การแก้ไขปัญหาการปลูกเมล่อน
การป้องกันและแก้ไขปัญหาในการปลูกเมล่อน เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลเมล่อน หลังการปลูก ซึ่งไม่ได้มีเพียงการป้องกันและแก้ไขเรื่องโรคและแมลงศัตรูเมล่อนเท่านั้น ปัญหาในการปลูกเมล่อน ยังมีอีกหลายเรื่องที่ควรป้องกันไว้ตั้งแต่เริ่มต้นปลูก หากป้องกันแล้วยังเกิดปัญหา ควรรีบแก้ไขในทันทีเพื่อป้องกันการลุกลาม และความเสียหายขั้นรุนแรง
ปัญหาในการปลูกเมล่อน
โรคเมล่อน และแมลงศัตรูของเมล่อน
โรคเหี่ยวจากเชื้อรา
เชื้อเข้ามาทางราก ทำให้ใบเหี่ยว จะเริ่มเหี่ยวจากส่วนยอดไล่ลงมา และเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ต้นจะแตก สังเกตเห็นเชื้อราได้ เมื่อโคนและซอกใบเริ่มเน่า ต้นเมล่อนจะเริ่มตาย
วิธีป้องกันและแก้ไข
- ป้องกันไม่ให้เกิดโรค หรือป้องกันการเกิดซ้ำ ด้วยการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ราดที่โคนต้น 15วัน ก่อนปลูก และหลังปลูกกล้า ได้ 60 วัน
- ถอนต้นที่เป็นโรคไปเผาทิ้ง
ปรับสภาพดิน โดยดินที่เหมาะกับเมล่อนจะอยู่ที่ pH 6-7
ลดความรุนแรง โดยใส่ ไนโตรเจน หรือปุ๋ยไนเตรท หรือใส่ทั้ง2
โรคราน้ำค้าง
ระยะแรกของโรคเริ่มที่ใบล่างลามขึ้นไป จะเกิดจุดเล็กๆ สีน้ำตาลหรือสีเหลือง แล้วขยายใหญ่เป็นรูปเหลี่ยมอยู่ระหว่างเส้นใบ เกิดเส้นเชื้อราสีขาวหรือสีเทาใต้ใบในช่วงเช้ามืด ขอบใบม้วน แห้งและร่วง เป็นโรคที่เกิดในเขตร้อน ช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูง น้ำค้างลงจัด ระบาดมากในฤดูฝน และฤดูหนาว
วิธีป้องกันและแก้ไข
- เริ่มป้องกันตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ ควรเป็นชนิดพันธุ์ที่มีความต้านทานโรคราน้ำค้าง
- ใช้วิธีรดน้ำล้างใบพืชในช่วงเช้า พร้อมการให้น้ำ แล้วฉีดพ่นด้วยน้ำส้มควันไม้ ในอัตราส่วน 100 ซีซี ต่อ น้ำเปล่า 12 ลิตร พ่นจากช่วงบนของลำต้นลงมายังใบล่างสุด ทุก 7 ถึง 10 วัน เพื่อเป็นการป้องกัน หรือแก้ไขเมื่อเกิดโรค
โรคราแป้ง
โรคนี้แพร่ระบาดโดยมีลมเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อ ในสภาพที่มีอุณหภูมิสูง ความชื้นสูง และระยะห่างของต้นชิดกันเกินไป อาการระยะแรก จะเป็นจุดเหลืองอ่อนที่ลำต้น ยอดอ่อน แผลมีการขยายใหญ่ขึ้น จะสังเกตเห็นเชื้อราสีขาวคล้ายแป้งปกคลุม หลังจากนั้นใบจะเปลี่ยน เป็นสีเหลืองอมน้ำตาลและแห้งกรอบ
วิธีป้องกันและแก้ไข
เลือกชนิดพันธุ์ที่ต้านทานโรคนี้ได้ดี ในการเพาะปลูก ฉีดพ่นด้วย กำมะถันชนิดผง ละลายน้ำอัตรา 30- 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ขณะที่อากาศไม่ร้อน หรืออุณหภูมิต่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ใบของเมล่อนใหม้
โรคยางไหลหรือต้นแตก อาการของโรค ระยะแรกจะมีแผลกลมสีดำหรือน้ำตาล เริ่มที่ขอบใบและขยายเข้าส่วนกลางใบ ใบเริ่มร่วง หรือใบขาด ถ้าลุกลามไปที่ลำต้น จะมีเมือกเหนียวสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมแดง ซึ่งถ้าอาการมาถึงขั้นนี้แล้ว ไม่มีทางรักษาได้
วิธีป้องกันและแก้ไข
- เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการรับรองว่าปลอดโรคนี้
- ก่อนเพาะกล้า ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาคลุกเมล็ดพันธุ์ หรือใช้คลุกวัสดุเพาะกล้าในอัตราส่วน เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 ส่วน ต่อ ดินเพาะกล้า 4 ส่วน และฉีดพ่นเมื่อยอดเริ่มเลื้อย
- เมื่อพบอาการของโรคเกิดขึ้น ให้รีบรักษาด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มาทันที
- นำถุงปลูก และซากต้นเมล่อนที่เกิดโรคไปกำจัดทิ้ง
โรคปลายผลเน่าแห้งสีดำ
เกิดจากการขาดธาตุแคลเซียม โรคนี้ทำลายและทำความเสียหายให้แก่เมล่อนได้อย่างรุนแรง เริ่มจากปลายผลเหี่ยว เนื้อเยื่อแห้งเป็นสีน้ำตาล และยุบ รากจะดูดซึมน้ำไม่ได้ จากนั้นจะเกิดปัญหาเชื้อราตามมา
วิธีป้องกันและแก้ไข
- ป้องกันได้โดย ดูแลให้สม่ำเสมอ ให้ปุ๋ยตามกำหนด ให้น้ำทุกวัน
- ใส่ปูนขาวลงในดิน หรือฉีดพ่นธาตุแคลเซียม เช่น แคลเซียมคลอไรด์ 0.2 เปอร์เซนต์
โรคเหี่ยวเฉาที่เกิดจากแบคทีเรีย
เมล่อนมีความต้านทานโรคนี้ได้ดีมากจนแทบไม่เกิดโรคนี้ขึ้นกับเมล่อนเลย แต่ ถ้าเกิดการระบายขึ้นก็จะเสียหายมากมาย อาการเหี่ยวเริ่มจากใบ ลามไปทั้งลำต้น ทำให้ตาย หากสงสัยว่าเป็นอาการของโรคนี้ ให้ใช้วิธีตัดลำต้นที่เป็นโรคตามแนวขวาง จะพบน้ำขุ่นข้นสีเหมือนน้ำนม
วิธีป้องกันและแก้ไข
ถอนต้นเมล่อนที่เกิดโรคไปทำลายทิ้ง โรคผลเน่า เกิดจากเชื้อรา เข้าจากขั้วผล เนื้อเยื่อที่ติดกับขั้วจะเน่าอย่างรวดเร็ว ส่วนผลอ่อน เชื้อราจะเข้าบริเวณปลายผล
วิธีป้องกันและแก้ไข
ฉีดพ่นยาป้องกันเชื้อรา
แมลงศัตรูเมล่อน
เต่าแตงแดง เต่าแตงมีอยู่2ชนิด และ 2สี คือ เต่าแตงแดง และเต่าแตงดำ เป็นแมลงปีกแข็ง ชอบแทะใบ และสามารถเป็นพาหะนำโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้ เต่าแตงจะเคลื่อนไหวช้า มีขนาดตัวยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร
วิธีป้องกันและแก้ไข
ใช้ขี้เถ้า ผสมปูนขาว ในอัตราส่วนที่เท่าๆ กัน ผสมน้ำในปริมาณที่เหมาะสม (ใส่ส่วนผสมลงไปแล้วน้ำไม่ใสจนเกินไป) หมักทิ้งไว้ 1 คืน ตักน้ำที่ตกตะกอนใช้ฉีดพ่น
แมลงวันทอง แมลงวันทอง เจาะทำลายผลเมล่อนโดยตรง แล้ววางไข่ ผลจะแก่ก่อนกำหนด และในขั้นรุนแรงคือ ผลเน่าเสีย ส่วนใบและต้น หากถูกแมลงวันทองทำลายจะเกิดการเหี่ยวเฉา
วิธีป้องกันและแก้ไข
ห่อผลด้วยกระดาษ หลังจากผสมเกสรดอกแล้ว หรือใช้สมุนไพรกำจัด ตามสูตรและวิธีใช้ช่วงท้ายของบทความนี้
แมลงหวี่ขาว
แมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำไวรัสมาสู่เมล่อน ทำให้ใบหงิก หรือด่าง
วิธีป้องกันและแก้ไข
- ใช้กับดัก
- ใช้สมุนไพร
- ใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย
(ติดตามสูตรและวิธีใช้ช่วงท้ายของบทความนี้)
เพลี้ยไฟ
นอกจากแมลงหวี่ขาวที่เป็นพาหะนำไวรัสแล้ว ก็มีเพลี้ยไฟที่เป็นพาหะนำไวรัสทำให้ใบหงิกหรือด่างได้เช่นกัน และเพลี้ยไฟยังดูดน้ำเลี้ยง โดยการทำให้ผลเมล่อนเป็นรอยก่อนดูด และแคระแกร็น ถ้าดูดที่ลำต้น ต้นเมล่อนจะอ่อนแอลง หรืออาจแห้งตายได้ เพลี้ยไฟมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและง่ายดาย คือ ไปตามลม
วิธีป้องกันและแก้ไข
- ใช้กับดัก
- ใช้สมุนไพร
(ติดตามสูตรและวิธีใช้ช่วงท้ายของบทความนี้)
ศัตรูที่ต้องระวังในแต่ละช่วง คือ
เริ่มการเพาะกล้า 1 ถึง 13 วัน แสงแดด, เต่าแตง, หนอนชอนใบจากแมลงวัน หลังปลูกกล้า 15 ถึง 30 วัน หนอนชอนใบ, เต่าแตง และที่น่ากลัวที่สุดคือ แมลงหวี่ขาว และเพลี้ยไฟ โรคพืชหลังปลูกระยะ 25 ถึง 60 วัน ต้นแตกยางไหล, หนอนชอนราก และราน้ำค้าง
สูตรสมุนไพรป้องกันและกำจัด โรคและแมลงศัตรูเมล่อน
กระเทียม ใช้ป้องกันและกำจัด เพลี้ยไฟ และราน้ำค้าง
สูตรที่ 1 โขลกกระเทียม 1 กิโลกรัม ให้ละเอียด แช่ในน้ำมันก๊าดหรือน้ำมันเบนซิน 200 ซีซี ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง หลังจากนั้น เติมน้ำสบู่ลงไปพอประมาณ คนให้เข้ากันแล้วกรองเอาแต่น้ำใสๆ เติมน้ำลงไปอีก 20 เท่า หรือประมาณ 5 ปี๊บ (100 ลิตร) จึงนำไปฉีดพ่น
สูตรที่ 2 บดกระเทียม 3 หัวใหญ่ๆ ให้ละเอียด แช่ลงในน้ำมันก๊าดประมาณ 2 วัน จากนั้นกรองเอาเฉพาะน้ำสารละลายมาผสมกับน้ำสบู่ 1 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากัน เติมน้ำลงไปอีก ครึ่งปี๊บ (10 ลิตร) แล้วนำไปฉีดพ่น
สูตรที่ 3 โขลกกระเทียม 1 กำมือ ให้ละเอียด เติมน้ำร้อนครึ่งลิตร แช่ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง กรองเอาเฉพาะน้ำ เติมน้ำ 4 ลิตร เติมน้ำสบู่ครึ่งช้อนโต๊ะ ฉีดพ่นวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 2 วัน ช่วงเช้า
สูตรที่ 4 บดกระเทียมแกะกลีบ 1 กำมือ นำไปตากแดดให้แห้ง แล้วโขลกให้เป็นผง ใช้โรยในถุงปลูกที่มีปัญหา ช่วงเย็น ที่ดินแห้ง
ข่า ใช้ป้องกันและกำจัด แมลงวันทอง
- นำเหง้าแก่สดมาคั้นน้ำ หรือเหง้าแก่แห้ง มาบดเป็นผง ละลายน้ำ
- กรองเอาเฉพาะน้ำไปฉีดพ่น กำจัดแมลง
มะละกอ ใช้ยางมะละกอในการป้องกันและกำจัด โรคราสนิม และ โรคราแป้ง
สูตรผสมน้ำสบู่
- นำใบแก่สด และเปลือกผลมะละกอประมาณ 1 กิโลกรัม มาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปผสมกับน้ำ 1 ลิตร
- จากนั้นให้คั้นเอาน้ำและกรองโดยใช้ผ้าขาวบาง แล้วเติมน้ำอีก 4 ลิตร
- เติมน้ำสบู่ลงไปประมาณ 16 กรัม คนให้ละลายเข้ากัน แล้วนำไปฉีดพ่น
สูตรหัวเชื้อ
- นำใบแก่สด และเปลือกผลแก่ติดยาง 1 กิโลกรัม มาบดละเอียด ใส่ลงในน้ำ 20 ลิตร หมักทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง จะได้หัวเชื้อ
- นำหัวเชื้อ 30 ถึง 50 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดให้ทั่วทุกๆ 3 หรือ 5 วัน
เมล็ดสะเดา
ใช้น้ำหมักเมล็ดสะเดา ป้องกันและกำจัด เพลี้ยไฟ และแมลงหวี่ขาว
- บดเมล็ดสะเดาแห้ง 1 กิโลกรัมให้ละเอียด
- ผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร หมักทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง
- กรองเอาเฉพาะน้ำ แล้วผสมกับแชมพูหรือน้ำยาล้างจาน (เพื่อใช้เป็นสารจับใบ) พ่นช่วงเย็น ทุกๆ 6 หรือ 10 วัน
ดอกดาวเรือง
ใช้ป้องกันและกำจัด เพลี้ยไฟ และแมลงหวี่ขาว
- บดดอกดาวเรือง ½ กิโลกรัม ให้ละเอียด ใส่ลงในน้ำ 3 ลิตร คนให้เข้ากัน ปิดฝาหมักไว้ 1 คืน
- กรองเอาเฉพาะน้ำหมัก แล้วใช้น้ำหมัก 5 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำเปล่า 5 ลิตร ผสมแชมพูหรือสบู่เหลว 1 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากัน นำไปฉีดพ่นต้นเมล่อนเพื่อกำจัดเพลี้ยไฟ และแมลงหวี่ขาว
เชื้อราบิวเวอร์เรีย
ใช้ฉีดป้องกันและกำจัด แมลงหวี่ขาว (หาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตรทั่วไป) ใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย 200 กรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร หรือในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ฉีดพ่นบริเวณที่ระบาด กับดัก กำจัดเพลี้ยไฟ และแมลงหวี่ขาว ทั้งเพลี้ยไฟ และแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำไวรัสมาสู่เมล่อน การปลูกในโรงเรือนอาจมีศัตรูทั้งสองชนิดเล็ดรอดเข้ามาได้ เวลาเปิดและปิดประตู ควรป้องกันไว้ตั้งแต่แรกจะดีที่สุด ใช้ฟิวเจอร์บอร์ด หรือแผ่นพลาสติก หรือถังน้ำ สีเหลือง ทากาวดักแมลงนำไปแขวนไว้ในโรงเรือนแมลงปากดูดจะคิดว่าเป็นผลไม้สุกก็จะบินเข้าไปติดกับดัก
ปัญหาอื่นๆ
ผลเมล่อนแตก
เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ในระยะติดลูก 5 วันขึ้นไป ไม่ควรเร่งให้ปุ๋ยในปริมาณมากเกินไป หรือเปลี่ยนไปใช้วิธีให้อาหารทางใบ
ลูกเมล่อนบิดเบี้ยว
เกิดจากเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ปลอดโรค อาการจะเกิดขึ้นหลังติดลูกแล้ว
ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.rakbankerd.com, www.poonitafarm.com, www.svgroup.co.th, www.vegetweb.com, www.bansuanporpeang.com, www.tipsza.com)