่าย ใช้เลี้ยงไหมได้นาน ซึ่งเหมาะใช้เลี้ยงไหมมากที่สุด ขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยการปักชำท่อนพันธุ์ในแปลงโดยตรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถเจริญเติบโตได้ดีไม่ว่าดินจะมีความอุดมสมบูรณ์มากหรือน้อยก็ตาม
- พันธุ์คุณไพ ทนแล้ง ปลูกได้ในทุกสภาพพื้นที่ ทนทานโรครากเน่า และตอบสนองต่อปุ๋ยสูง ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำหรือปลูกด้วยท่อนพันธุ์อายุ 6-10 เดือนในแปลงโดยตรง
ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงก่อนการปลูก
สภาพพื้นที่ที่เหมาะสม
โดยปกติแล้ว หม่อน เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่การปลูกหม่อนเพื่อจำหน่ายหรือรับประทานผลสดนั้น ต้องคำนึงถึง พื้นที่ที่จะทำการเพาะปลูกดังนี้
- เป็นพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง มีการระบายน้ำได้ดี และมีหน้าดินลึก
- ดินมีค่า pH อยู่ในระหว่าง 6.0 – 6.5
- เป็นพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดโรครากเน่าของหม่อน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องแก้ไขโดยการใช้ต้นพันธุ์ที่มีความทนทานต่อโรครากเน่า
- อยู่ใกล้แหล่งน้ำ หรือมีแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน ที่หม่อนกำลังติดดอกออกผล และเก็บเกี่ยวผล เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผลผลิต
- มีการคมนาคมที่สะดวกต่อการขนส่งผลผลิต
- อยู่ใกล้ผู้รับซื้อผลผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากระยะทางการขนส่ง เนื่องจากผลหม่อนเป็นผลไม้ที่เสียหายได้ง่าย
ฤดูกาลที่เหมาะสมสำหรับการปลูกหม่อน
ต้นฤดูฝนปลายเดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม หรือตามสภาพของฝนในแต่ละท้องถิ่น เนื่องจากดินมีความชุ่มชื้นดี หม่อนจะตั้งตัวได้เร็วและการเจริญเติบโตดี รากแข็งแรงแผ่กระจายได้ลึก เมื่อถึงฤดูแล้งของปีต่อไป หม่อนจะไม่ตาย
ขั้นตอนการปลูกหม่อน
การเตรียมดิน
- ไถพลิกดิน ตากแดดไว้ประมาณ 2 ถึง 3 วัน เพื่อกำจัดแมลงศัตรู เชื้อโรคต่างๆ ที่อยู่ในดิน และวัชพืช
- ไถพรวน ให้ดินร่วนซุยเหมาะแก่การเจริญเติบโต
- ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ประมาณ 1,200 กิโลกรัม ต่อไร่ แล้วไถกลบให้เข้ากันกับดิน
- ควรกั้นรั้วเพื่อป้องกันสัตว์ต่างๆ เข้ามาทำลายแปลงหม่อน เช่น โค กระบือ ฯลฯ
การเตรียมหลุมปลูก
มี 2 วิธี คือ
- การขุดหลุมลึก 50 เซนติเมตร กว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยเศษหญ้า ฟางแห้งหรือซังข้าวโพด ผสมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก จากนั้นกลบดิน 1 ชั้นก่อนทำการปลูกหม่อน
- ขุดหลุมเป็นร่องยาวตามแปลงปลูก กว้างและลึก 50 เซนติเมตร ความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่หรือแปลงปลูกหม่อน รองก้นหลุมด้วยเศษหญ้า ฟางข้าว ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก แล้วใช้ดินที่ขุดไว้กลบ แล้วนำท่อนพันธุ์ปักตามระยะที่กำหนด
***ระยะปลูก สามารถปรับลดลงได้ ถ้าดินในพื้นที่เพาะปลูกมีความอุดมสมบูรณ์น้อย หรือเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านมาก***
การขยายพันธุ์
- นำท่อนพันธุ์ไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้โดยตรง
- นำท่อนพันธุ์ไปปักชำในแปลงเพาะชำก่อน แล้วจึงย้ายไปปลูกต่อไป
การเตรียมท่อนพันธุ์
การขยายพันธุ์หม่อน ไม่ว่าด้วยวิธีปักชำ หรือนำท่อนพันธุ์ไปปลูกในแปลงโดยตรงก็ตาม มีขั้นตอนการเตรียมท่อนพันธุ์ด้วยวิธีเดียวกัน ดังนี้
- เลือกกิ่งจากต้นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพใบดี นำมาเป็นท่อนพันธุ์
- ท่อนพันธุ์ควรมีอายุอยู่ในช่วง 4 ถึง 12 เดือน กิ่งควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ถึง 1.5 เซนติเมตร มีผิวเปลือกเป็นสีน้ำตาลมีตาที่สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลงศัตรูพืช เช่น โรครากเน่า และโรคใบด่าง กิ่งที่แข็งแรงจะอาหารสะสมที่เพียงพอ จะช่วยให้การแตกรากและกิ่งก้านเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและแข็งแรง
- ใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่งหรือมีมีดที่คมตัดท่อนพันธุ์ ระวังอย่าให้ท่อนพันธุ์ ฉีกและช้ำ ขนาดความยาวท่อนละประมาณ 20 เซนติเมตร หรือมีตาหม่อนอยู่บนท่อนพันธุ์ประมาณ 4 ถึง 5 ตา ตัดส่วนบนของท่อนพันธุ์เป็นแนวตรง (เพื่อลดการคายน้ำ)ห่างจากตาบนสุดประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนโคนของท่อนพันธุ์ตัดเป็นแนวเฉียงหรือเป็นรูปปากฉลามประมาณ 45 องศา ต่ำกว่าข้อตาล่างสุดประมาณ 1.5 เซนติเมตร
- นำไปปลูกหรือปักชำทันที ถ้าหากไม่สามารถนำไปปลูกหรือปักชำได้ทันทีให้เอาท่อนพันธุ์เก็บไว้ในร่ม ใช้แกลบเผาหรือขี้เลื่อยหรือกระสอบคลุมไว้ แล้วรดน้ำให้ชุ่มวันละครั้ง จะสามารถเก็บท่อนพันธุ์ไว้ได้นาน 2 สัปดาห์ในหน้าฝน หรือ 1 สัปดาห์ในหน้าแล้งเพื่อไม่ให้ตาเหี่ยว
การปักชำ
ใช้วิธีการปักชำแบบเดียวกับพืชทั่วไป โดยการเสียบกิ่งลงดินลึกประมาณ 7 ถึง 10 เซนติเมตร ให้ตายอดตั้งขึ้น ในแนวเฉียงประมาณ 40 ถึง 50 องศา ระยะห่างการปักชำในแปลงประมาณ 1.5 ถึง 2 เมตร แล้วรดน้ำหรือหากปักชำในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม ไม่ต้องรดน้ำหลังปักชำก็ได้ เพราะกิ่งจะอาศัยน้ำฝนเติบโตได้เองตามธรรมชาติ
วิธีปลูก
- นำท่อนพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูกในแปลงโดยตรง ใช้หลักไม้ปักตามแนวที่ต้องการ นำเชือกที่ได้ทำเครื่องหมายกะระยะระหว่างต้นไว้เรียบร้อยแล้ว ขึงให้ตึงระหว่างหลักทั้งสอง แล้วให้นำท่อนพันธุ์หม่อนซึ่งเตรียมไว้ปลูกหลุมละ 2 ท่อน ปลูกโดยปักท่อนพันธุ์ตั้งฉากกับพื้นดิน โดยปักลงในหลุมที่เตรียมไว้ ในฤดูแล้งหรือในดินที่มีความชื้นในดินลึก ปักท่อนพันธุ์ลึกลงในดิน 3 ใน 4 ส่วนของความยาวท่อนพันธุ์ หรือมีตาอยู่เหนือพื้นดิน ประมาณ 1 ตา ในฤดูฝน ให้ปักท่อนพันธุ์ลึก 1 ใน 2 ของความยาวท่อนพันธุ์ โดยให้มีตาเหนือพื้นดินประมาณ 3 ตา
- การปลูกโดย นำท่อนพันธุ์หม่อนที่ปักชำไว้ในแปลงเพาะชำนำมาปลูกในแปลงหรือหลุมที่เตรียมไว้ ในการปลูกควรขุดหลุมปลูก ปลูกให้ท่อนพันธุ์เดิมจมลงไปในดินโผล่ขึ้นมาเฉพาะกิ่งแขนงใหม่เท่านั้น หลังจากปลูกแล้วเหยียบดินรอบโคนต้นให้แน่นพอควร
ไม่ยากอย่างที่คิดนะคะ สำหรับการปลูกหม่อน เมื่อทำการปลูกหม่อนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการดูแล ติดตามได้ในบทความ “การดูแลหม่อน หลังการปลูก“ ค่ะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.srscorporation.net, www.qsds.go.th, www.puechkaset.com, www.gotoknow.org, www.rakbankerd.com)