การดูแลกล้วยไม้หลังปลูก
การดูแลกล้วยไม้หลังปลูก เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยการปฏิบัติ ไม่ว่าจะปลูกเพื่อประดับบ้าน ใช้ประโยชน์ในครัวเรือน หรือจำหน่าย การปลูกกล้วยไม้ มีการลงทุนค่อนข้างสูง แต่สามารถสร้างผลกำไรที่คุ้มค่าแก่การลงทุน หากเกษตรกรมีการปฏิบัติตามขั้นตอน การดูแลกล้วยไม้หลังปลูก อย่างสม่ำเสมอ
การดูแลกล้วยไม้หลังปลูก มีดังนี้
การให้น้ำ
การให้น้ำ มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้มาก ช่วยละลายสารอาหารต่างๆ ให้รากของกล้วยไม้สามารถดูดอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ กล้วยไม้ต้องการน้ำที่สะอาด ไม่มีสารพิษเจือปน น้ำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดต่อความต้องการของกล้วยไม้ คือ น้ำสะอาดบริสุทธิ์มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ มีค่าพีเอช pH ประมาณ 6.5 หากต่ำกว่า 5.5 หรือสูงกว่า 7 จึงไม่ควรนำมาใช้รดกล้วยไม้ ( การทดสอบคุณสมบัติความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำแบบง่ายๆ คือ ทดสอบด้วยกระดาษลิสมัส )
การแก้ไขปัญหาความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ
น้ำที่มีค่าพีเอช pH ต่ำกว่า 5.5 คือน้ำมีฤทธิ์เป็นกรดค่อนข้างมาก แก้ไขโดยตักน้ำใส่ภาชนะ เช่น ถัง ตุ่ม หรือโอ่งไว้ แล้วใช้ โซเดียมไฮดร็อกไซด์ ใส่ลงไป แล้วคนให้เข้ากันจนทั่ว ทำการทดสอบระดับพีเอช pH จนกระทั่งน้ำมีค่าอยู่ระหว่าง 6 ถึง 7 น้ำที่มีค่าพีเอช pH สูงกว่า 7 คือน้ำที่มีเกลือแร่ที่เป็นพิษต่อกล้วยไม้ เช่น แคลเซียมไบคาร์บอเนตปนอยู่ในน้ำแสดงว่าน้ำนั้นมีความเป็นด่างมาก ไม่เหมาะที่จะนำไปรดกล้วยไม้ วิธีแก้หรือทำให้น้ำนั้นมีค่าพีเอช pH อยู่ที่ 6 ถึง 7 ก่อน โดยตักน้ำใส่ภาชนะ เช่น ถัง ตุ่ม หรือโอ่งไว้ แล้วใช้กรดไนตริก ใส่ลงไป คนให้เข้ากันจนทั่ว จนกระทั่งน้ำมีค่าพีเอช pH อยู่ระหว่าง 6 ถึง 7
แหล่งหรือชนิดของน้ำ
น้ำฝน เป็นน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ที่สุด ไม่มีเกลือแร่ที่เป็นพิษต่อกล้วยไม้ปนอยู่ และมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ คือมีค่าพีเอช pH ประมาณ 6.5 ซึ่งเหมาะสมต่อความต้องการของกล้วยไม้มากที่สุด ข้อเสียในการใช้น้ำฝน คือการกักเก็บน้ำฝนให้ได้ปริมาณมากเพียงพอกับปริมาณของกล้วยไม้นั้นต้องใช้จำนวนภาชนะและพื้นที่ให้ได้มากพอ น้ำประปา ผ่านกรรมวิธีการตกตะกอน สะอาด และปรับความเป็นกรดเป็นด่างมาแล้ว เป็นน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ได้ดีรองมาจากน้ำฝน ข้อเสียของน้ำประปา คือมีคลอรีนซึ่งเป็นพิษต่อกล้วยไม้ปนอยู่ด้วย
การแก้ไขปัญหาคลอรีนในน้ำประปา
ใส่น้ำประปาในถัง ตุ่ม หรือภาชนะ วางไว้กลางแดดอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้คลอรีนสลายตัว ก่อนนำไปใช้รดกล้วยไม้ได้ น้ำบาดาล เป็นน้ำที่ได้จากการเจาะบ่อบาดาลลึกลงไปจากผิวดินจะมีฤทธิ์เป็นด่าง และมีสารเกลือแร่ต่างๆ เช่น แคลเซียมไบคาร์บอเนต เกลือแร่ที่มีอยู่ในน้ำบาดาลทำให้ฟอสเฟตบางชนิดตกตะกอนภายในรากกล้วยไม้ ทำให้รากกล้วยไม้ผุง่าย ก่อนนำน้ำบาดาลไปใช้รดกล้วยไม้ ควรปรับค่าพีเอช pH ให้อยู่ระหว่าง 6 ถึง 7 เสียก่อน หากแก้ไขไม่ได้ไม่ควรนำไปใช้รดกล้วยไม้ เพราะจะทำให้กล้วยไม้ชะงักการเจริญเติบโตและอาจตายไปในที่สุด
การปรับน้ำบาดาล
ผสมกรดฟอสฟอริก 10 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปีบ ทิ้งไว้ 3 วัน จึงใช้รดต้นไม้ได้ และเป็นการเพิ่มปุ๋ยฟอสเฟตให้กับพืช
น้ำบ่อหรือน้ำคลอง เป็นน้ำที่มีดินหรือตะกอนทำให้น้ำขุ่น มีสารเกลือแร่ต่างๆ ปนอยู่ และมีฤทธิ์เป็นด่าง ถ้าน้ำไม่เน่าเสียมีกลิ่นเหม็น ก่อนนำไปใช้ควรกรองน้ำให้ใส และปรับคุณภาพให้ปราศจากสารเกลือแร่ที่เป็นพิษต่อกล้วยไม้ และทำให้มีค่าพีเอช pH อยู่ระหว่าง 6 ถึง 7 ก่อนนำไปใช้รดกล้วยไม้ ไม่ควรนำน้ำเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น มีเชื้อโรค ไปรดกล้วยไม้เพราะโรคอาจระบาดต่อไปยังกล้วยไม้ได้ ข้อเสียของน้ำบ่อหรือน้ำคลอง คือเมื่อนำมาใช้รดกล้วยไม้ มักเกิดตะไคร่น้ำจับกระถาง เครื่องปลูก และรากกล้วยไม้ได้ง่าย ซึ่งตะไคร่น้ำ ทำให้กล้วยไม้เจริญเติบโตไม่เต็มที่ ดอกและสีสันไม่สวย
วิธีการให้น้ำ
ทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ อายุของกล้วยไม้ และความสะดวกของผู้ปลูกเลี้ยงเอง
วิธีการให้น้ำมีดังนี้
จุ่มน้ำ ตักน้ำใส่ภาชนะแล้วนำกล้วยไม้มาจุ่มลงในน้ำ
ข้อดี คือ น้ำจะซึมไปทั่วทุกส่วนของเครื่องปลูก เหมาะกับกล้วยไม้ที่ไม่มีรากเกะกะ เช่น สกุลหวาย สกุลแคทลียา มีเครื่องปลูกแน่น เช่น กาบมะพร้าวอัด ออสมันด้าอัด หรือเครื่องปลูกหนัก เช่น อิฐ กรวด สำหรับเครื่องปลูกเบา เช่น ถ่าน จะลอยน้ำการรดน้ำวิธีนี้ช่วยล้างเครื่องปลูกให้สะอาดอยู่เสมอ
ข้อเสีย คือ การจุ่มน้ำบ่อยๆ อาจทำให้ รากอ่อน หน่ออ่อน กระแทกกับภาชนะที่ใส่น้ำได้ และถ้ากล้วยไม้มีโรคแมลงอาศัยอยู่ น้ำในภาชนะสามารถเป็นพาหะนำโรคแมลง หากมีกล้วยไม้ปริมาณมาก วิธีนี้จะทำให้เสียเวลา เหมาะกับกล้วยไม้จำนวนน้อยมากกว่า และการปลูกเลี้ยงบนระเบียงบ้าน ริมหน้าต่าง หรือพื้นที่ที่ไม่ควรปล่อยให้น้ำเฉอะแฉะ ขังน้ำ โดยการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้บนโต๊ะปลูกที่ขังน้ำได้ เวลาจะให้น้ำก็ปล่อยน้ำให้ขังเต็มโต๊ะ ทิ้งไว้จนเห็นว่าเครื่องปลูกดูดซับน้ำเพียงพอแล้วจึงไขน้ำออก วิธีนี้เหมาะกับกล้วยไม้จำนวนมาก กล้วยไม้ไม่บอบช้ำ แต่ยังคงต้องระวังปัญหาโรคระบาดได้ยาก บัวรดน้ำ มีข้อดีคือต้นทุนต่ำ ข้อเสียคือไม่เหมาะกับกล้วยไม้ปริมาณมาก และต้องระมัดระวังการกระแทกของฝักบัว ก้านบัว ที่อาจกระทบต้น และดอกกล้วยไม้ ทำให้กล้วยไม้บอบช้ำได้ สายยางติดหัวฉีด การใช้สายยางควรใช้หัวฉีดชนิดฝอยละเอียด การรดน้ำวิธีนี้สะดวก รวดเร็วและทุ่นแรง เหมาะสำหรับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เป็นจำนวนมาก สปริงเกอร์ ติดตั้งหัวฉีดไว้กับที่ แล้วพ่นน้ำเป็นฝอยให้กระจายไปทั่วบริเวณที่ต้องการ วิธีนี้สะดวกสบายและรวดเร็ว แต่ก็มีข้อเสียคือ ต้องลงทุนสูง และใช้ได้กับกล้วยไม้ที่มีความต้องการน้ำเหมือนๆ กัน ไม่เหมาะกับการเลี้ยงกล้วยไม้ปริมาณน้อย และหลากหลายชนิด
เวลาที่เหมาะสมแก่การให้น้ำ
ปกติ รดวันละครั้ง ยกเว้นวันที่ฝนตก หรือกระถางและเครื่องปลูกยังมีความชุ่มชื้นอยู่ รดในเวลาที่แดดไม่ร้อนจัด เวลาที่เหมาะสมคือตอนเช้าเวลาประมาณ 6.00–9.00 น. การรดน้ำในเวลานี้กล้วยไม้ได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะนอกจากจะไม่ร้อน มีช่วงเวลาที่มีแสงแดดยาวนาน กล้วยไม้มีความจำเป็นต้องใช้แสงแดดช่วยในการปรุงอาหารเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ เวลากลางวันเป็นเวลาที่กล้วยไม้ต้องใช้รากดูดความชื้น และนำอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ มากที่สุด
การรดน้ำกล้วยไม้
- รดให้เปียก เพื่อการชะล้างเศษปุ๋ยที่เหลือตกค้าง ซึ่งอาจเป็นพิษแก่กล้วยไม้ให้ไหลหลุดไป
- ไม่ควรรดน้ำแรงๆ และรดผ่านไปมาหลายๆ ครั้งจนเปียกโชก เพื่อให้กระถางและเครื่องปลูกมีโอกาสดูดซึมอุ้มน้ำไว้เต็มที่
- รดให้ถูกเฉพาะรากกระถางและเครื่องปลูกเท่านั้น ไม่ควรรดน้ำให้ถูกเรือนยอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้ที่มีเรือนยอดใหญ่ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้าและสกุลช้าง เพราะน้ำอาจตกค้างอยู่ที่เรือนยอดทำให้เกิดโรคยอดเน่าได้
การให้ปุ๋ย
- ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยที่ได้จากมูลสัตว์ เช่น มูลวัว มูลควาย มูลสุกร มูลไก่ มูลไส้เดือนดิน และซากพืชที่ตายทับถมกันจนเน่าเปื่อยผุพัง เหมาะกับการเพาะปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบกึ่งดินหรือกล้วยไม้ดิน เช่น กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี สกุลเอื้องพร้าว สกุลช้างผสมโขลง สกุลสปาโตกลอสติส เป็นต้น
- ปุ๋ยอนินทรีย์ หรือ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ หรือ ปุ๋ยเคมี ได้จากการสังเคราะห์ มีธาตุอาหารหลักที่สำคัญต่อพืช 3 ชนิด คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรแตสเซียม
ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่ใช้กับกล้วยไม้มี 3 ลักษณะ คือ ลักษณะเป็นน้ำ เป็นเกล็ดละลายน้ำ และเป็นเม็ดละลายช้า (นิยมกันทั่วไป)
- ปุ๋ยน้ำ นำมาผสมกับน้ำตามส่วนที่ระบุบนฉลาก ข้อดีของปุ๋ยน้ำคือละลายง่าย กล้วยไม้สามารถดูดไปใช้ได้เลย ไม่ตกค้างอยู่ในเครื่องปลูก ปุ๋ยที่ตกค้างอยู่ในเครื่องปลูกหากมีปริมาณมากอาจเป็นอันตรายต่อกล้วยไม้ได้
- ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำ ผสมกับน้ำตามสัดส่วนที่ระบุไว้ข้างภาชนะบรรจุปุ๋ย บางชนิดละลายน้ำได้ดี บางชนิดละลายไม่หมด จึงไม่เหมาะสำหรับรดกล้วยไม้มากเท่ากับปุ๋ยน้ำ
- ปุ๋ยเม็ดละลายช้า เป็นปุ๋ยชนิดเม็ดเคลือบ ให้ปุ๋ยค่อยๆ ละลายออกมาอย่างช้าๆ ปุ๋ยชนิดนี้จึงใส่เพียงครั้งเดียว สามารถอยู่ได้นานหลายเดือน ใช้ง่าย ประหยัดแรงงาน แต่มีราคาสูง และเหมาะกับกล้วยไม้ที่มีเครื่องปลูกอย่างกล้วยไม้ที่มีระบบรากดินและรากกึ่งอากาศ เช่น แวนด้า หวาย แคทลียา
วิธีการให้ปุ๋ย
การให้ปุ๋ยกล้วยไม้ ต้องคำนึงถึงความต้องการของพืช และความเหมาะสมต่าง ๆ
- ระยะแรกของการปลูกกล้วยไม้ ควรให้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของลำต้นและใบ
- ระยะให้ดอกหรือต้องการเร่งให้ออกดอก ควรใช้ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุฟอสฟอรัสสูงเพื่อกระตุ้นให้กล้วยไม้ออกดอก
- ฤดูร้อนควรให้ปุ๋ยมากกว่า ฤดูหนาว และฤดูฝน
- ลูกกล้วยไม้ควรให้ปุ๋ยในอัตราที่น้อยกว่ากล้วยไม้ใหญ่
- สายพันธุ์ที่โตเร็วและได้รับแสงแดดมากต้องให้ปุ๋ยมากกว่าสายพันธุ์ที่โตช้าและเลี้ยงในร่ม
- การให้ปุ๋ยควรให้สัปดาห์ละครั้ง
- การรดปุ๋ยกล้วยไม้ควรรดบริเวณส่วนรากเพราะเป็นส่วนที่ดูดธาตุอาหารและน้ำได้ดีกว่าใบ และไม่ทำให้กล้วยไม้บอบช้ำ
วิธีการให้ปุ๋ยกล้วยไม้สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
ใช้บัวรดน้ำชนิดฝอยในการให้ปุ๋ย ไม่เหมาะกับกล้วยไม้ที่แขวนราวเพราะได้รับปุ๋ยไม่ทั่วถึง แต่ทำได้โดยการแขวนกล้วยไม้เป็นแถวตามแนวตั้ง ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่การรดน้ำหรือรดปุ๋ยด้วยฝักบัวและสะดวกแก่การบำรุงรักษาได้ทั่วถึงด้วย วิธีนี้เหมาะกับกล้วยไม้ที่วางไว้บนชั้น แต่ต้องมีปริมาณกล้วยไม้ไม่มาก และระวังไม่ให้ก้านฝักบัว หรือหัวฝักบัว กระแทกราก หรือลำต้นของกล้วยไม้ พ่นด้วยเครื่องฉีดชนิดฝอย เหมาะกับทุกลักษณะของกล้วยไม้ แต่ควรเป็นเครื่องฉีดชนิดสูบหรืออัดลม ข้อดีคือทำให้กล้วยไม้ได้รับปุ๋ยทั่วถึงโดยไม่เป็นอันตราย หรือบอบช้ำจากการกระทบกระเทือน หรือกระแสน้ำแรงเกินไป การจุ่ม ข้อดีของวิธีนี้คือ ไม่เปลืองน้ำปุ๋ยเพราะน้ำปุ๋ยไม่รั่วไหลไปไหน นอกจากติดไปกับกระถางกล้วยไม้ ความชุ่มของน้ำปุ๋ยในกระถางทั่วถึงดี ข้อเสียคือกล้วยไม้บางกระถางอาจมีโรคและแมลงอาศัยอยู่ อาจเกิดการระบาดของโรงและแมลงไปกับน้ำปุ๋ย เมื่อนำกระถางกล้วยไม้อื่นมาจุ่ม และระมัดระวัง หน่อที่แตกใหม่ไม่ให้กระทบกับภาชนะที่ใส่ปุ๋ยทำให้บอบช้ำและเน่าได้ ปล่อยน้ำปุ๋ยเข้าท่วม น้ำปุ๋ยที่ผสมตามสัดส่วน ปล่อยให้เข้าไปท่วมกระถางกล้วยไม้ที่อยู่บนโต๊ะปลูกตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อเสร็จแล้วระบายน้ำปุ๋ยออก วิธีนี้ถ้านำไปใช้กับบริเวณพื้นที่ที่มีต้นไม้มากๆ และเป็นบริเวณที่ควบคุมสภาพของธรรมชาติแวดล้อมได้จะได้ผลดี ใช้เครื่องผสมปุ๋ยกับน้ำ ผสมปุ๋ยกับน้ำตามอัตราส่วนที่ต้องการลงในเครื่องผสมปุ๋ยแบบอัตโนมัติ ต่อเครื่องเข้ากับท่อน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ เมื่อรดน้ำ ปุ๋ยก็จะผสมไปกับน้ำแล้วพ่นออกไปสู่กล้วยไม้ผ่านไปทางหัวฉีด เครื่องผสมปุ๋ยนี้สามารถจะปรับหรือตั้งเพื่อให้ปุ๋ยผสมไปกับน้ำตามอัตราความเข้มที่ต้องการได้ เหมาะสำหรับสวนกล้วยไม้ที่มีจำนวนกล้วยไม้มาก ๆ สำหรับการให้ปุ๋ยชนิดเม็ดละลายช้า ทำโดยโรยเม็ดปุ๋ยบริเวณเครื่องปลูกที่ใกล้กับรากของกล้วยไม้ตามสัดส่วนที่ระบุไว้ข้างภาชนะที่บรรจุปุ๋ย
เวลาที่เหมาะแก่การให้ปุ๋ย
ควรเป็นช่วงเวลาที่มีแสงสว่าง มีความอบอุ่น อุณหภูมิพอเหมาะ และมีความชุ่มชื้นพอดี แสงสว่างหรือแสงแดดที่เป็นประโยชน์แก่กล้วยไม้คือแสงแดดในตอนเช้า ตั้งแต่เช้าจนถึง เวลาประมาณ 11.00 น. แสงแดดจะช่วยให้กล้วยไม้ได้ใช้ปุ๋ยได้เต็มที่ เพราะแสงแดดช่วยผลิตกำลังงานที่จะใช้ดูดปุ๋ยขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการสร้างความเจริญเติบโตของกล้วยไม้ หลังจากนี้แสงแดดจะแรงและมีความร้อนสูงเกินไป ควรรดสม่ำเสมอสัปดาห์ละครั้ง เพื่อกล้วยไม้จะได้รับปุ๋ยหรืออาหารอย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องมีแสงแดด อากาศอบอุ่น ถ้าวันที่ครบกำหนดให้ปุ๋ย อากาศครึ้มฝน หากฝนตกปุ๋ยก็จะถูกชะล้างไปกับฝนโดยที่กล้วยไม้ไม่ได้รับประโยชน์จากปุ๋ย หากไม่มีแสงแดด ไม่ควรรดปุ๋ย กล้วยไม้ก็ไม่สามารถดูดซึมปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ควรงดการให้ปุ๋ยในวันดังกล่าว และเลื่อนการให้ปุ๋ยไปในวันถัดไป หรือเลื่อนไปรดในสัปดาห์ถัดไป
เคล็ดลับพิเศษในการปลูกและดูแลกล้วยไม้
หวาย เหมาะกับเมืองไทยที่สุด มีการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศมากที่สุด
กล้วยไม้สกุลกวายที่ปลูกในกระถาง รดน้ำวันละ 1 ครั้ง ให้ชุ่ม
กล้วยไม้สกุลหวายที่ปลูกในกระเช้า รดน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ให้ปุ๋ยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
แคทลียา, ออนซีเดียม และมอคคาร่า ควรปลูกด้วยกาบมะพร้าว
แวนด้า เป็นกล้วยไม้ระบบรากอากาศ ต้องการน้ำมากเป็นพิเศษ จะให้ได้ผลดี ควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง รวมทั้ง สกุลช้าง และกล้วยไม้ป่าด้วย
ฟาแลนอปซิส รดน้ำ 7 ถึง 10 วัน ต่อ 1 ครั้งๆ ละ 1 แก้ว ต่อต้น
การให้ปุ๋ย ให้ทุก 2 สัปดาห์
ควรใช้สแฟ๊กนั่ม มอส หรือพีท มอส เป็นวัสดุปลูก หรือเครื่องปลูก เพราะสามารถเก็บความชื้นได้นาน
การดูแลกล้วยไม้หลังการปลูกไม่ได้มีเพียงแค่นี้ ติดตามการป้องกันแก้ไขโรคและแมลงศัตรูกล้วยไม้ ในบทความ โรคและแมลงศัตรูกล้วยไม้ เพื่อให้ได้กล้วยไม้สวยไปใช้ประโยชน์
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล: www.rakbankerd.com, www.panmai.com, https://www.youtube.com/watch?v=RxuBLI30P-c)