การปลูกกล้วยไม้

การปลูกกล้วยไม้

การปลูกกล้วยไม้ ในประเทศไทย มีกล้วยไม้ป่าอยู่ในธรรมชาติ ตามต้นไม้ ซอกเขา พื้นดิน ไม่ต่ำกว่า 1,000 ชนิด ด้วยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของประเทศไทยเอื้ออำนวยแก่การเจริญงอกงามของกล้วยไม้เป็นอย่างมาก ในอดีตนั้น เริ่มจากการที่ชาวชนบทนำกล้วยไม้จากป่ามาปลูกเลี้ยงด้วยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ ขยับเข้าสู่สังคมเจ้านายชั้นสูงและบรรดาข้าราชการที่ใกล้ชิด เลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรก กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีอันจะกินในสมัยก่อน เลี้ยงกล้วยไม้เพื่อความสุขทางใจ การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้จึงจำกัดอยู่ในวงแคบ นิยมปลูกเลี้ยงกล้วยไม้พันธุ์ต่างประเทศ ส่วนกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในป่าของประเทศไทยนั้น นิยมและยกย่องเฉพาะพันธุ์ที่หายากและมีราคาแพง การพัฒนาการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ เป็นไปอย่างจริงจัง ตั้งแต่ประมาณปีพ.ศ. 2493 ได้มีการวิจัย ฝึกอบรมการเลี้ยงกล้วยไม้ชมรมกล้วยไม้ เผยแพร่ความรู้ในเรื่องกล้วยไม้และแนวความคิดในการพัฒนาวงการกล้วยไม้ทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุ ผลิตเอกสารสิ่งพิมพ์เผยแพร่ และเปิดการสอนวิชากล้วยไม้ขึ้น ทำให้วงการกล้วยไม้ของประเทศไทย ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ไม่ได้จำกัดอยู่ภายในวงแคบ มีการนำเข้ากล้วยไม้ลูกผสมจากต่างประเทศ รวบรวมพันธุ์ผสมและเพาะพันธุ์จากพ่อแม่พันธุ์ในประเทศ ทั้งที่เป็นพ่อแม่พันธุ์จากป่า และลูกผสมที่นำเข้า วงการกล้วยไม้ของไทยได้ตั้งเป้าหมายยกระดับวงการกล้วยไม้ในประเทศให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ และประสบผลสำเร็จจนประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกกล้วยไม้เขตร้อนอันดับ 1 ของโลก เกษตรกรหลายท่าน ได้ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้มาจากอาชีพอื่น และประสบผลสำเร็จอย่างมาก ตลาดกล้วยไม้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังคงมีความต้องการกล้วยไม้เป็นจำนวนมาก และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

เพราะฉะนั้น…การเริ่มต้นเป็นเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ ยังไม่มีคำว่าสายเกินไป หลังจากได้แนะนำให้ ผู้ปลูกกล้วยไม้มือใหม่ได้รู้จักประเภท ของกล้วยไม้ ในบทความ กล้วยไม้ และรู้จักสายพันธุ์ จากบทความ สายพันธุ์กล้วยไม้ยอดนิยม ไปแล้ว ท่านผู้อ่านคงมีตัวเลือกอยู่ในใจ ว่าจะปลูกสายพันธุ์ไหน เพื่อจุดประสงค์ใด…ไว้ใช้ประโยชน์ในบ้าน ไว้จำหน่ายตัดดอก จำหน่ายต้นพันธุ์ หรือจำหน่ายเป็นไม้กระถาง ศึกษาขั้นตอนก่อนปลูกกล้วยไม้ กันก่อนนะคะ

ขั้นตอนก่อนปลูกกล้วยไม้
เลือกซื้อกล้วยไม้
เลือกซื้อกล้วยไม้โดยสังเกตส่วนต่างๆ ดังนี้

  • ใบ ที่เขียวสดไม่เหลืองช้ำและไม่มีรอยถูกตัดขาด
  • ลำต้น ข้อปล้องอวบ สวยงาม
  • ดอก บานไม่เต็มที่ หรือบานประมาณ 60 เปอร์เซนต์ เพื่อให้ดอกคงความสดได้หลายวัน หากปลูกไว้ในบริเวณบ้าน แนะนำให้ซื้อกล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์มาเลี้ยง เพราะมันจะออกดอกให้ชื่นชมตลอดทั้งปี

ภาชนะปลูก
เป็นส่วนสำคัญต่อการเจริญงอกงามของกล้วยไม้ ภาชนะปลูกต้องเหมาะกับการเจริญของรากกล้วยไม้แต่ละประเภท

ประเภทของภาชนะปลูก มีดังนี้
กระถางดินเผาทรงเตี้ย – เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง

  • ใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 ถึง 6 นิ้ว มีรูระบายน้ำที่ก้นและรอบกระถาง การปลูกไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องปลูกใดๆ หรืออาจใช้ถ่านไม้ มะพร้าวสับ ใส่ลงในกระถางแบบหลวมๆ วางต้นกล้วยไม้กลางกระถางแล้วใช้เชือกหรือลวดเส้นเล็กๆ ผูกติดกับก้นกระถาง

กระถางดินเผาทรงสูง – เหมาะกับกล้วยไม้ที่ต้องการเครื่องปลูกหรือกล้วยไม้รากกึ่งอากาศ เช่น คัทลียา หวาย

  • ใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 ถึง 4 นิ้ว สูง 4 ถึง 5 นิ้ว มีรูระบายน้ำที่ก้นและรอบกระถางน้อยกว่ากระถางทรงเตี้ย อัดเรียงกาบมะพร้าวตามแนวตั้งจนแน่น ยึดรากและโคนกล้วยไม้ตรงกลางกระถางให้แน่น

กระเช้าไม้สัก-เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศ มีต้นใหญ่ รากใหญ่ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง

  • ทำจากไม้สัก หรือไม้ชนิดอื่น ไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องปลูกใดๆ หรืออาจใส่ถ่านไม้ก้อนใหญ่ๆ 2 ถึง 3 ก้อน วางต้นกล้วยไม้กลางกระถางแล้วใช้เชือกหรือลวดเส้นเล็กๆ ผูกติดกับก้นกระเช้า

กระเช้าพลาสติก
เป็นกระเช้าที่ทำจากพลาสติกสีดำ ราคาถูก มีหลายแบบ หลายขนาด แต่ที่นิยมใช้มี 2 ขนาด คือ ขนาดทรงเตี้ยใช้ปลูกกล้วยไม้แวนด้า และ ขนาดทรงสูงใช้ปลูกกล้วยไม้หวาย ลักษณะการปลูกเช่นเดียวกับกระถางดินเผาทรงเตี้ยและกระถางดินเผาทรงสูง

กระถางดินเผามีรูก้นกระถาง – ใช้ปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากกึ่งดิน เช่น กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี สกุลเอื้องพร้าว สกุลคูลู และสกุลสเปโธกล๊อตติส

  • ชนิดเดียวกับที่ใช้ปลูกต้นไม้ทั่วไป มีรูระบายน้ำอยู่ที่ก้นกระถางเพียงรูเดียว ทั้งแบบทรงสูงทั่วไปและแบบทรงเตี้ย

ท่อนไม้ที่มีเปลือก – เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง สกุลแวนด้า

  • ผูกกล้วยไม้ติดกับท่อนไม้ ขนาดตามความเหมาะสมกับขนาดของต้นกล้วยไม้ ปลายหนึ่งของท่อนไม้ยึดติดกับลวดไว้สำหรับแขวนกับราว ต้นไม้ใหญ่-เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศและรากกึ่งอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง สกุลหวาย
  • ยึดติดกับต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สำหรับกล้วยไม้ที่เป็นรากอากาศสามารถใช้ลวดหรือเชือกผูกติดกับต้นไม้ได้เลย แต่สำหรับกล้วยไม้ที่เป็นรากกึ่งอากาศให้หุ้มด้วยกาบมะพร้าว และ ยึดกาบมะพร้าวด้วยตาข่ายหรือซาแลนอีกชั้นหนึ่ง

เครื่องปลูก หรือวัสดุปลูก
เป็นวัสดุที่เก็บอาหาร เก็บความชื้น หรือปุ๋ยของกล้วยไม้ และให้รากกล้วยไม้เกาะ ลำต้นจะตั้งอยู่ได้ วัสดุที่เหมาะสมกับลักษณะการเจริญเติบโตของรากกล้วยไม้จะทำให้กล้วยไม้เจริญเติบโตได้ดี แข็งแรง และเป็นที่นิยมใช้มีดังนี้

  • ออสมันด้า – ได้มาจากรากของเฟิร์น เป็นเส้นยาว สีน้ำตาลจนเกือบดำ ค่อนข้างแข็ง ใช้ปลูกกล้วยไม้แบบรากกึ่งอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลคัทลียา

วิธีใช้ ล้างออสมันด้าให้สะอาด หรือแช่น้ำ และต้มเพื่อฆ่าเชื้อรา รองก้นกระถางด้วยกระเบื้องแตกหรือถ่านประมาณครึ่งหนึ่งของกระถาง เพื่อให้ระบายน้ำได้สะดวก อัดออสมันด้าตามยาวลงไปในกระถาง แต่ไม่ให้เต็มกระถาง ออสมันด้าเป็นเครื่องปลูกที่ดี แต่ราคาค่อนข้างสูง เลี้ยงกล้วยไม้ได้เจริญงอกงามสม่ำเสมอ มีอายุการใช้งาน 2 ถึง 3 ปี
ข้อเสีย คือ มีตะไคร่น้ำขึ้นหน้าเครื่องปลูก และเกิดเชื้อราง่าย

  • กาบมะพร้าว-นิยมใช้ปลูกกล้วยไม้มาก เพราะหาง่าย ราคาถูก ใช้ปลูกกล้วยไม้รากกึ่งอากาศเช่น กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลคัทลียา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กาบมะพร้าว

วิธีใช้ เลือกกาบมะพร้าวแห้งที่แก่จัดและมีเปลือก อัดลงในกระถางตามยาวให้แน่น ตัดหน้าให้เรียบ แล้วใช้แปรงลวดปัดหน้าให้เป็นขน เพื่อให้ดูดซับน้ำดีขึ้น กาบมะพร้าวให้ความชื้นสูง เหมาะสำหรับกล้วยไม้ปลูกใหม่ เพราะจะทำให้ตั้งตัวเร็ว จึงทำให้กล้วยไม้เจริญงอกงามเร็วกว่าวัสดุชนิดอื่นๆ

ข้อเสีย
มีอายุการใช้งานได้ไม่นาน คือมีอายุใช้งานได้เพียงปีเดียว จะผุ
เกิดตะไคร่น้ำได้ง่าย เนื่องจากกาบมะพร้าวอมความชื้นไว้ได้มาก ควรรดน้ำให้น้อยกว่า

เครื่องปลูกชนิดอื่น

  • ถ่าน-ปลูกกล้วยไม้ได้ดี หาง่าย ราคาไม่แพง คงทนถาวร ไม่เน่าเปื่อยผุพังง่าย และดูดซับน้ำได้ดีพอเหมาะไม่ชื้นแฉะเกินไป ยังช่วยดูดกลิ่นที่เน่าเสียและทำให้อากาศบริสุทธิ์อีกด้วย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ถ่าน

แต่มีข้อเสีย คือ มักมีเชื้อรา
กล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากกึ่งอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลแคทลียา ควรใช้ถ่านป่นซึ่งเป็นก้อนเล็กๆ ผสมกับอิฐ หรือใช้อิฐหักรองก้นกระถางประมาณครึ่งกระถาง แล้วใช้ถ่านป่นใส่ทับข้างบนจนเต็มหรือเกือบเต็มกระถาง จากนั้นจึงเอากล้วยไม้ปลูกโดยวางทับไว้บนถ่าน ปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ ถ้าเป็นกล้วยไม้ขนาดเล็กหรือยังเป็นลูกกล้วยไม้อยู่ ใส่ถ่านก้อนเล็กๆ หรือใส่ถ่านป่นพอสมควร แต่ถ้าเป็นกล้วยไม้ที่โตแล้วควรใส่ก้อนใหญ่ประมาณ 5-10 ก้อน เพื่อช่วยอุ้มความชุ่มชื้นไว้ให้กล้วยไม้ บริเวณภายในกระถางมีช่องว่าง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เหมาะแก่ความต้องการหรือการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ที่มีระบบรากอากาศ

  • ทรายหยาบและหินเกล็ด-ปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากกึ่งอากาศโดยเฉพาะพวกสกุลหวาย มักใช้ทรายหยาบและหินเกล็ดที่ล้างสะอาดแล้วเป็นเครื่องปลูก ใส่อิฐหักหรือหรือถ่านป่นไว้ ก้นกระถาง ส่วนด้านบนโรยทรายหยาบ หนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วโรยทับด้วยหินเกล็ดหนาประมาณครึ่งนิ้ว จากนั้น นำหน่อกล้วยไม้ที่แยกจากกอเดิมไปปลูกวางไว้บนหินเกล็ด แล้วมัดติดกับหลักเพื่อยึดไม่ให้ล้มจนกว่ากล้วยไม้ที่ปลูกใหม่นี้มีรากยึดและตั้งตัวได้
  • อิฐหักและกระถางดินเผาแตก-ใช้รองก้นกระถางสำหรับปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากกึ่งอากาศ เพื่อให้ด้านล่างของกระถางหรือภาชนะปลูกโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวกและเป็นการช่วยในการระบายน้ำในกระถางได้ดีขึ้น โดยมีวัสดุอื่น โรยไว้ข้างบน

การปลูกกล้วยไม้ มีดังนี้

  1. การปลูกลูกกล้วยไม้ขนาดเล็ก
  2. การปลูกลูกกล้วยไม้ขนาดใหญ่
  3. การปลูกกล้วยไม้ในกระเช้า
  4. การปลูกกล้วยไม้ต้นใหญ่
  5. การปลูกกล้วยไม้ฟาแลนอปซีส

ติดตามวิธีการปลูกกล้วยไม้กันต่อ ในบทความ วิธีปลูกกล้วยไม้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล: www.thairath.co.th, theerapongphoosee53010211125.blogspot.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *